ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันเทคโนโลยี

ปทุมวัน พ.ศ. 2541”
มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“สถาบัน” หมายความว่า สถาบันเทคโนโลยีปทุมวันในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
“คณะกรรมการสถาบัน” หมายความว่า คณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด 1
บททั่วไป
———

มาตรา 5 ให้สถาบันมีอำนาจจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มาตรา 6 การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกสำนักงานอธิการคณะหรือภาควิชา หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา ให้ทำเป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการการจัดระบบบริหารงานในสำนักงานอธิการ คณะหรือภาควิชา หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา 7 ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรเงินงบประมาณให้แก่กรมอาชีวศึกษาตามที่เห็นสมควรเพื่อดำเนินกิจการของสถาบันนอกจากเงินงบประมาณตามวรรคหนึ่ง สถาบันหรือกรมอาชีวศึกษาอาจมีรายได้ ดังนี้
(1) เงินผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และค่าบริการต่าง ๆ ที่สถาบันหรือกรมอาชีวศึกษาได้รับจากการดำเนินกิจการของสถาบัน
(2) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้ที่ราชพัสดุที่กรมอาชีวศึกษา ปกครอง ดูแล หรือใช้ประโยชน์เพื่อการดำเนินกิจการของสถาบัน
(3) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สถาบันหรือกรมอาชีวศึกษาเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของสถาบัน
(4) เงินอุดหนุนจากราชการส่วนท้องถิ่น หรือเงินอุดหนุนอื่นที่สถาบันหรือกรมอาชีวศึกษาได้รับเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของสถาบัน
(5) รายได้หรือผลประโยชน์อื่นให้กรมอาชีวศึกษามีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกรมอาชีวศึกษาที่มีไว้เพื่อการดำเนินกิจการของสถาบัน ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ และที่เป็นทรัพย์สินอื่นของสถาบัน
รายได้รวมทั้งเบี้ยปรับที่สถาบันหรือกรมอาชีวศึกษาได้รับจากการ
ดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวง
การคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
เว้นแต่เบี้ยปรับที่เกิดจากการผิดสัญญาลาศึกษาหรือเบี้ยปรับที่เกิดจากการผิด
สัญญาซื้อทรัพย์สินหรือสัญญาจ้างทำของที่ดำเนินการโดยใช้เงินงบประมาณ

มาตรา 8 บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่กรมอาชีวศึกษาได้มาโดยมี
ผู้ยกให้แก่กรมอาชีวศึกษาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของสถาบัน หรือได้มา
โดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่กรมอาชีวศึกษา
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสถาบันตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ และให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมอาชีวศึกษา

มาตรา 9 บรรดารายได้และทรัพย์สินที่สถาบันหรือกรมอาชีวศึกษา
ได้มาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสถาบัน หรือได้มาเนื่องจากการ
ดำเนินกิจการของสถาบัน สถาบันหรือกรมอาชีวศึกษาจะต้องจัดสรรเพื่อประโยชน์
ในการดำเนินกิจการของสถาบัน
การจัดสรรรายได้และทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้อยู่ภายในขอบแห่ง
วัตถุประสงค์ของสถาบันและเงื่อนไขที่ผู้อุทิศให้กำหนดไว้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตาม
ข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา 10 การจัดการรายได้และทรัพย์สินที่สถาบันได้รับจัดสรร
ตามมาตรา 9 ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันและตามเงื่อนไขที่ผู้อุทิศให้
กำหนดไว้

หมวด 2
การดำเนินงาน
——–

มาตรา 11 ให้มีคณะกรรมการสถาบัน ประกอบด้วย
(1) ประธานกรรมการสถาบัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ศึกษาธิการแต่งตั้ง
(2) รองประธานกรรมการสถาบัน ได้แก่ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา
(3) กรรมการสถาบันโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิการ เลขาธิการ
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู ผู้แทน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ
ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัย
(4) กรรมการสถาบันจำนวนสามคน ซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำ
ของสถาบัน
(5) กรรมการสถาบันจำนวนสามคน ซึ่งเลือกจากรองอธิการ คณบดี
หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
(6) กรรมการสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนแปดคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งจากบุคคลภายนอก
ให้คณะกรรมการสถาบันแต่งตั้งรองอธิการคนหนึ่งเป็นกรรมการ และ
เลขานุการคณะกรรมการสถาบันโดยคำแนะนำของอธิการ
คุณสมบัติของผู้รับเลือกตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการ
สถาบันตาม (4) และ (5) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน
หลักเกณฑ์ วิธีการได้มาและคุณสมบัติของประธานกรรมการสถาบัน
และกรรมการสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิตาม (6) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา 12 กรรมการสถาบันตามมาตรา 11 (4) และ (5)
มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี และอาจได้รับเลือกใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่ง
เกินสองวาระติดต่อกันมิได้
ประธานกรรมการสถาบันและกรรมการสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระ
การดำรงตำแหน่งสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกก็ได้

มาตรา 13 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 12
ประธานกรรมการสถาบันและกรรมการสถาบันพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติของการเป็นประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการ
สถาบันในประเภทนั้น ๆ
ในกรณีที่ประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบันพ้นจากตำแหน่ง
ก่อนวาระ และได้แต่งตั้งหรือได้มีการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้ซึ่งได้รับ
การแต่งตั้งหรือผู้ซึ่งได้รับเลือกนั้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่ง
ตนแทน
ในกรณีที่ประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบันพ้นจาก
ตำแหน่งตามวาระแต่ยังมิได้แต่งตั้ง หรือยังมิได้เลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทน
ให้ประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบันซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้นปฏิบัติหน้าที่
ต่อไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบัน หรือได้
มีการเลือกกรรมการสถาบันขึ้นใหม่
ในกรณีที่ประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบันพ้นจาก
ตำแหน่งก่อนครบวาระไม่เกินเก้าสิบวัน สถาบันจะไม่ดำเนินการแต่งตั้งประธาน
กรรมการสถาบันหรือไม่ดำเนินการแต่งตั้งหรือเลือกกรรมการสถาบันขึ้นแทนตำแหน่ง
ที่ว่างก็ได้

มาตรา 14 คณะกรรมการสถาบันมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(1) วางนโยบายและกำกับแผนพัฒนาของสถาบันเกี่ยวกับการศึกษา
การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อมและ
ศิลปวัฒนธรรม
(2) วางระเบียบและออกข้อบังคับของสถาบันเกี่ยวกับการดำเนิน
กิจการของสถาบัน
(3) พิจารณาการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกสำนักงานอธิการ
คณะหรือภาควิชา หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือ
ภาควิชา
(4) พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาของสถาบัน
(5) อนุมัติการให้ปริญญา อนุปริญญา และประกาศนียบัตร
(6) พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการแต่งตั้งและการถอดถอน
อธิการ ศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ
(7) พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการ คณบดี รองคณบดี
หัวหน้าภาควิชา หรือหัวหน้าหน่วยงานและรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่อ
อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ หรือภาควิชา รองศาสตราจารย์พิเศษ และ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ
(8) พิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณของสถาบันเพื่อเสนอ
ต่อกรมอาชีวศึกษา รวมทั้งวางระเบียบและออกข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดทำและ
การพิจารณางบประมาณ การเงิน และทรัพย์สินของสถาบัน
(9) พิจารณากำหนดเครื่องหมายของสถาบัน
(10) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
เพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสถาบัน
(11) อำนาจหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของสถาบันที่มิได้ระบุให้เป็น
อำนาจหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ

มาตรา 15 การประชุมของคณะกรรมการของสถาบัน ให้เป็นไป
ตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา 16 ให้มีอธิการคนหนึ่ง เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบ
การบริหารงานของสถาบัน และจะให้มีรองอธิการหรือผู้ช่วยอธิการ หรือมีทั้งรอง
อธิการและผู้ช่วยอธิการตามจำนวนที่คณะกรรมการสถาบันกำหนด เพื่อทำหน้าที่
และรับผิดชอบตามที่อธิการมอบหมายก็ได้
อธิการนั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งโดย
คำแนะนำของคณะกรรมการสถาบันจากบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 17
อธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และจะได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้
แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
รองอธิการนั้น ให้คณะกรรมการสถาบันแต่งตั้งโดยคำแนะนำของ
อธิการจากคณาจารย์ประจำของสถาบันผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 17
ผู้ช่วยอธิการนั้น ให้คณะกรรมการสถาบันแต่งตั้งโดยคำแนะนำของ
อธิการจากคณาจารย์ประจำของสถาบันผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 18
เมื่ออธิการพ้นจากตำแหน่ง ให้รองอธิการและผู้ช่วยอธิการพ้นจาก
ตำแหน่งด้วย

มาตรา 17 อธิการและรองอธิการต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) ได้รับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษาที่สถาบัน
รับรองและได้ทำการสอนหรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารในสถาบันหรือสถาน
ศึกษาอื่นในสังกัดกรมอาชีวศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สถาบันรับรองมาแล้ว
เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี หรือเคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสถาบันหรือ
ในสภาสถาบันอุดมศึกษาอื่นมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี หรือ
(2) ได้รับปริญญาตรีจากสถาบันหรือปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่า
จากสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สถาบันรับรอง และได้ทำการสอนหรือมีประสบการณ์
ด้านการบริหารในสถาบันหรือสถานศึกษาอื่นในสังกัดกรมอาชีวศึกษา หรือสถาบัน
อุดมศึกษาอื่นที่สถาบันรับรองมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปีหรือเคยดำรงตำแหน่ง
ในคณะกรรมการสถาบันหรือในสภาสถาบันอุดมศึกษาอื่นมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า
สี่ปี

มาตรา 18 ผู้ช่วยอธิการต้องได้รับปริญญาตรีจากสถาบันหรือปริญญา
ชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สถาบันรับรอง

มาตรา 19 อธิการมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(1) บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ
ข้อบังคับของทางราชการ และข้อบังคับของสถาบัน รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์
ของสถาบัน
(2) ควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่น
ของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ และข้อบังคับ
ของสถาบัน
(3) เป็นผู้แทนสถาบันในกิจการทั่วไป
(4) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสถาบัน
เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสถาบัน
(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบและข้อบังคับของสถาบัน หรือตาม
ที่คณะกรรมการสถาบันมอบหมาย

มาตรา 20 ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้รองอธิการเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองอธิการหลายคน ให้รองอธิการ
ซึ่งอธิการมอบหมายเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าอธิการไม่ได้มอบหมายให้รองอธิการ
ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้รักษาราชการแทน
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการ หรือไม่มีผู้รักษาราชการแทน
อธิการตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานกรรมการสถาบัน
แต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 17 เป็นผู้รักษาราชการแทน
ให้ผู้รักษาราชการแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองมีอำนาจหน้าที่
เช่นเดียวกับอธิการ และในกรณีที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติ
คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจและ
หน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนทำหน้าที่กรรมการหรือมีอำนาจและหน้าที่
เช่นเดียวกับอธิการในระหว่างที่รักษาราชการแทนด้วย

มาตรา 21 ในคณะหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะ
เทียบเท่าคณะ ให้มีคณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า
คณะเป็นผู้บังคับบัญชา และรับผิดชอบงานของคณะหรือหน่วยงานนั้น และจะให้มี
รองคณบดี หรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
คนหนึ่งหรือหลายคนตามจำนวนที่คณะกรรมการสถาบันกำหนดเพื่อช่วยปฏิบัติงาน
ตามที่คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะมอบหมาย
ก็ได้
ในกรณีที่มีการแบ่งภาควิชาในคณะหรือแบ่งหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
ที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาให้มีหัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่อ
อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของภาควิชา
หรือหน่วยงานนั้น และจะให้มีรองหัวหน้าภาควิชาหรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่อ
อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาคนหนึ่งหรือหลายคนตามจำนวนที่คณะกรรมการ
สถาบันกำหนดเพื่อช่วยปฏิบัติงานตามที่หัวหน้าภาควิชา หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่อ
อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชามอบหมายก็ได้
คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา รองหัวหน้าภาควิชา หัวหน้า
หน่วยงานและรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือ
ภาควิชา ให้คณะกรรมการสถาบันแต่งตั้งจากคณาจารย์ประจำของสถาบันโดย
คำแนะนำของอธิการ

มาตรา 22 คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าและรอง
หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาต้องได้รับ
ปริญญาตรีจากสถาบัน หรือปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษา
อื่นที่สถาบันรับรองและได้ทำการสอนหรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารในสถาบัน
หรือสถานศึกษาอื่นในสังกัดกรมอาชีวศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สถาบันรับรอง
มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี

มาตรา 23 คณบดี หัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่อ
อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และ
อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
เมื่อคณบดี หัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
ที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาพ้นจากตำแหน่ง ให้รองคณบดี รองหัวหน้า
ภาควิชาหรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือ
ภาควิชาพ้นจากตำแหน่งด้วย

มาตรา 24 ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการ รองอธิการ ผู้ช่วยอธิการ
คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา รองหัวหน้าภาควิชา หัวหน้าและรองหัวหน้า
หน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาจะดำรงตำแหน่ง
ดังกล่าวเกินหนึ่งตำแหน่งในขณะเดียวกันมิได้
ผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งอยู่หนึ่งตำแหน่งแล้ว จะรักษาราชการ
แทนตำแหน่งอื่นอีกตำแหน่งก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือน

มาตรา 25 วิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นอธิการ คณบดี
หัวหน้าภาควิชาและหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือ
ภาควิชาให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

หมวด 3
คณาจารย์
——–

มาตรา 26 คณาจารย์ประจำซึ่งสอนระดับปริญญาตรีในสถาบัน
มีตำแหน่งทางวิชาการ ดังนี้
(1) ศาสตราจารย์
(2) รองศาสตราจารย์
(3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์
(4) อาจารย์
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนคณาจารย์ประจำ
ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู

มาตรา 27 ศาสตราจารพิเศษนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
แต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นอาจารย์พิเศษในวิชาที่ผู้นั้นมีความชำนาญเป็นพิเศษ
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถาบัน
คุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ ให้เป็นไป
ตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา 28 คณะกรรมการสถาบันอาจแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติ
เหมาะสม และมิได้เป็นคณาจารย์ประจำของสถาบันเป็นรองศาตราจารย์พิเศษ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ หรืออาจารย์พิเศษได้
คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งรองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วย
ศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของ
สถาบัน

มาตรา 29 ศาสตราจารย์ซึ่งมีความรู้ความสามารถและความ
ชำนาญเป็นพิเศษ และพ้นจากหน้าที่ในสถาบันไปโดยไม่มีความผิด คณะกรรมการ
สถาบันอาจแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในวิชาที่ศาสตราจารย์นั้นมีความ
เชี่ยวชาญได้
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ
ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา 30 ให้ผู้เป็นศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วย
ศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ มีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการ
ดังกล่าว เป็นคำนำหน้านามเพื่อแสดงวิทยฐานะได้ตลอดไป
การใช้คำนำหน้านามตามความในวรรคหนึ่ง ให้ใช้อักษรย่อ ดังนี้
ศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ ศ.
ศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ศ. (พิเศษ)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ใช้อักษรย่อ ศ. (เกียรติคุณ)
รองศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ รศ.
รองศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ รศ. (พิเศษ)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ ผศ.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ผศ. (พิเศษ)

หมวด 4
ปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ
——–

มาตรา 31 สถาบันมีอำนาจให้ปริญญาตรีในสาขาที่มีการสอนใน
สถาบันได้
ปริญญาในสาขาวิชาใดจะเรียกชื่ออย่างไร และจะใช้อักษรย่อสำหรับ
สาขานั้นอย่างไร ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 32 คณะกรรมการสถาบันอาจออกข้อบังคับกำหนดให้
ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือปริญญาตรี
เกียรตินิยมอันดับสองได้

มาตรา 33 คณะกรรมการสถาบันอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มี
อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรอย่างหนึ่งอย่างใดในสาขาวิชาที่มีการสอนใน
สถาบันได้ ดังนี้
(1) อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขาวิชา
หนึ่งสาขาวิชาใดก่อนถึงขั้นได้รับปริญญาตรี
(2) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะวิชา

มาตรา 34 สถาบันมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งสถาบัน
เห็นว่าทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญานั้น แต่จะให้ปริญญาดังกล่าวแก่คณาจารย์ประจำ
ของสถาบันหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในสถาบัน หรือคณะกรรมการสถาบันในขณะ
ดำรงตำแหน่งนั้นมิได้
สาขาของปริญญาและหลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้เป็นไป
ตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา 35 คณะกรรมการสถาบันอาจกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะหรือ
เข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้รับปริญญา อนุปริญญา และ
ประกาศนียบัตรได้ และอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่งกรรมการสถาบัน ครุย
ประจำตำแหน่งผู้บริหาร หรือครุยประจำตำแหน่งคณาจารย์ของสถาบันได้
การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยประจำ
ตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ จะใช้ใน
โอกาสใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใดให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา 36 คณะกรรมการสถาบันอาจออกข้อบังคับให้มีเครื่องหมาย
ของสถาบัน เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนักศึกษาได้โดยประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษา

หมวด 5
บทกำหนดโทษ
——–

มาตรา 37 ผู้ใดใช้ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ
เครื่องหมายของสถาบัน เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนักศึกษาของ
สถาบัน โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีตำแหน่งปริญญา
อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรของสถาบัน โดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้
บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิจะใช้ หรือมีตำแหน่งหรือวิทยฐานะเช่นนั้น ต้องระวางโทษ
จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล
——–

มาตรา 38 ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบัน
ตามมาตรา 11 ให้คณะกรรมการสถาบันประกอบด้วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็น
ประธานกรรมการสถาบัน อธิบดีกรมอาชีวศึกษาเป็นรองประธานกรรมการสถาบัน
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการ
ครู ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัยเป็นกรรมการสถาบัน และผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างกล
ปทุมวันผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นผู้รักษาราชการแทน
อธิการ ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสถาบัน ทั้งนี้ จนกว่า
จะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อย
แปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 39 บรรดาผู้ซึ่งได้รับประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง
และประกาศนียบัตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ของวิทยาลัยช่างกลปทุมวันตาม
หลักสูตรของกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้
ใช้บังคับ ให้มีศักดิ์และสิทธิเท่ากับผู้ได้รับปริญญาตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

———————————————————-
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการ
สมควรส่งเสริมการศึกษาวิชาการและผลิตบุคลากรผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพด้าน
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และ
เป็นการขยายโอกาสสำหรับผู้สำเร็จอาชีวศึกษาในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพ
เฉพาะทางระดับปริญญาตรีให้กว้างขวางขึ้นตลอดจนการถ่ายทอดและพัฒนา
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการนี้สมควรให้สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
ในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

(1) รก.2541/79ก/1/2 พฤศจิกายน 2541