ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2497

เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร

ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497

มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พุทธศักราช 2480

(2) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2490

(3) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2492 และ

(4) บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

อากาศยาน หมายความรวมตลอดถึงเครื่องทั้งสิ้นซึ่งทรงตัวในบรรยากาศ โดยปฏิกริยาแห่งอากาศ เว้นแต่วัตถุซึ่งระบุยกเว้นไว้ในกฎกระทรวง

อากาศยานขนส่ง หมายความว่า อากาศยานซึ่งใช้หรือมุ่งหมายสำหรับใช้ขนส่งของหรือคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้า

อากาศยานส่วนบุคคล(2) หมายความว่า อากาศยานซึ่งใช้หรือมุ่งหมายสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการอันมิใช่เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้า

อากาศยานต่างประเทศ หมายความว่า อากาศยานซึ่งจดทะเบียนและมีสัญชาติตามกฎหมายต่างประเทศ

ร่มอากาศ หมายความว่า ร่มที่ใช้สำหรับหน่วงการหล่นของคนสิ่งของหรือสัตว์จากที่สูงโดยความต้านทานของอากาศ

สนามบิน หมายความว่า พื้นที่ที่กำหนดไว้บนพื้นดินหรือน้ำสำหรับใช้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพื่อการขึ้นลงหรือเคลื่อนไหวของอากาศยานรวมตลอดถึงอาคาร สิ่งติดตั้งและบริภัณฑ์ซึ่งอยู่ภายในสนามบินนั้น

สนามบินอนุญาต หมายความว่า สนามบินที่บุคคลได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ และสนามบินที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน(1) หมายความว่า พื้นที่ที่จัดไว้บนพื้นดินหรือน้ำสำหรับใช้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพื่อการขึ้นลงหรือเคลื่อนไหวของอากาศยานเป็นการชั่วคราวรวมตลอดถึงพื้นที่ดินที่บุคคลซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินนั้นได้หักร้างตัดฟันต้นไม้ หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นที่เรียบซึ่งอากาศยานอาจขึ้นลงได้และเป็นพื้นที่กว้างตั้งแต่สามสิบเมตรขึ้นไป และยาวตั้งแต่สามร้อยเมตรขึ้นไปด้วย

ลานจอดอากาศยาน(2)หมายความว่า บริเวณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นที่จอดอากาศยานของสนามบินอนุญาต และหมายความรวมถึงสถานที่อื่นนอกบริเวณดังกล่าวในสนามบินอนุญาตที่อากาศยานได้รับอนุญาตให้จอดชั่วคราวเพื่อรับหรือรอรับบริการในกรณีจำเป็นหรือฉุกเฉิน

บริการในลานจอดอากาศยาน(3)หมายความว่า บริการใดๆ ที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับอากาศยานหรือธุรกิจการเดินอากาศในลานจอดอากาศยานนอกจากบริการช่างอากาศ

บริการช่างอากาศ(4)) หมายความว่า บริการที่เกี่ยวกับเทคนิคในด้านความปลอดภัยของอากาศยานหรือการซ่อมบำรุงอากาศยานในลานจอดอากาศยาน ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ หมายความว่าเครื่องให้บริการที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินอากาศของอากาศยาน รวมตลอดถึงอาคารสิ่งติดตั้งและบริภัณฑ์ของบริการนั้น

อนุสัญญา หมายความว่า อนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศซึ่งทำขึ้นที่เมืองชิคาโก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2487 รวมตลอดถึงภาคผนวกและบทแก้ไขเพิ่มเติมภาคผนวกหรืออนุสัญญานั้น

ผู้ประจำหน้าที่ หมายความว่า นักบิน ต้นหน นายช่าง พนักงานวิทยุ พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ พนักงานอำนวยการบิน และผู้ทำหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ดำเนินการเดินอากาศ หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจในการเดินอากาศ

รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้แก่การเดินอากาศในราชการทหารราชการตำรวจ และราชการส่วนอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 6(5)) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงาน

เจ้าหน้าที่ กับมีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม

1. ใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยาน

1 ทวิ(6) ใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคล

2. ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ

(1) สำหรับอากาศยานต้นแบบที่สร้างในราชอาณาจักร

(2) สำหรับอากาศยานที่สร้างในราชอาณาจักรตามต้นแบบ

(3) สำหรับอากาศยานที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร

3. ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่หรือการรับรองใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ซึ่งออกโดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือรัฐที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย

4. ใบอนุญาตจัดตั้งสนามบิน

5. ใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ

6. ใบอนุญาตจัดตั้งที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน

7. ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการให้บริการในลานจอดอากาศยาน

8. ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการให้บริการช่างอากาศ

9. ใบแทนใบสำคัญหรือใบอนุญาต

(ข) กำหนดอัตราขั้นสูงสำหรับค่าธรรมเนียม ตามมาตรา 56

(ค) ยกเว้นค่าธรรมเนียม ตาม (ก) หรือ (ข)

(ง) กำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด 1

คณะกรรมการการบินพลเรือน

มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการการบินพลเรือนขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง รองประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินเจ็ดคนแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี

มาตรา 8 รองประธานกรรมการและกรรมการอยู่ในตำแหน่งสี่ปีรองประธานกรรมการหรือกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ จะแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการหรือกรรมการอีกก็ได้

มาตรา 9 รองประธานกรรมการและกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระ เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) คณะรัฐมนตรีให้ออก

ถ้ามีการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระ ให้มีการแต่งตั้งรองประธานกรรมการหรือกรรมการเข้าแทนแล้วแต่กรณี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา 10 เมื่อประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่แทน

มาตรา 11 ในการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา 12 การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 13 ให้คณะกรรมการการบินพลเรือนมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อกระทำกิจการ หรือพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงใด ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการบินพลเรือน

ในการประชุมอนุกรรมการ ให้นำมาตรา 11 และมาตรา 12 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 14 ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 15 ให้คณะกรรมการการบินพลเรือนมีอำนาจและหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และในเรื่องต่อไปนี้

(1) รับปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบินพลเรือนแก่รัฐมนตรี

(2) ออกข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้และภาคผนวกแห่งอนุสัญญา

ข้อบังคับนี้เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

(3) พิจารณาอนุมัติพิกัดอัตราค่าโดยสาร ค่าระวางของอากาศยานขนส่ง และค่าบริการอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

หมวด 2

บททั่วไปว่าด้วยอากาศยาน

มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดนำอากาศยานทำการบิน เว้นแต่มีสิ่งเหล่านี้อยู่กับอากาศยานนั้น คือ

(1) ใบสำคัญการจดทะเบียน

(2) เครื่องหมายสัญชาติและทะเบียน

(3) ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ

(4) สมุดปูมเดินทาง

(5) ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่แต่ละคน

(6) ใบอนุญาตเครื่องวิทยุสื่อสาร ถ้ามีเครื่องวิทยุสื่อสารความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่

(1) อากาศยานที่ทำการบินทดลองภายใต้เงื่อนไขซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

(2) อากาศยานทหารต่างประเทศ

มาตรา 17 ห้ามมิให้อากาศยานใช้ที่หนึ่งที่ใดเป็นที่ขึ้นลงนอกจากสนามบินอนุญาต หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานที่ได้รับอนุญาตหรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 18 อากาศยานต้องบินตามเส้นทางบินที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 19 อากาศยานต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

มาตรา 20 อากาศยานขนส่งต้องเก็บค่าโดยสารและค่าระวางตามพิกัดอัตราที่คณะกรรมการการบินพลเรือนอนุมัติ

มาตรา 21(1) ผู้จดทะเบียนอากาศยาน ผู้ดำเนินการเดินอากาศผู้ประจำหน้าที่ และบุคคลอื่นในอากาศยานต้องปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

มาตรา 22 ห้ามมิให้อากาศยานบินเข้าหรือบินผ่านเขตห้ามหรือเขตกำกัดการบินซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 23 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องถ่ายภาพในอากาศยานหรือจากอากาศยานไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 24 ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือทิ้งร่มอากาศ นอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือพายุทธภัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ไปกับอากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือพาวัตถุอันตรายหรือสัตว์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานหรือบุคคลในอากาศยานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไปกับอากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

มาตรา 27 ห้ามมิให้อากาศยานนอกจากอากาศยานต่างประเทศบินออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 28 ห้ามมิให้อากาศยานต่างประเทศบินผ่านหรือขึ้นลงในราชอาณาจักร เว้นแต่จะมีสิทธิตามอนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี

มาตรา 29 ห้ามมิให้อากาศยานทหารต่างประเทศบินผ่านหรือขึ้นลงในราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี

มาตรา 29 ทวิ(1) ห้ามมิให้ผู้ใดใช้อากาศยานส่วนบุคคลในการเดินอากาศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลจากรัฐมนตรี

ผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แนบท้ายใบอนุญาต

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต คุณสมบัติและลักษณะของผู้ขออนุญาต อายุใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคล การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคล แบบใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคล และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 29 ตรี(2) ความในมาตรา 29 ทวิ วรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่อากาศยานขนส่งที่ใช้ในการขนส่งของหรือคนโดยสารอันมิใช่เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าเป็นครั้งคราว และได้แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบแล้ว

มาตรา 29 จัตวา(3) ใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลที่รัฐมนตรีออกให้สำหรับอากาศยานส่วนบุคคลลำใด ให้ใช้ได้เฉพาะอากาศยานส่วนบุคคลลำนั้น

มาตรา 29 เบญจ (4) ห้ามมิให้ผู้ใดนำอากาศยานส่วนบุคคลทำการบินเว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามมาตรา 16 และมี ใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลติดไปกับอากาศยานด้วย

หมวด 3
การจดทะเบียนและเครื่องหมายอากาศยาน

มาตรา 30(1) ภายใต้บังคับมาตรา 31 ผู้ซึ่งขอจดทะเบียนอากาศยานตามความในพระราชบัญญัตินี้ได้ ต้องเป็นเจ้าของอากาศยานที่ขอจดทะเบียนหรือถ้ามิได้เป็นเจ้าของต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองอากาศยานที่ขอจดทะเบียนและได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้จดทะเบียนได้

การขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนอากาศยาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 31(2) ผู้ซึ่งขอจดทะเบียนอากาศยานจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม ต้องมีสัญชาติไทย

ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยมีสำนักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตั้งอยู่ในราชอาณาจักร และ

(1) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย

(2) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดซึ่งต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยไม่จำกัดจำนวนต้องมีสัญชาติไทย และทุนของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ต้องเป็นของบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย

(3) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด บริษัทนั้นต้องไม่มีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือกรรมการส่วนมากต้องมีสัญชาติไทย และหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของหุ้นทั้งหมดต้องเป็นของบุคคลประเภทต่อไปนี้แต่ละประเภทโดยลำพัง หรือหลายประเภทรวมกัน

(ก) บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย

(ข) กระทรวง ทบวง กรมในรัฐบาล

(ค) บริษัทจำกัดซึ่งกระทรวง ทบวง กรมในรัฐบาล ถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของหุ้นทั้งหมด

ถ้าเป็นสมาคม ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีสำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ในราชอาณาจักร และข้อบังคับของสมาคมนั้น ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือนแล้ว

มาตรา 32(3) ใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยานเป็นอันใช้ไม่ได้ เมื่อ

(1) มีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ของอากาศยานนั้น ในกรณีที่เจ้าของเป็นผู้จดทะเบียน หรือมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิครอบครองอากาศยานนั้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองเป็นผู้จดทะเบียน

(2) ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นขาดคุณสมบัติตามมาตรา 31

(3) ปรากฏว่าการเป็นเจ้าของ หรือการเป็นผู้มีสิทธิครอบครองของผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นไม่เป็นไปตามที่แสดงไว้ในการจดทะเบียนว่ามีสิทธิเช่นนั้นในรายการขอจดทะเบียน

(4) อากาศยานนั้นได้รับความเสียหายมากจนไม่เหมาะสมที่จะใช้การต่อไปได้

(5) ใบสำคัญสมควรเดินอากาศของอากาศยานนั้นสิ้นอายุเกินกว่าหกเดือนแล้ว

(6) อากาศยานนั้นได้สูญหายไปเป็นเวลาเกินกว่าสามเดือนแล้ว

ในกรณี (1) ถึง (5) ให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า

มาตรา 33 เครื่องหมายอากาศยานให้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

หมวด 4

ความสมควรเดินอากาศและสมุดปูมเดินทาง

มาตรา 34 การขอและการออกใบสำคัญสมควรเดินอากาศเกี่ยวกับอากาศยานต้นแบบหรืออากาศยานที่สร้างตามต้นแบบ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 35(1) เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าอากาศยานใดสมควรจะได้ทำการตรวจหรือแก้ไข ให้มีอำนาจสั่งให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นจัดการให้มีการตรวจหรือแก้ไขตามรายการและภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 36 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าอากาศยานใดไม่ปลอดภัยให้มีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบสำคัญสมควรเดินอากาศของอากาศยานนั้นได้

ในระหว่างที่มีการพักใช้ใบสำคัญสมควรเดินอากาศตามวรรคก่อน ห้ามมิให้อากาศยานนั้นทำการบิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

มาตรา 37 เมื่อคณะกรรมการการบินพลเรือนเห็นว่าแบบของอากาศยานใดไม่ปลอดภัย ให้มีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบสำคัญสมควรเดินอากาศของอากาศยานแบบนั้นทั้งหมดได้

ในระหว่างที่มีการพักใช้ใบสำคัญสมควรเดินอากาศตามวรรคก่อนห้ามมิให้อากาศยานแบบนั้นทำการบิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการการบินพลเรือนและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการการบินพลเรือนกำหนด

มาตรา 38 อากาศยานซึ่งมีใบสำคัญสมควรเดินอากาศแล้วให้มีการถอดซ่อมใหญ่ตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

มาตรา 39 ใบสำคัญสมควรเดินอากาศให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสำคัญสมควรเดินอากาศนั้น แต่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ออก

มาตรา 40 ใบสำคัญสมควรเดินอากาศของอากาศยานเป็นอันใช้ไม่ได้ในกรณีต่อไปนี้

(1) เมื่อได้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอากาศยานนั้น ซึ่งอาจกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยของอากาศยานนั้นโดยมิได้รับความเห็นชอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่

(2) เมื่ออากาศยานนั้นได้รับความเสียหายหรือเกิดชำรุดขึ้น ซึ่งตามทางปฏิบัติในการช่างอากาศโดยปกติแล้ว

ผู้ประจำหน้าที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้

(3) เมื่อมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 35

(4) เมื่อมีการฝ่าฝืนมาตรา 38

มาตรา 41 สมุดปูมเดินทางให้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

หมวด 5

ผู้ประจำหน้าที่

มาตรา 42 ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นผู้ประจำหน้าที่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือมีใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ซึ่งออกให้โดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญา หรือรัฐที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทยแต่สำหรับ ผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยานที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้มีใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ซึ่งออกให้โดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือรัฐที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย ถ้าได้นำใบอนุญาตนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับรองแล้ว ให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 43 การขอ การออก และการรับรองใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 44 ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประจำหน้าที่ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย

(2) มีความประพฤติเรียบร้อย

(3) มีอายุ สุขภาพร่างกายสมบูรณ์ ความรู้และความชำนาญตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

เมื่อมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษเฉพาะราย ให้รัฐมนตรีมีอำนาจยกเว้นคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้ได้

มาตรา 45 ผู้ประจำหน้าที่มีสิทธิทำการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

มาตรา 46 ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 47 เมื่อเห็นว่าผู้ประจำหน้าที่คนใดหย่อนคุณสมบัติตามมาตรา 44 (3) เกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย ความรู้หรือความชำนาญพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ประจำหน้าที่นั้นรับการทดสอบโดยการตรวจทางแพทย์ หรือรับการทดสอบความรู้ความชำนาญทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติก็ได้

มาตรา 48 เมื่อปรากฏว่าผู้ประจำหน้าที่คนใดขาดคุณสมบัติตามมาตรา 44 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 47 หรือฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามกฎหมายอื่นเว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นั้น

มาตรา 49 ผู้ประจำหน้าที่ต้องปฏิบัติตามวินัยที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

มาตรา 50 ห้ามมิให้ผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยานปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่มีอาการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บซึ่งอาจกระทำให้เสื่อมสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และถ้าการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บนั้นเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป ห้ามมิให้ผู้ประจำหน้าที่นั้นปฏิบัติหน้าที่จนกว่านายแพทย์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้จะได้ตรวจและออกใบรับรองว่า ผู้ประจำหน้าที่นั้นได้หายจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้ผู้ประจำหน้าที่นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

มาตรา 50 ทวิ(1) เว้นแต่จะมีกรณีฉุกเฉินอันอาจเป็นภยันตรายแก่อากาศยานห้ามมิให้ผู้ควบคุมอากาศยานนำอากาศยานขึ้นลง ณ ที่หนึ่งที่ใดนอกจากสนามบินอนุญาต หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานที่ได้รับอนุญาตหรือที่

รัฐมนตรีประกาศกำหนด ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ระบุไว้สำหรับการบินเที่ยวนั้น

หมวด 6

สนามบินและเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ

มาตรา 51 ห้ามมิให้บุคคลใดจัดตั้งสนามบินหรือเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติรัฐมนตรี

มาตรา 52 การขอและการออกใบอนุญาตจัดตั้งสนามบินหรือเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 53 ห้ามมิให้บุคคลใดจัดตั้งที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตตามมาตรานี้ต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

มาตรา 53 ทวิ(1) เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงหนึ่งหรือหลายแปลงรวมกันมีพื้นที่กว้างตั้งแต่สามสิบเมตรขึ้นไป และยาวตั้งแต่สามร้อยเมตรขึ้นไปซึ่งอากาศยานอาจขึ้นลงได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งมีสิทธิในที่ดินนั้นจัดทำสิ่งกีดขวางตามที่กำหนดให้เพื่อมิให้ใช้ที่ดินนั้นเป็นที่ขึ้นลงของอากาศยาน ในกรณีเช่นว่านี้ให้บุคคลดังกล่าวจัดทำให้ แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด ในกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินไม่สามารถจัดทำหรือไม่ยอมจัดทำสิ่งกีดขวางดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจัดทำสิ่งกัดขวางนั้นได้

ห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำลาย ถอน หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งสิ่งกีดขวางดังกล่าวในวรรคแรก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 54 เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสนามบิน เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง หรือตามวิธีการและเงื่อนไขซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้เพื่อการนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตนั้น

มาตรา 55 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดพื้นดินหรือน้ำแห่งใดเป็นสนามบินอนุญาต หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน

มาตรา 56(2)ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของผู้โดยสารออกจากสนามบิน ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยาน และค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน ณ สนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน ให้เก็บได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ซึ่งต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 57 ค่าบริการเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศอาจเก็บได้ตามที่คณะกรรมการการบินพลเรือนอนุมัติ

มาตรา 58 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตบริเวณใกล้เคียงสนามบิน หรือสถานที่ตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศเป็นเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ

มาตรา 59 ภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศตามมาตรา 58 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือปลูกต้นไม้ยืนต้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ในการให้อนุญาตตามมาตรานี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะกำหนดเงื่อนไขอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา 60 ถ้าปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนต่อมาตรา 59 วรรคหนึ่ง หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขตามมาตรา 59 วรรคสอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ฝ่าฝืนจัดการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือตัด หรือย้ายต้นไม้นั้นภายในเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคก่อนให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจัดการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือตัด หรือย้ายต้นไม้นั้นเสียเอง ค่าใช่จ่ายในการนี้ให้ผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ชดใช้

หมวด 6 ทวิ(1)

มาตรา 60 ทวิ (2) (ยกเลิก)

มาตรา 60 ตรี(3) ให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองอากาศยานหรือตัวแทน เก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินจาก

ผู้โดยสารซึ่งจะโดยสารอากาศยานที่ตนเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองหรือตัวแทนได้ ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองอากาศยานหรือตัวแทนไม่อยู่ในราชอาณาจักร ให้ผู้ควบคุมอากาศยานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ในการนี้เป็นผู้เก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน

ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินที่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองอากาศยานหรือตัวแทนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เก็บตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นนายท่าอากาศยาน พร้อมด้วยบัญชีผู้โดยสารอากาศยานซึ่งพนักงาน

เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองรับรองแล้ว ทั้งนี้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้โดยสารอากาศยานนั้นออกจากสนามบิน

ในกรณีที่ผู้ควบคุมอากาศยานเป็นผู้เก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งค่าธรรมเนียมนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นนายท่าอากาศยานพร้อมด้วยบัญชีผู้โดยสารอากาศยานซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองรับรองแล้วก่อนที่อากาศยานนั้นออกเดินทาง

เจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองอากาศยานหรือตัวแทนหรือผู้ควบคุมอากาศยาน ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ต้องรับผิดชดใช้เป็นเงินจำนวนสามเท่าของค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินที่ตนมีหน้าที่ต้องเก็บ

(4)ให้จัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนขึ้นทุนหนึ่งตามนัยแห่งกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

(5)เงินที่เรียกเก็บได้ตามมาตรานี้ให้นำส่งเข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียนตามวรรคห้า การใช้จ่ายเงินจากบัญชีเงินทุนหมุนเวียนให้กระทำได้เฉพาะเพื่อกิจการที่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารภายในสนามบินที่เก็บค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

หมวด 6 ตรี (1)

บริการในลานจอดอากาศยาน และบริการช่างอากาศ

มาตรา 60 จัตวา(2) ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดลานจอดอากาศยานของสนามบินอนุญาต

เมื่อรัฐมนตรีกำหนดลานจอดอากาศยานของสนามบินอนุญาตใดแล้วห้ามมิให้บุคคลใดประกอบการให้บริการในลานจอดอากาศยานหรือบริการช่างอากาศ เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการให้บริการในลานจอดอากาศยานหรือบริการช่างอากาศ แล้วแต่กรณี จากพนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติรัฐมนตรี

มาตรา 60 เบญจ(3) ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการให้บริการในลานจอดอากาศยานหรือบริการช่างอากาศ ต้องมีคุณสมบัติและมีลักษณะตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน หรือเป็นสายการบินที่กำหนดของต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ยอมรับแล้วตามความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ และประเทศที่กำหนดสายการบินนั้นมิได้วางข้อห้ามหรือข้อกำกัดแก่สายการบินที่กำหนดของไทยในการประกอบการให้บริการในลานจอดอากาศยานหรือบริการช่างอากาศในประเทศนั้น

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการให้บริการในลานจอดอากาศยานหรือบริการช่างอากาศ อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง

บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตตามมาตรานี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

มาตรา 60 ฉ(4) ผู้ประกอบการให้บริการในลานจอดอากาศยานจะเก็บค่าบริการในลานจอดอากาศยานได้ไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการการบินพลเรือนอนุมัติด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 60 สัตต(5) ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในลานจอดอากาศยาน เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยที่กำหนดโดยเจ้าของสนามบินอนุญาตหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของให้เป็นผู้รักษาสนามบินอนุญาต

ผู้เข้าไปในลานจอดอากาศยานต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

หมวด 7

อุบัติเหตุ

มาตรา 61(6) เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแก่อากาศยานใดในราชอาณาจักรหรือแก่อากาศยานไทยในต่างประเทศ ให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นในกรณีอากาศยานไทย หรือตัวแทนเจ้าของในกรณีอากาศยานต่างประเทศ แจ้งอุบัติเหตุนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า และทำรายงานตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

มาตรา 62 เมื่อเกิดอุบัติเหตุแก่อากาศยานใดในราชอาณาจักรให้อากาศยานนั้นอยู่ในความพิทักษ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และห้ามมิให้บุคคลใดปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่อากาศยานหรือส่วนของอากาศยานนั้นโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เว้นแต่กรณีจำเป็นเพื่อ

(1) ให้คน ไปรษณีย์ภัณฑ์และสัตว์พ้นภัย

(2) คุ้มครองอากาศยานนั้นมิให้เสียหายโดยไฟไหม้หรือเหตุอื่นใด

(3) ป้องกันภยันตรายมิให้เกิดแก่ประชาชน

(4) เคลื่อนย้ายอากาศยานหรือส่วนของอากาศยานนั้นมิให้กีดขวางต่อการเดินอากาศ หรือการขนส่งอย่างอื่น

(5) เคลื่อนย้ายอากาศยานหรือส่วนของอากาศยานนั้นไปสู่ที่ปลอดภัยเมื่ออับปางในน้ำ หรือ

(6) เคลื่อนย้ายสิ่งของหรือสินค้าให้พ้นภยันตราย ในกรณีนี้ให้ทำภายใต้ความควบคุมดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ

มาตรา 63 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวกับอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร

มาตรา 64 ให้คณะกรรมการสอบสวนที่ได้แต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 63 มีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) เข้าในที่ดิน อาคาร โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งอากาศยานหรือส่วนของอากาศยานที่ประสบอุบัติเหตุนั้นตกหรือปรากฏอยู่

(2) สั่งให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุใดอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานซึ่งประสบอุบัติเหตุ

หมวด 8

อำนาจตรวจ ยึดและหน่วงเหนี่ยว

มาตรา 65 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกตรวจเอกสารตามมาตรา 16 และถ้าปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับเอกสารใด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดเอกสารนั้นไว้เพื่อดำเนินการต่อไปได้

มาตรา 66 เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ

(1) เข้าในสถานที่ใด ๆ แห่งสนามบินอนุญาต ที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานหรือสถานที่ตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ

(2) เข้าในโรงงานหรือสถานที่ซึ่งเป็นที่สร้าง ประกอบ ซ่อม หรือตรวจและถอดปรับอากาศยานหรือส่วนของอากาศยาน และตรวจสอบการเหล่านั้นตลอดถึงส่วนต่าง ๆ และแบบที่เกี่ยวกับส่วนเหล่านั้นในระหว่างเวลาทำงาน

(3) ขึ้นตรวจและค้นอากาศยานซึ่งมีเหตุที่จะเชื่อว่ามีของต้องห้ามหรือต้องกำกัดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นใด หรือของซึ่งได้นำเข้าในหรือจะนำออกนอกราชอาณาจักร อันเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร

(4) ตรวจอากาศยานซึ่งมีใบสำคัญสมควรเดินอากาศแล้วเป็นครั้งคราวตามที่เห็นสมควร

(5) เข้าตรวจสถานที่เก็บอากาศยาน

(6) ยึดของต้องห้ามหรือต้องกำกัดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นใด หรือของซึ่งได้นำเข้าในหรือจะนำออกนอกราชอาณาจักรอันเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร

มาตรา 67 เมื่อมีการฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับอากาศยานใด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน่วงเหนี่ยวการออกเดินทางของอากาศยานนั้น

หมวด 9

บทกำหนดโทษ

มาตรา 68(1) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 มาตรา 29 เบญจ หรือมาตรา 62 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 68 ทวิ(2) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 68 ตรี(3) ผู้รับใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แนบท้ายใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลตามมาตรา 29 ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และในกรณีที่เป็นความผิดต่อเนื่องกันให้ปรับอีกวันละหนึ่งพันบาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา 69(4) ผู้ควบคุมอากาศยานใดฝ่าฝืนมาตรา 17 มาตรา 18 หรือมาตรา 50 ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท และจำคุกไม่เกินห้าปี และถ้าเนื่องจากการฝ่าฝืนนี้เป็นเหตุให้อากาศยานซึ่งใช้นั้นชำรุดเสียหาย หรือบุคคลได้รับอันตราย ผู้ควบคุมอากาศยานนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทและจำคุกไม่เกินสิบปี

มาตรา 69 ทวิ(5) ผู้ควบคุมอากาศยานใดฝ่าฝืนมาตรา 19 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 70(6) ผู้จดทะเบียนอากาศยานผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 มาตรา 32 วรรคท้าย หรือมาตรา 33 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา 71 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 21 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันบาท

มาตรา 72(7) ผู้ควบคุมอากาศยานใดฝ่าฝืนมาตรา 22 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 72 ทวิ(8) ผู้ควบคุมอากาศยานใดฝ่าฝืนมาตรา 27 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และจำคุกไม่เกินสิบปี

มาตรา 73 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 23 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 74 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 24 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 75 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 มาตรา 26 หรือมาตรา 42 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปีหรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 76 ผู้ควบคุมอากาศยานต่างประเทศหรืออากาศยานทหารต่างประเทศใดฝ่าฝืนมาตรา 28 หรือมาตรา 29 แล้วแต่กรณี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 77 ผู้ควบคุมอากาศยานใดฝ่าฝืนมาตรา 36 วรรคสอง หรือมาตรา 37 วรรคสอง มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 78 ผู้ประจำหน้าที่คนใดฝ่าฝืนมาตรา 49 หรือมาตรา 50 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา 79(1) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 51 หรือมาตรา 53 วรรคหนึ่งมีความผิด ต้องระวางโทษไม่ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และจำคุกไม่เกินสิบปี

มาตรา 80 เจ้าของสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานใดฝ่าฝืนมาตรา 56 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

มาตรา 80 ทวิ(2) ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 53 วรรคสอง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 53 ทวิ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่ยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำสิ่งกีดขวางตามมาตรา 53 ทวิ หรือฝ่าฝืนมาตรา 53 ทวิ วรรคสอง มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 81 เจ้าของเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศใดฝ่าฝืนมาตรา 57 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา 81 ทวิ(3) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 60 จัตวา วรรคสอง มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 81 ตรี(4) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 60 สัตต วรรคหนึ่ง มีความผิด

ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 81 จัตวา(5) ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนตามมาตรา 60 สัตต วรรคสอง มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันบาท

มาตรา 82(6)ผู้จดทะเบียนอากาศยานในกรณีอากาศยานไทย หรือตัวแทนเจ้าของในกรณีอากาศยานต่างประเทศผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 61 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

มาตรา 83 ผู้ใดขัดขวางการกระทำของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 64 (1) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 64 (2) มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 84 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม

1. ใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยาน 1,000 บาท

2. ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่หรือการรับรองใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่

ซึ่งออกให้โดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือรัฐที่ได้

ทำความตกลงกับประเทศไทย 300 บาท

3. ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ

(1) สำหรับอากาศยานต้นแบบที่สร้างในราชอาณาจักร 10,000 บาท

(2) สำหรับอากาศยานที่สร้างในราชอาณาจักรตามต้นแบบ 3,000 บาท

(3) สำหรับอากาศยานที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร 5,000 บาท

4. ใบอนุญาตจัดตั้งสนามบิน 2,000 บาท

5. ใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ 1,000 บาท

6. ใบอนุญาตจัดตั้งที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน 500 บาท

(1)6 ทวิ ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการให้บริการในลานจอดอากาศยาน

(1) ให้บริการแก่ธุรกิจการเดินอากาศของตนเอง ไม่เก็บค่าธรรมเนียม

(2) ให้บริการแก่ธุรกิจการเดินอากาศของบุคคลอื่น 1,500 บาท

(2)6 ตรี ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการให้บริการช่างอากาศ

(1) ให้บริการแก่ธุรกิจการเดินอากาศของตนเอง ไม่เก็บค่าธรรมเนียม

(2) ให้บริการแก่ธุรกิจการเดินอากาศของบุคคลอื่น 1,500 บาท

7. ใบแทนอนุญาตหรือใบสำคัญ 20 บาท

(3)8. ค่าขึ้นลงของอากาศยาน ครั้งละ 40,000 บาท

9. ค่าที่เก็บอากาศยาน วันละ 2,000 บาท

(4)10. ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของผู้โดยสารออกจาก

สนามบินครั้งละ 50 บาท

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พัฒนาการในด้านการบินพลเรือนของโลกได้ก้าวหน้าไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะในฝ่ายวิชาการ จำนวนอากาศยานที่บินภายในประเทศและที่บินเข้ามาในราชอาณาจักรทวีขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า อากาศยานในปัจจุบันมีความเร็วสูงและขนาดโตกว่าแต่ก่อน จำเป็นจำต้องมีการควบคุมการดำเนินการเดินอากาศและการจราจรทางอากาศให้รัดกุมยิ่งขึ้น

จึงเป็นการสมควรที่จะปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศเสียใหม่และเพิ่มเติมบทบัญญัติให้มีคณะกรรมการการบินพลเรือนขึ้นคณะหนึ่งมีอำนาจออกข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้และตามภาคผนวกแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศซึ่งทำขึ้นที่เมืองชิคาโก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2487 (ค.ศ.1944) ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นภาคี กับวางบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ เกี่ยวกับอุบัติเหตุ และเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ประจำหน้าที่

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2498

หมายเหตุ:- เหตุผลในการใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือเนื่องจากปรากฏว่าผู้ควบคุมอากาศยานได้นำอากาศยานไปลงยังที่อื่นนอกจากสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานที่ได้รับอนุญาตหรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ระบุไว้และไปลงยังสนามบินลับและบินออกนอกประเทศจนปรากฏผลเสียหายเกิดขึ้นกับอากาศยานเป็นอย่างมาก และปรากฏว่าขณะนี้ได้มีผู้ลักลอบสร้างสนามบินลับมากขึ้นเป็นลำดับ เพื่อความปลอดภัยของประเทศชาติจึงเป็นการสมควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศให้มีบทบัญญัติรัดกุมยิ่งขึ้น และในโอกาสเดียวกันก็เพิ่มอัตราโทษให้หนักยิ่งขึ้นด้วย

[รก.2498/63/1339/23 สิงหาคม 2498]

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2502

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ ไม่มีบทบัญญัติเปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองอากาศยานจดทะเบียนอากาศยานได้จึงเป็นการสมควรที่จะแก้ไขให้ผู้ครอบครองอากาศยานซึ่งมีเหตุอันสมควรที่จะจดทะเบียนอากาศยานนั้น ให้มีสิทธิจดทะเบียนได้ในเมื่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามรพระราชบัญญัติได้พิจารณาเห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้จดทะเบียน

[รก.2502/122/56พ./31 ธันวาคม 2502]

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันนี้บรรดาสนามบินของนานาประเทศได้เก็บค่าธรรมเนียมจากผู้โดยสารในการที่ใช้สนามบินเป็นท่าขึ้นโดยสารอากาศยาน ทางประเทศไทยก็ได้มีสนามบินซึ่งให้บริการแก่ผู้โดยสารได้ตามสมควรแล้ว จึงสมควรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้โดยสารซึ่งโดยสารออกจากสนามบิน ดังที่ปฏิบัติกันทั่วไปเพื่อประโยชน์ในการที่จะได้รายได้มาช่วยในการใช้จ่ายของรัฐต่อไป

[รก.2504/76/1064/26 กันยายน 2504]

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2507

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้สอดคล้องต้องตามทางปฏิบัติอันนานาประเทศนิยมและเพื่อความสะดวกเรียบร้อยในเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศในส่วนที่ว่าด้วยค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินให้เหมาะสมกับภาวการณ์

[รก.2507/66/481/14 กรกฎาคม 2507]

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2514

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พัฒนาการในด้านการบินพลเรือนของโลกได้ก้าวหน้ามาเป็นอันมากอากาศยานปัจจุบันมีน้ำหนักและขนาดใหญ่กว่าแต่ก่อนมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมค่าขึ้นลงของอากาศยานให้เหมาะสมกับภาวการณ์ และให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

[รก.2514/106/662/5 ตุลาคม 2514]

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2521

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การให้บริการต่าง ๆ ในลานจอดอากาศยานและการบริการช่างอากาศเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยของอากาศยาน และผู้โดยสารอากาศยานและการให้ความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินอากาศและการบินพลเรือนสมควรวางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้เพื่อให้การให้บริการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยกำหนดให้การให้บริการดังกล่าวเป็นกิจการที่ต้องได้รับอนุญาต และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการอนุญาต กับทั้งสมควรกำหนดให้มีการนำเงินค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินที่เก็บได้มาใช้ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารภายในสนามบินได้ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินกิจการของสนามบิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

[รก.2521/149/103พ./25 ธันวาคม 2521]

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2525

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นสูงไว้ท้ายพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ทำให้ไม่สะดวกในการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและโดยที่ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในพระราชบัญญัติแยกได้เป็นสองลักษณะ คือค่าธรรมเนียมที่มีลักษณะเป็นค่าภาษี และค่าธรรมเนียมที่มีลักษณะเป็นค่าบริการจึงสมควรยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นสูงไว้ท้ายพระราชบัญญัติ และสมควรแยกประเภทของค่าธรรมเนียมที่มีลักษณะเป็นค่าภาษีและค่าธรรมเนียมที่มีลักษณะเป็นค่าบริการออกจากกัน โดยกำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะออกกฎกระทรวงกำหนด อัตรา ที่จะเรียกเก็บสำหรับค่าธรรมเนียมที่มีลักษณะเป็นค่าภาษี และมีอำนาจกำหนด อัตราขั้นสูง สำหรับค่าธรรมเนียมที่มีลักษณะเป็นค่าบริการ และให้คณะกรรมการการบินพลเรือนมีอำนาจกำหนดอัตราที่จะเรียกเก็บสำหรับค่าธรรมเนียมที่มีลักษณะเป็นค่าบริการ ซึ่งต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

[รก.2525/108/26พ./6 สิงหาคม 2525]

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2534

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลเห็นสมควรให้เอกชนไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสามารถใช้อากาศยานส่วนบุคคลได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ และให้มีบุคคลากรเกี่ยวกับการขนส่งทางอากาศมากขึ้นเป็นกำลังสำรองของประเทศที่อาจเรียกมาใช้ได้เมื่อมีความจำเป็น แต่การให้เอกชนสามารถใช้อากาศยานส่วนบุคคลได้นั้นอาจมีผลกระทบไปถึงความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ จำเป็นจะต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยบังคับให้เอกชนที่ประสงค์จะใช้อากาศยานส่วนบุคคลต้องขอรับใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งรัฐมนตรีมีดุลพินิจโดยเด็ดขาดที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

[รก.2534/164/13พ./18 กันยายน 2534]

(1) รก.2497/58/1249/14 กันยายน 2497

(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2534

(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2498

(2) – (4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2521

(5) (6) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2525 และ 1 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2534

(1) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2502

(1) – (4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 9) พ.ศ.2534

(1) – (3) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2502

(1) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2502

(1) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2498

(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2498

(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2525

(1) หมวด 6 ทวิ (ไม่ระบุชื่อหมวด) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2504

(2) – (3) ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2507

(4) (5) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2521

(1)-(5) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2521

(6) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2502

(1)-(3) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2534

(4) – (5) (7) – (8)แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2498

(6) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2502

(1) – (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2498

(3) – (5) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2521

(6) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2502

(1) (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2521

(3) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 6)พ.ศ.2514

(4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504