ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522

เป็นปีที่ 34 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2522

มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พุทธศักราช 2476

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

หน่วยรับตรวจ หมายความว่า

(1) กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม

(2) หน่วยงานของราชการส่วนภูมิภาค

(3) หน่วยงานของราชการส่วนท้องถิ่น

(4) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

(5) หน่วยงานอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดหรือที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบ

ผู้รับตรวจ หมายความว่า หัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการหรือการบริหารของหน่วยรับตรวจ

ผู้อำนวยการ หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินซึ่งผู้อำนวยการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 ให้มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และให้มีรองผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้บังคับบัญชาและช่วยผู้อำนวยการสั่งและปฏิบัติราชการ

มาตรา 6 การแต่งตั้งผู้อำนวยการต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

มาตรา 7 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจสอบรายงานการรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายและตามความเป็นจริงหรือไม่

(2) ตรวจสอบบัญชีทุนสำรองเงินตราประจำปี และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายและตามความเป็นจริงหรือไม่

(3) ตรวจสอบการรับจ่าย การเก็บรักษาและการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินอื่นของหน่วยรับตรวจหรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และอาจตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและการใช้ทรัพย์สินอื่นและแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป็นไปโดยประหยัดได้ผลตามเป้าหมายและมีผลคุ้มค่าหรือไม่

ในกรณีที่หน่วยรับตรวจเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้แสดงความเห็นตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปด้วย

(4) ตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นของหน่วยรับตรวจ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่

มาตรา 8 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 7 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) ตรวจสอบเงินและทรัพย์สินอื่น บัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ

(2) เรียกผู้รับตรวจหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจมาเพื่อสอบสวน หรือสั่งให้ผู้รับตรวจหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจส่งมอบบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นบรรดาที่หน่วยรับตรวจจัดทำขึ้นหรือมีไว้ในครอบครอง

(3) อายัดเงินและทรัพย์สินอื่น บัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ

(4) เรียกบุคคลใด ๆ มาให้การเป็นพยานในการตรวจสอบตาม (1) หรือให้ส่งมอบบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับหน่วยรับตรวจ เพื่อประกอบการพิจารณา

มาตรา 9 เพื่อปฏิบัติการตามมาตรา 8 ให้ผู้อำนวยการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการเพื่อตรวจสอบ ค้น ยึด หรืออายัด บัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่น หรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับหน่วยรับตรวจเท่าที่จำเป็น

มาตรา 10 การเรียกบุคคลมาให้การเป็นพยานหรือให้ส่งมอบบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นตามมาตรา 8 (4) ให้ทำเป็นหนังสือและนำไปส่งในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของผู้รับ หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ทำการของผู้รับ

มาตรา 11 ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 12 พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ

มาตรา 13 ในกรณีที่ผลการตรวจสอบปรากฏว่ามีข้อบกพร่อง หรือมีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้หน่วยรับตรวจชี้แจงหรือแก้ไขข้อบกพร่องหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดให้

เมื่อพ้นเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้าหน่วยรับตรวจมิได้ชี้แจงหรือแก้ไขข้อบกพร่องหรือปฏิบัติการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีเหตุผลสมควร ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้กระทรวงเจ้าสังกัด หรือผู้บังคับบัญชา หรือผู้ควบคุมกำกับหรือรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนที่ทางราชการ หรือหน่วยรับตรวจกำหนดไว้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ตามควรแก่กรณี

มาตรา 14 ในกรณีที่ผลการตรวจสอบปรากฏว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี และให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ผู้รับตรวจหรือกระทรวงเจ้าสังกัดหรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมกำกับหรือรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบแบบแผนที่ทางราชการหรือหน่วยรับตรวจกำหนดไว้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้วย

เมื่อพนักงานสอบสวน หรือผู้รับตรวจหรือกระทรวงเจ้าสังกัดหรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมกำกับหรือรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจตามวรรคหนึ่งดำเนินการไปประการใดแล้ว ให้แจ้งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทราบโดยมิชักช้า

ในกรณีที่ผู้รับตรวจหรือกระทรวงเจ้าสังกัด หรือผู้บังคับบัญชา หรือผู้ควบคุมกำกับหรือรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาอันสมควร ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินรายงานต่อนายกรัฐมนตรี

มาตรา 15 ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำรายงานผลการตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณตามมาตรา 7 (1) และผลการปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมด้วยความเห็นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอรัฐสภา

มาตรา 16 การตรวจสอบการรับจ่ายเงินและทรัพย์สินอื่น บัญชีทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้แต่งตั้งผู้ตรวจสอบ

ในการตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา 7 (3) มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 13 และมาตรา 14 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 17 ผู้ใดเปิดเผยข้อความที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามมาตรา 7 (4) มาตรา 8 (4) หรือมาตรา 9 เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 18 ผู้ใดมีหน้าที่ครอบครองหรือรักษาเงินและทรัพย์สินอื่น บัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานที่

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้ตรวจสอบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งตามมาตรา 16 เรียกให้ส่งตาม

มาตรา 8 (2) หรืออายัดตามมาตรา 8 (3) หรือมาตรา 9 ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเงินและทรัพย์สินอื่น บัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 19 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือขัดขวางการปฏิบัติของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา 8 หรือ ผู้อำนวยการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 9 หรือผู้ตรวจสอบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง ตามมาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 20 ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อำนวยการพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ตรวจสอบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งตามมาตรา 16 เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 21 ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และบรรดาอำนาจหน้าที่ของประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไปเป็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือของผู้อำนวยการ ตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี

มาตรา 22 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเป็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 23 ให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 24 บรรดาบทกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ถือว่าบทกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศคำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีนั้น อ้างถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และที่อ้างถึงประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้ถือว่าอ้างถึงผู้อำนวยการ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 25 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส.โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสียใหม่เพื่อให้การตรวจสอบการรับจ่าย เก็บรักษาเงิน และทรัพย์สินอื่นของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นไปโดยถูกต้องและเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

(1) รก.2522/27/1พ./28 กุมภาพันธ์ 2522