ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542”
มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“เกษตรกรรม” หมายความว่า การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การจับสัตว์น้ำ การใช้และบำรุงรักษาทรัพยากรจากที่ดิน น้ำ และป่าไม้อย่างยั่งยืน และให้หมายความรวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม การแปรรูป การจำหน่าย ซึ่งเป็น

กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์การจับสัตว์น้ำ การใช้และบำรุงรักษาทรัพยากรจากที่ดิน น้ำ และ

ป่าไม้อย่างยั่งยืน และการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
“เกษตรกร” หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
“องค์กรเกษตรกร” หมายความว่า กลุ่มหรือคณะของเกษตรกรที่มารวมกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบเกษตรกรรมร่วมกัน โดยจะเป็นหรือไม่เป็นนิติบุคคลก็ได้ และได้ขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานหรือสำนักงานสาขา
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
“คณะกรรมการบริหาร” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด 1

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
––––––––––

มาตรา 5 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร”
ให้กองทุนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกร
(3) พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรเกษตรกร
(4) พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเกษตรกร
มาตรา 6 กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
(2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
(3) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค
(4) เงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินของกองทุน
(5) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน
(6) ดอกผลหรือรายได้จากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
ในกรณีกองทุนมีจำนวนเงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงาน และค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม รัฐพึงจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเข้าสมทบกองทุนเท่าจำนวนที่จำเป็น
มาตรา 7 กิจการของกองทุนไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
มาตรา 8 กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 5 อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(1) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(2) ก่อตั้งสิทธิ หรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(3) ให้องค์กรเกษตรกรกู้ยืมเงินเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(4) กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(5) ลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน
(6) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่อง ในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
มาตรา 9 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน และค่าใช้จ่ายตามภาระผูกพันของกองทุนให้จ่ายจากเงินกองทุน ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา 10 กองทุนไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
รายรับของกองทุนให้นำเข้าสมทบกองทุนโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
มาตรา 11 ภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี ให้คณะกรรมการเสนองบดุลแสดงฐานะการเงิน โดยมีคำรับรองการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
งบดุลและรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีนำเสนอรัฐสภาเพื่อทราบและจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด 2
คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
–––––––

มาตรา 12 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทยปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม

แห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสิบเอ็ดคน และผู้แทนเกษตรกรจำนวนยี่สิบคนเป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการเงินหรือการธนาคาร การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

อุตสาหกรรมชุมชน เทคโนโยลีการเกษตรการพัฒนาแหล่งน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการจำนวนห้าคน และผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนจำนวนหกคน
มาตรา 13 การแต่งตั้งผู้แทนเกษตรกรตามมาตรา 12 ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งเกษตรกรซึ่งได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกองค์กรเกษตรกรในสี่ภูมิภาค อย่างน้อยภูมิภาคละสองคน ส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามสัดส่วนของสมาชิกเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค
การแบ่งภูมิภาคและการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 14 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนและผู้แทนเกษตรกรต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
(2) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานองค์กรของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(3) ไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐไล่ออกปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่

มาตรา 15 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(2) พิจารณาเสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(3) กำหนดนโยบายและออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศ ในการบริหารกิจการของกองทุน
(4) ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน
(5) ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนทะเบียนองค์กรเกษตรกร
(6) ออกระเบียบเกี่ยวกับการพิจารณาแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาขององค์กรเกษตรกร การติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนและโครงการ
(7) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินของกองทุนตามแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และการใช้คืนเงินให้แก่กองทุน
(8) พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของ

สำนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(9) กำกับ ให้คำปรึกษา และแนะนำแก่คณะกรรมการบริหารและสำนักงานในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(10) ให้ความเห็นชอบในการกำหนดภาระผูกพันของกองทุน
(11) กำหนดมาตรการ ส่งเสริม สนับสนุน องค์กรเกษตรกร
(12) แต่งตั้ง ถอดถอน คณะกรรมการบริหารและคณะอนุกรรมการ
(13) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารหรือเลขาธิการเป็นผู้ปฏิบัติหรือเตรียมข้อเสนอมายังคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปได้
มาตรา 16 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
มาตรา 17 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 16 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) คณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(7) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14

มาตรา 18 ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนเกษตรกรพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งเกษตรกรในภูมิภาคนั้นเป็นกรรมการแทน โดยให้ดำเนินการตามมาตรา 13 โดยอนุโลม
มาตรา 19 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ

ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน

ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นส่วนตัวในเรื่องใด ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาและออกเสียงในเรื่องนั้น

หมวด 3
คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
–––––––––

มาตรา 20 ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งมีจำนวนรวมกันเจ็ดคน โดยให้แต่งตั้งจากบุคคลในคณะกรรมการจำนวนสามคนซึ่งในจำนวนนี้จะต้องเป็นผู้แทนเกษตรกรจำนวนสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิซี่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญมีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องทางสาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาการบริหารการเงินหรือการธนาคาร และสาขาเกษตรศาสตร์ สาขาละ
หนึ่งคนเป็นกรรมการ และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะกรรมการบริหารเลือกกรรมการด้วยกันเป็นประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ
ให้นำมาตรา 16 และมาตรา 17 มาใช้บังคับในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และให้นำมาตรา 18 และมาตรา 19 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการบริหารโดยอนุโลม
มาตรา 21 คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ควบคุมการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ
(2) เสนอและรายงานต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุน
(3) อนุมัติแผนฟื้นฟูและพัฒนาขององค์กรเกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุน
(4) อนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกินกว่าห้าแสนบาท
(5) ออกข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานของเลขาธิการและการมอบอำนาจให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนเลขาธิการ
(6) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ตลอดจนการกำหนดเงินเดือนหรือเงินอื่น รวมถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้าง
(7) ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่เลขาธิการในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(8) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(9) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ระเบียบหรือข้อบังคับตาม (5) และ (6) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา 22 กรรมการและกรรมการบริหารอาจได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และ

ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยให้จ่ายจากเงินกองทุนตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

หมวด 4
สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
––––––––––

มาตรา 23 ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครและอาจตั้งสาขา ณ ที่อื่นใดตามความจำเป็นก็ได้
มาตรา 24 สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหาร ศึกษา
และรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหาร
(2) ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ทราบถึงนโยบาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ในการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(3) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการบริหาร ในการพิจารณาแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(4) ให้การสนับสนุน ปรึกษาหารือ และแนะนำแก่องค์กรเกษตรกรเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนหรือ

โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรตามความจำเป็น หรือตามที่องค์กรเกษตรกรร้องขอ
(5) ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน และรายงานผลต่อคณะกรรมการบริหาร

(6) จัดทำงบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานเสนอต่อคณะกรรมการ
(7) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย
มาตรา 25 ให้เลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานและรับผิดชอบการบริหาร

กิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการและคณะกรรมการบริหารกำหนด
ให้เลขาธิการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 26 ให้คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์
(3) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์ที่จะปฏิบัติงานให้แก่กองทุนได้
(4) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14
(5) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(6) ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(7) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากองทุนหรือในกิจการที่กระทำให้แก่กองทุนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
มาตรา 27 การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการกำหนดเงื่อนไขในการทดลองปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานในหน้าที่เลขาธิการ และการประเมินผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามสัญญาจ้างที่คณะกรรมการบริหารกำหนด โดยให้มีกำหนดระยะเวลาการจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างตามวรรคหนึ่งแล้ว คณะกรรมการบริหารโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาจมีมติให้ทำสัญญาจ้างเลขาธิการให้ปฏิบัติงานต่อไปอีกก็ได้
ให้เลขาธิการได้รับเงินค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินอื่น ตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 28 นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามกำหนดระยะเวลาการจ้าง เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 26
(4) คณะกรรมการมีมติให้เลิกจ้าง
มาตรา 29 ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
นิติกรรมที่กระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด ย่อมไม่ผูกพันกองทุน เว้นแต่คณะกรรมการ

จะให้สัตยาบัน

หมวด 5
การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
––––––––

มาตรา 30 เกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือคณะ เพื่อประกอบเกษตรกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม ถ้าประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรเกษตรกรตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานหรือสำนักงานสาขาตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
เกษตรกรจะเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรในขณะเดียวกันได้เพียงแห่งเดียว
การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรและการพิจารณารับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 31 องค์กรเกษตรกรมีสิทธิขอรับการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรโดยให้ทำแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรยื่นต่อสำนักงานหรือสำนักงานสาขาที่เป็นที่ตั้งขององค์กรเกษตรกร
ในกรณีท้องที่ที่ตั้งองค์กรเกษตรกรไม่มีสำนักงานหรือสำนักงานสาขาตั้งอยู่ ให้ยื่นต่อสำนักงานหรือสำนักงานสาขาที่ใกล้เคียง

มาตรา 32 แผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อย่างน้อยต้องระบข้อความดังต่อไปนี้
(1) หมายเลขทะเบียนขององค์กรเกษตรกร
(2) รายชื่อของเกษตรกรทั้งหมดขององค์กรเกษตรกร
(3) เหตุผลที่เสนอแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(4) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ขององค์กรเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคลและเกษตรกรแต่ละคนที่เป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรกรในขณะที่ยื่นแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(5) รายละเอียดพอสังเขปของโครงการแต่ละโครงการ
(6) หลักการ วิธีดำเนินการ และขั้นตอนของการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(7) ระยะเวลาในการดำเนินงานตามแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(8) รายชื่อของผู้ให้การสนับสนุนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพร้อมรายละเอียดในการให้การสนับสนุน ถ้ามี
มาตรา 33 ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติแผนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในกรณีที่แผนนั้นมีโครงการที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการบริหารด้วยให้พิจารณาโครงการนั้นไปพร้อมกัน และให้แจ้งผลการพิจารณาให้องค์กรเกษตรกรทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแผน
ในกรณีที่ไม่อนุมัติตามแผนให้แจ้งเหตุผลโดยย่อ และให้องค์กรเกษตรกรมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย
ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา 34 ให้เลขาธิการมีอำนาจพิจารณาอนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีวงเงินเกินกว่า

ห้าแสนบาท
ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจพิจารณาอนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีวงเงินเกินกว่าห้าแสนบาท
การพิจารณาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองให้ดำเนินการตามมาตรา 33 โดยอนุโลมคำวินิจฉัยของเลขาธิการตามวรรคหนึ่งให้องค์กรเกษตรกรมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการบริหารได้ภายในสามสิบวันนับแต่ที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารให้เป็นที่สุด
มาตรา 35 คณะกรรมการบริหาร และเลขาธิการ อาจเห็นชอบแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

โดยกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้ปฏิบัติด้วยก็ได้
มาตรา 36 ให้องค์กรเกษตรกรรายงานผลการดำเนินการตามแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรต่อสำนักงานตามเงื่อนไขและระยะเวลาตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
ให้สำนักงานตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการตามแผนหรือโครงการฟื้นฟและพัฒนาเกษตรกร ถ้าผลการพิจารณาปรากฏว่าการดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติให้แจ้งองค์กรเกษตรกรทำการแก้ไขปรับปรุงภายในระยะเวลาที่กำหนด และในกรณีที่เห็นสมควรอาจมีคำสั่งให้พักการจ่ายเงินตามแผนหรือโครงการในระหว่างนั้นก็ได้ และให้รายงานคณะกรรมการบริหารตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
ในกรณีที่ปรากฏแน่ชัดว่าองค์กรเกษตรกรไม่อาจดำเนินการให้เป็นไปตามแผนหรือโครงการนั้นต่อไปได้ ให้เลขาธิการเสนอคณะกรรมการบริหารพิจารณาสั่งยกเลิกแผนหรือโครงการนั้น
ให้องค์กรเกษตรกรมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการบริหารตามวรรคสามต่อคณะกรรมการได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
มาตรา 37 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ กรรมการบริหาร เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

บทเฉพาะกาล
–––––––

มาตรา 38 ให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการ คณะกรรมการบริหาร และเลขาธิการตามพระราชบัญญัตินี้

ภายในกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 39 ภายใต้บังคับมาตรา 38 ในระหว่างที่ยังไม่มีการดำเนินการแต่งตั้งกรรมการ ผู้แทนเกษตรกรตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นเกษตรกรจำนวนยี่สิบคนให้เป็นกรรมการผู้แทนเกษตรกรไปพลางก่อน
ให้อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ

และให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง ผู้ซึ่งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 จำนวนห้าคนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตนี้ไปพลางก่อน
ให้กรรมการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน
มาตรา 40 ในวาระเริ่มแรกให้เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นเลขาธิการเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

–––––––––––––––––
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การพัฒนาการเกษตรที่ผ่านมาเป็นการกำหนดนโยบายโดยทางราชการ ซึ่งมิได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่และการประกอบเกษตรกรรมของตนเอง จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นจะต้องจัดตั้งองค์กรที่รับผิดชอบในการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและเป็นอิสระ โดยการประสานความร่วมมือระหว่างข้าราชการในระดับกำหนดนโยบาย

ผู้ปฏิบัติการ นักวิชาการ และเกษตรกรเป็นผู้กำหนดนโยบายในการบริหารกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรและเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ขาดปัจจัยในการประกอบอาชีพรวมตัวกันเป็นองค์กรเกษตรกร เพื่อทำแผนและโครงการในการขอรับการสนับสนุนจากกองทุน ซึ่งจะมีการจัดระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินการเพื่อให้การฟื้นฟูและพัฒนาสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรสัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมายของการจัดให้มีกองทุน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

(1) รก.2542/39ก/13/18 พฤษภาคม 2542