ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล 2467 พรรษา ปัตยุบันสมัย พฤศจิกายนมาส ทสมสุรทิน จันทวาร กาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงศ อติศัยพงศวิมลรัตนวรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนารถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูรสันตติวงศวิศิษฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอติเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค มหาชโนตตะมางคประณต บาทบงกชยุคลประสิทธิสรรพศุภผล อุดมบรมสุขุมาลย ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษบุริมศักดิสมญาเทพทวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตน อัศวโกศลประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินทร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดม บรมราชสมบัติ นพปฎลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณ มหาบรม ราชาภิเศกาภิสิตสรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ อดุลยศักดิอรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหา รัษฎาธิเบนทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระอนุสรคำนึงถึงการสืบราชสันตติวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามย่อมทรงพระบรมเดชานุภาพโดยบริบูรณ์ และทรงมีสิทธิอำนาจที่จะทรงเลือกตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงพระราชดำริว่ามีพระปรีชาสามารถอาจเปนผู้สืบราชสันตติวงศ์ ดำรงราชตระกูล และรัฐสีมาอาณาจักร อารักษ์พสกนิกรสนองพระองค์ต่อไปได้นั้น ขึ้นเปนพระรัชทายาท โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และเสนามาตย์ราชเสวกบริพาร อีกทั้งสมณพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎรให้ทราบทั่วกัน ว่าได้ทรงเลือกสรรพระบรมวงศ์พระองค์นั้นเปนพระรัชทายาท และบางทีก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอุปราชาภิเษกหรือยุพราชาภิเษกด้วย ราชประเพณีนี้ย่อมเปนสิ่งซึ่งสมควรแก่พระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้
แต่ก็ได้เคยมีมาแล้วในอดีตสมัยและอาจมีได้อีกในอนาคตสมัย ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือกและประดิษฐานพระรัชทายาทขึ้นไว้อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเปนผลให้บังเกิดมีเหตุยุ่งยากแก่งแย่งกันขึ้นในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลง การแก่งแย่งช่วงชิงพระราชอำนาจกันย่อมเปนโอกาสให้บุคคลผู้มิได้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติคิดขัดขวางต่อทางเจริญแห่งราชอาณาจักร ทั้งเปนโอกาสให้ศัตรูทั้งภายนอกภายในได้ใจคิดประทุษร้ายต่อราชตระกูล และอิสรภาพแห่งประเทศสยาม นำความหายนะมาสู่ชาติไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอนุสรคำนึงถึงข้อความเหล่านี้ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีนิติธรรมกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นไว้ เพื่อจะได้ตัดความยุ่งยากแก่งแย่งกันภายในพระราชวงศ์ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงตั้งแต่งพระรัชทายาทขึ้นไว้โดยแน่นอน ดังกล่าวมาแล้วข้างบนนี้
อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามควรต้องทรงเปนผู้ที่อาณาประชาชนมีความเคารพนับถือ และไว้วางใจได้โดยบริบูรณ์ทุกสถาน ฉะนั้นจึงทรงพระราชดำริว่า พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดมีข้อบกพร่องสำคัญบางอย่างในพระองค์แล้ว ก็ไม่ควรให้อยู่ในเกณฑ์สืบราชสันตติวงศ์ เพราะอาจจะเปนเหตุให้บังเกิดความไม่เรียบร้อยหรือเดือดร้อนแก่อาณาประชาชนได้หรืออาจถึงแก่นำความหายนะมาสู่ราชตระกูลและราชอาณาจักรได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งอยู่ในพระอัปปะมาทธรรม และได้ทรงพระราชดำริพิจารณาโดยสุขุมแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลไว้เปนหลักฐานแถลงราชนิติธรรม ดังต่อไปนี้
หมวดที่ 1
ว่าด้วยนามและกำหนดใช้กฎมณเฑียรบาลนี้
มาตรา 1 กฎมณเฑียรบาลนี้ให้เรียกว่า “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467”
มาตรา 2(1) ให้ใช้กฎมณเฑียรบาลนี้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายนพระพุทธศักราช 2467 เปนต้นไป
มาตรา 3 ข้อความใด ๆ ที่มีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายอื่น ๆ ที่แย้งกับข้อความในกฎมณเฑียรบาลนี้ ให้ยกเลิกเสียทั้งสิ้น
หมวดที่ 2
บรรยายศัพท์
มาตรา 4 ศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ในกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าให้บรรยายไว้ดังต่อไปนี้
(1) “พระรัชทายาท” คือ เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมุติขึ้น เพื่อเปนผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป
(2) “สมเด็จพระยุพราช” คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเปนตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชาภิเษกหรือโดยพิธีอย่างอื่นสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
(3) “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” คือ สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี
(4) “สมเด็จพระอัครมเหสี” คือ พระชายาหลวงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่ปรากฏ ในประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ทรงสถาปนาขึ้นเปนสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี
(5) “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ” คือ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระมเหสีรอง
(6) “พระมเหสีรอง” คือ พระชายาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ที่ดำรงพระเกียรติยศรองลงมาจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีมีพระเกียรติยศสูงต่ำเปนลำดับกัน คือ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวีพระนางเจ้าพระราชเทวี พระนางเธอ พระอัครชายาเธอ ดังนี้เปนต้น
(7) “พระเจ้าลูกยาเธอ” คือ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระสนมเอก โท ตรี
(8) คำว่า “พระองค์ใหญ่” ให้เข้าใจว่าพระองค์ที่มีพระชนมายุมากกว่าพระองค์อื่น ๆ ที่ร่วมพระมารดากัน
หมวดที่ 3
ว่าด้วยการทรงสมมุติและทรงถอนพระรัชทายาท
มาตรา 5 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ และพระราชสิทธิที่จะทรงสมมุติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค ์ใดพระองค์หนึ่งให้เปนพระรัชทายาท สุดแท้แต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควรและเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ว่า ท่านพระองค์นั้นจะสามารถสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์
แต่การที่สมมุติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ให้เปนพระรัชทายาทเช่นนี้ ให้ถือว่าเปนการเฉพาะพระองค์ของพระรัชทายาทพระองค์นั้น
มาตรา 6 เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสมมุติท่านพระองค์ใดให้เปนพระรัชทายาทแล้ว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข้อความให้ปรากฏแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ราชเสวกบริพาร และอาณาประชาชนให้ทราบทั่วกันแล้ว ท่านว่าให้ถือว่าท่านพระองค์นั้นเปนพระรัชทายาทโดยแน่นอนปราศจากปัญหาใด ๆ และเมื่อใดถึงกาลอันจำเปน ก็ให้พระรัชทายาทพระองค์นั้นเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษโดยทันที ให้สมดังพระบรมราชประสงค์ที่ได้ทรงประกาศไว้นั้น
มาตรา 7 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสงวนไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพและพระราชสิทธิที่จะทรงถอนพระรัชทายาทออกจากตำแหน่งได้ ท่านพระองค์ใดที่ได้ถูกถอนจากตำแหน่งพระรัชทายาทแล้ว ท่านว่าให้นับว่าขาดจากทางที่จะได้สืบราชสันตติวงศ์ และให้ถอนพระนามออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ อีกทั้งพระโอรสและบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ถอนเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น
อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพและพระราช
สิทธิที่จะทรงประกาศยกเว้นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ได้
หมวดที่ 4
ว่าด้วยลำดับชั้นผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์
มาตรา 8 ถ้าหากว่ามีเหตุอันไม่พึงปรารถนา คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงโดยมิได้ทรงสมมุติพระรัชทายาทไว้ก่อน ท่านว่าให้เปนหน้าที่ท่านเสนาบดีอัญเชิญเสด็จเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับสืบพระราชสันตติวงศ์ ดังได้แถลงไว้ในมาตรา 9 ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่ได้เสด็จสวรรคตลงแล้วนั้นต่อไป แต่ผู้ที่จะอัญเชิญขึ้นทรงราชย์เช่นนี้ต้องมิใช่ผู้ที่ตกอยู่ในเกณฑ์ ยกเว้นที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้
มาตรา 9 ลำดับชั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์ได้นั้น ท่านว่าให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ ต่อไม่สามารถจะเลือกทางสายตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากและน้อย
เพื่อให้สิ้นสงสัย ท่านว่าให้วางลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ดังต่อไปนี้
(1) สมเด็จหน่อพุทธเจ้า
(2) ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จหน่อพุทธเจ้าและพระอัครชายาของสมเด็จหน่อพุทธเจ้าพระองค์นั้นขึ้นทรงราชย์ หรือถ้าพระราชโอรสพระองค์ใหญ่หาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์รอง ๆ ต่อไปตามลำดับพระชนมายุ
(3) ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว และไร้พระราชโอรสของท่านด้วย ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี
(4) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 2 หาพระองค์ไม่แล้ว แต่ถ้ามีพระโอรสอยู่ ก็ให้อัญเชิญพระโอรส โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 แห่งมาตรานี้
(5) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระอัครมเหสีหาพระองค์มิได้แล้ว และไร้พระราชโอรสของท่านด้วย ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่น ๆ ในสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งมาตรานี้
(6) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระอัครมเหสีหาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้วให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองถัดลงไปตามลำดับชั้นพระอิสริยศแห่งพระมารดา หรือถ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหาพระองค์ไม่แล้วก็ให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ สลับกันตามลำดับโดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งมาตรานี้
(7) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้วให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุด หรือถ้าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น แต่ถ้าแม้ว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดนั้นหาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของท่านก็หาไม่ด้วยแล้วก็ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมา หรือพระโอรสของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งมาตรานี้
(8) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดาท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์
(9) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระอนุชาพระองค์ที่ควรได้ทรงเปนทายาทนั้นหาพระองค์ไม่เสียแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้นตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 แห่งมาตรานี้
(10) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระอนุชาพระองค์ใหญ่หาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของท่านก็หาพระ องค์ไม่อีกด้วย ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระชนนีพระองค์ที่ถัดลงมาตามลำดับพระชนมายุ หรือพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งมาตรานี้
(11) ถ้าแม้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนนีหาพระองค์ไม่สิ้นแล้วและพระโอรสของสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 6 แห่งมาตรานี้
(12) ถ้าแม้สมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีก็หาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นก็หาไม่ด้วยแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอหรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอตามลำดับสลับกันโดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 7 แห่งมาตรานี้
(13) ต่อเมื่อหมดพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอ อีกทั้งหมดพระโอรสของท่านนั้น ๆ แล้วไซร้ ท่านจึงให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอและพระเจ้าบรมว งศ์เธอ หรือพระโอรสและเชื้อสายของท่านพระองค์นั้นตามลำดับแห่งความสนิทมากและน้อย โดยอนุโลมตามข้อความที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 12 แห่งมาตรานี้
หมวดที่ 5
ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์
มาตรา 10 ท่านพระองค์ใดที่จะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ควรที่จะเปนผู้ที่มหาชนนับถือได้โดยเต็มที่ และเอาเปนที่พึ่งได้โดยความสุขใจ ฉะนั้นท่านพระองค์ใดมีข้อที่ชนหมู่มากเห็นว่าเปนที่น่ารังเกียจก็ควรที่จะให้พ้นเสียจากหนทางที่จะได้สืบราชสันตติวงศ์ เพื่อเปนเครื่องตัดความวิตกแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และอาณาประชาชน
มาตรา 11 เจ้านายผู้เปนเชื้อพระบรมราชวงศ์ ถ้าแม้ว่าเปนผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ข้างล่างนี้ ท่านว่าให้ยกเว้นเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์
ลักษณะที่กล่าวนี้ คือ
(1) มีพระสัญญาวิปลาศ
(2) ต้องราชทัณฑ์เพราะ ประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคดีมหันตโทษ
(3) ไม่สามารถทรงเปนอัครพุทธศาสนูปถัมภก
(4) มีพระชายาเปนนางต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเปนชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้
(5) เปนผู้ที่ได้ถูกถอนออกแล้วจากตำแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอนนี้จะได้เปนไปในรัชกาลใด ๆ
(6) เปนผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์
มาตรา 12 ท่านพระองค์ใดตกอยู่ในเกณฑ์มีลักษณะบกพร่องดังกล่าวมาแล้วในมาตรา 11 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าพระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ยกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น
มาตรา 13 ในกาลสมัยนี้ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เปนสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถ ผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้นท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใด ๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เปนอันขาด
หมวดที่ 6
ว่าด้วยเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์
มาตรา 14 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ คือ เมื่อมีชนมายุยังไม่ครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ ท่านว่ายังทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดโดยพระองค์เองหาได้ไม่
มาตรา 15 ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ดังกล่าวมาแล้วในมาตรา 14 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าให้ท่านเสนาบดีพร้อมกันเลือกเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ จึงให้ท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์นั้นพ้นจากหน้าที่
มาตรา 16 ท่านผู้ที่จะได้รับเลือกเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวไว้ในมาตรา 15 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ต้องเปนผู้ที่มีพระชนมายุเกินกว่า 20 พรรษาบริบูรณ์แล้ว และต้องไม่ เปนผู้ที่มีลักษณะบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในมาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้
มาตรา 17 นอกจากผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านว่าให้ท่านเสนาบดีผู้มีอาวุโสมากที่สุดในราชการสองท่านเปนสมุหมนตรีที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และให้คงอยู่ในตำแหน่งนั้นตลอดเวลาที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินพระองค์นั้นอยู่ในตำแหน่งหน้าที่
ถ้าหากว่าสมุหมนตรีคนใดคนหนึ่งถึงอสัญกรรมลงในระหว่างเวลาที่ยังคงต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านว่าให้ท่านเสนาบดีผู้มีอาวุโสถัดลงมาอีกคนหนึ่งรับตำแหน่งสมุหมนตรีแทนท่านผู้ที่ถึงอสัญกรรมลงนั้นต่อไป
มาตรา 18 ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับท่านสมุหมนตรีอีกสอง รวมด้วยกันเปน สามนี้ ท่านว่าให้ขนานนามเรียกว่า “สภาสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” หรือเรียกโดยย่อว่า “สภาสำเร็จราชการแผ่นดิน”
กิจการทั้งปวงที่โดยปกติตกเปนพระราชภาระของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ตกเปนภาระของสภาสำเร็จราชการแผ่นดิน จนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษาบริบูรณ์แล้ว จึงให้สภาสำเร็จราชการแผ่นดินมอบพระราชภาระถวายเพื่อทรงรับและปฏิบัติราชกรณียกิจต่อไปตามโบราณราชประเพณี
อนึ่ง ราชกิจที่นับว่าเปนการดำเนินตามระเบียบอันมีแบบแผนอยู่แล้วท่านว่าให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบัญชาสั่งและลงพระนามโดยลำพังได้ แต่ราชการใดเปนเรื่องที่มีปัญหาโต้แย้งก็ดี เกี่ยวด้วยเปลี่ยนแปลงหลักแห่งรัฐประศาสโนบายก็ดี เกี่ยวด้วยการออกพระราชกำหนดกฎหมายใหม่ หรือแก้ไขพระราชกำหนดกฎหมายที่มีอยู่แล้วก็ดี ท่านว่าต้องให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนผู้ลงพระนามในคำสั่ง และให้สมุหมนตรีทั้งสองท่านลงนามกำกับด้วยจึงจะใช้ได้
หมวดที่ 7
ว่าด้วยการแก้กฎมณเฑียรบาลนี้
มาตรา 19 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ไว้ให้เปนราชนิติธรรมอันมั่นคง เพื่อดำรงพระบรมราชจักรีวงศ์ไว้ชั่วกาลนาน และได้ทรงใช้พระวิจารณญานโดยสุขุม ประชุมทั้งโบราณราชประเพณีแห่งกรุงสยามตามที่ได้เคยมีปรากฏมาในโบราณราชประวัติ ทั้งประเพณีตามที่โลกนิยมในสมัยนี้เข้าไว้พร้อมแล้ว ฉะนั้นหากว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดในอนาคตสมัยทรงพระราชดำริจะแก้ไขหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดแห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ก็ให้ทรงคำนึงถึงพระอุปการะคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ผู้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ขึ้นไว้แล้ว และทรงปฏิบัติตามข้อความในมาตรา 20 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้เถิด
มาตรา 20 ถ้าแม้เมื่อใดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ามีเหตุจำเปนที่จะต้องแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความใด ๆ แม้แต่ส่วนน้อยหนึ่งในกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนัดประชุมองคมนตรีสภา ให้มีองคมนตรีมาในที่ประชุมนั้นไม่น้อยกว่า 2 ส่วนใน 3 แห่งจำนวนองคมนตรีทั้งหมดแล้ว และพระราชทานข้อความอันมีพระราชประสงค์จะให้แก้ไขหรือเพิกถอนนั้นให้สภาปรึกษากันและถวายความเห็นด้วยความจงรักภักดีซื่อสัตย์สุจริต ถ้าองคมนตรีมีจำนวนถึง 2 ส่วนใน 3 แห่งผู้ที่มาประชุมนั้นลงความเห็นว่าควรแก้ไขหรือเพิกถอนตามพระราชประสงค์ได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงค่อยมีพระบรมราชโองการให้แก้ไขหรือเพิกถอน แต่ถ้าแม้ว่าองคมนตรีที่มาประชุมนั้นมีผู้เห็นควรให้แก้ไขหรือเพิกถอนเปนจำนวนไม่ถึง 2 ใน 3 แล้ว ก็ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระขันติระงับพระราชดำริที่จะทรงแก้ไขหรือเพิกถอนนั้นไว้เถิด
หมวดที่ 8
ว่าด้วยผู้เปนหน้าที่รักษากฎมณเฑียรบาลนี้
มาตรา 21 ให้เสนาบดีกระทรวงวังเปนหน้าที่รักษากฎมณเฑียรบาลนี้ให้เปนไปสมพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ผู้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ขึ้นไว้นั้น จงทุกประการฯ
กฎมณเฑียรบาล
ว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์(1)
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่าการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ตามธรรมดาได้ทรงทราบและได้
พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์โดยสมควรแก่พระเกียรติยศ แต่ก็มีบางรายที่มิได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบก่อน โดยเกรงว่าจะเปนการรบกวนใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทบ้าง โดยเหตุอื่นบ้าง บางรายได้ทรงทราบว่าการได้เปนไปโดยไม่สมควรแก่พระเกียรติยศฯ มีพระราชประสงค์จะอุปถัมภ์บำรุงพระบรมราชตระกูลไว้ให้สูงศักดิ์ กับทั้งจะแสดงให้พระราชวงศ์ทรงทราบว่า มีพระราชหฤทัยประสงค์จะพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่พระราชวงศ์ให้ทั่วถึงกัน จึงพระราชดำรัสสั่งเฉพาะเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังให้ประกาศเปนกฎมณเฑียรบาลไว้ว่า
1. ตั้งแต่นี้ต่อไป เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเสกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงจะกระทำการพิธีนั้นได้
2. ที่ ๆ จะทำการพิธีเสกสมรสต้องเปนที่สมควรที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานน้ำสังข์ได้ จะได้ทรงกำหนดตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร
3. ถ้าผู้ใดทำฝ่าฝืนไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าได้ทำผิดฐานละเมิดต่อพระองค์ผู้ทรงเปนกุลเชษฐใน พระราชวงศ์
ประกาศมา ณ วันที่ 10 มิถุนายน พระพุทธศักราช 2461
กฎมนเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม
พุทธศักราช 2475
ประชาธิปก ป.ร.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า กฎมนเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์นั้น ได้ทรงพระราชดำริมาก่อนที่ได้ตราพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 แล้วว่า ควรจะเปลี ่ยนแปลงให้เหมาะแก่สมัย สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบด้วยพระราชดำริ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมนเฑียรบาลขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
มาตรา 1(1) ให้ใช้กฎมนเฑียรบาลนี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเปนต้นไป
มาตรา 2 ตั้งแต่วันที่ใช้กฎมนเฑียรบาลนี้สืบไป ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎมนเฑียรบาล กฎและข้อบังคับ อื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในกฎมนเฑียรบาลนี้ หรือซึ่งแย้งกับกฎมนเฑียรบาลนี้
มาตรา 3 พระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ถ้าจะทำการสมรสกับผู้ใด ท่านว่าต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อน
มาตรา 4 เจ้าหญิงองค์ใด ถ้าจะทำการสมรสกับผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าในพระราชวงศ์ อันเปนการไม่ต้องด้วยพระราชประเพณีนิยม ท่านว่าต้องกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เสียก่อน
มาตรา 5 ถ้าพระราชวงศ์องค์ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 และมาตรา 4 ท่าน ว่าให้ถอดเสียจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์
ประกาศมา ณ วันที่ 8 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 เปนปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับพระบรมราชโองการ
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ประธานคณะกรรมการราษฎร
กฎมณเฑียรบาลเพิ่มเติม(1)
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนตทรมหาวชิราวุธพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรังเหนือเกล้าฯ สั่งว่า กฎมณเฑียรบาลที่มีอยู่แล้วยังหาพอเพียงแก่การไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎมณเฑียรบาลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
มาตรา 1 ผู้ใดรับหญิงนครโสภณี ฤาหญิงแพศยาหาเลี้ยงชีพโดยทางบำรุงกามเข้ามาร่วมสังวาศกันภายในเขตร์พระราชสำนักแห่งใด ๆ ท่านว่ามันประพฤติละเมิดพระราชอาญาโดยอาการอันลามก ให้ลงพระราชอาญาทั้งชายแลหญิงผู้ประพฤติทุราจารนั้น มีระวางโทษจำขังไม่เกินคนละ 1 ปี
มาตรา 2 ผู้ใดรู้เห็นเปนใจในความประพฤติทุราจารเช่นนี้ ถ้ามันเปนเจ้าของห้อง ท่านว่ามันมีความผิด เสมอตัวการ ต้องระวางโทษจำขับไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้ามันมิใช่เจ้าของห้อง ให้ลงพระราชอาญาเพียงกึ่ง 1 แห่งพระราชอาญาที่ตัวการได้รับ
ประกาศมา ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พระพุทธศักราช 2458 เปนวันที่ 1653 ในราชกาลปัตยุบันนี้
พระราชกฤษฎีกา
ว่าด้วยพระราชวงศ์ แลผู้มีบรรดาศักดิ์
ทำลายชีพตนเอง(1)
ศุภมัสดุพระพุทธศาสนกาล เปนอดีตภาค ๒๔๕๘ พรรษา ปัตยุบันสมัยกุมภาพันธมาศ สัตตวีสติมสุรทิน อาทิตย์วาร โดยกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมตวงศ์ อติศัยพงศวิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนาถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ เบื้องอุตรภาคแห่งท้องพระโรงในค่ายหลวง ตำบลบ้านโป่ง มณฑลราชบุรี พร้อมด้วยเสนาบดีมหาอำมาตย์ราชเสวก แลนายเสือป่า มีอาทิ คือ มหาอำมาตย์เอก (นายกองตรี) เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ๑ มหาเสวกเอก (นายพลตรี นายพลเสือป่า) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีเสนาบดีกระทรวงวัง ๑ จางวางเอก (นายพลเสือป่า) พระยาบุรุษยรัตนราชพัลลภ อธิบดีกรมชาวที่ ๑ จางวางโท (นายพลตรี นายพลเสือป่า) พระยาประสิทธิ์ศุภการ อธิบดีกรมมหาดเล็ก ผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์ ๑ พระตำรวจโท (นายกองตรี) พระยาราชวัลภานุศิษฐ สมุหพระตำรวจ ๑ นายพลโท พระยาเทพอรชุน สมุหราชองครักษ์ ๑ มหาเสวกโท พระยาศรีสุนทรโวหาร ผู้ช่วยราชเลขานุการ ๑ มหาเสวกโท พระยาศรีวรวงษ์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงมุรธาธร ๑ มหาเสวกตรี พระยาบำเรอภักดิ์ สมุหพระราชมณเฑียร ๑ นายหมวดเอก เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก ราชองครักษ์เสือป่า ๑ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทราชบริพารฝ่ายทหาร พลเรือน แลเสือป่า นอกนี้มีเปนเอนกคณนา ห้อมล้อมฝ่าพระบาทยุคลบทมาลย์ ปริหารพระราชอิศริยยศ โดยกำหนดฐานันดร
จึ่งมีพระบรมราชโองการมานพระสุรสิงหนาทดำรัสเหนื อเกล้า ฯ ว่าได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท ตามรายงานกระทรวงกระลาโหมว่านายพันตรีหลวงโลหะอาวุธ (หม่อมราชวงษ์ชวน ทินกร ณ กรุงเทพ) สมุหบาญชีกรมแสงสรรพยุทธ ซึ่งเปนผู้มีพิรุธในเรื่องที่เงินในกรมแสงสรรพยุทธหายนั้น ได้ทำลายชีพตนเองในที่คุมขัง ทรงพระราชดำริว่า อันการปลงชีพตนเองเช่นนี้ย่อมไม่เปนที่นิยม ทั้งในพระพุทธศาสนา แลอาณาจักร และโลก คือ ในทางพระพุทธศาสนาย่อมถือว่าเปนอัตตะวินิบาต ในทางอาณาจักรก็ถือว่าเปนอันทำลายชีวิตมนุษย์ผู้หนึ่งเหมือนกัน แลในทางโลกนับว่าเปนคนวิปริตผิดธรรมดา จึ่งเปนกรรมอันพระราชวงศ์ แลข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์ไม่พึงประพฤติ เมื่อผู้ใดประพฤติกรรมอันลามกเห็นปานชนี้แล้ว ผู้นั้นย่อมเปนผู้มีความผิด หาควรจะได้รับเกียรติยศอย่างหนึ่งอย่างใดในทางราชการไม่ เพราะฉะนั้น อย่าให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องประดับเกียรติยศพระราชทานสำหรับศพนายพันตรีหลวงโลหะอาวุธ (หม่อมราชวงษ์ชวน ทินกร ณ กรุงเทพ) เลย
อนึ่ง ต่อไปเมื่อน่าถ้าผู้หนึ่งผู้ใดในราชตระกูลก็ดี ข้าราชการผู้มียศบรรดาศักดิ์ก็ดี ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการปลงชีวิตตนเองไซร้ ห้ามมิให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องประดับเกีย รติยศศพพระราชทานเปนอันขาด
ให้เสนาบดีวังเปนน่าที่รักษาพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีกา
ว่าด้วยการไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก(1)
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ตามความนิยมที่เคยมีเปนพระราชประเพณีมาแต่ก่อน ๆ ถ้ามีเหตุพระบรมวงษานุวงษ์พระองค์หนึ่งพระองค์ใดสิ้นพระชนม์ลง ในพระราชสำนักได้ไว้ทุกข์เปนการแสดงความเคารพถวายแด่ผู้ที่สิ้นพระชนม์ บางพระองค์มีกำหนดถึง 100 วันเศษ หรือบางพระองค์ก็น้อยกว่านั้นบ้าง บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในสมัยนี้มีราชการแผ่นดินเปลี่ยนแปลงเจริญรุ่งเรืองขึ้น จำเปนจะต้องแก้ไขพระราชประเพณีไว้ทุกข์ให้เหมาะแก่กาลสมัย เพื่อให้เปนการสะดวกแก่ราชการที่ควรจะต้องจัดต้องประพฤติต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราเปนพระราชกฤษฎีกาให้เปนแบบฉบับสำหรับราชการตั้งแต่นี้ต่อไป ให้พระบรมวงษานุวงษ์และข้าราชการในพระราชสำนัก นับทั้งราชองครักษ์ด้วยมีกำหนดที่จะไว้ทุกข์ในเวลามีเหตุเมื่อพระบรมวงษานุวงษ์สิ้นพระชนม์ลง เปนกำหนดดังต่อไปนี้
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ 4 เดือน
พระเจ้าลูกยาเธอ 2 เดือน
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ 2 เดือน
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ 2 เดือน
พระเจ้าพี่ยาเธอ 1 เดือน
พระเจ้าน้องยาเธอ 1 เดือน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอทุกชั้น 1 เดือน
พระเจ้าบรมวงษ์เธอทุกชั้น 15 วัน
นอกจากนี้ พระบรมวงษานุวงษ์ที่นับเนื่องตามฐานว่าเปนพระญาติใกล้ชิด จะทรงไว้ทุกข์เพิ่มเติมส่วนพระองค์อย่างบุคคลสามัญให้ซึ่งกันและกันอีกช้านานไปเท่าใด ย่อมไม่มีข้อห้าม
พระราชกฤษฎีกานี้ ให้ถือว่าเปนระเบียบสำหรับไว้ทุกข์แต่เฉพาะพระบรมวงษานุวงษ์เพียงที่กำหนดพระเกียรติยศไว้ข้างต้นเท่านั้น และถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มวันขึ้นถวายเปนพระเกียรติยศพิเศษในคราวใดก็ได้ ตามแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร จะไม่เปนการขัดขวางแก่พระราชกฤษฎีกานี้โดยอย่างหนึ่งอย่างใด
พระบรมราชโองการดำรัสสั่งแต่วันที่ 22 สิงหาคม พระพุทธศักราช 2456 เปนวันที่ 1016 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
พระราชกฤษฎีกา
ว่าด้วยที่ระโหฐานในพระราชสำนัก(1)
พระราชปรารภ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า แต่โบราณมาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมิได้เคยต้องทรงกำหนดเขตพระราชฐานบางตอนว่า ที่นั้น ๆ เพียงนั้น ๆ เปนที่ระโหฐาน คือ เปนที่ซึ่งผู้ใดจะเข้าไปมิได้นอกจากได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต หรือมีพระราชดำรัสเรียกเข้าไปโดยเฉพาะที่ไม่ได้เคยต้องทรงขีดเส้นเช่นนี้ เพราะประการหนึ่ง คนทั่วไปย่อมมีความเกรงกลัวพระราชอาญา ไม่กล้าเข้าไปในพระบรมมหาราชวังโดยพลการตนเองเลย และมิได้เคยคิดหรือฝันไปอย่างอื่นนอกจากว่าพระราชวังย่อมเปนที่ระโหฐานโดยแท้ทั่วทุกแห่ง อีกประการหนึ่งข้าราชการยังมีจำนวนน้อยจึงได้รู้ขนบธรรมเนียมและรู้พระราชนิยมอยู่ทั่วกันเปนอันไม่มีผู้ใดฝ่าฝืนพระราชนิยมในเรื่องที่ระโหฐานนั้นเลย
ต่อมาเกิดมีข้าราชการบางจำพวก ซึ่งมีความคิดความเห็นเปนอย่างที่ตนเองเข้าใจว่าเปนอย่างใหม่ สำคัญคิดว่าตนมีวิชาความรู้ดีกว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายายของตน คนจำพวกนี้ดูเหมือนจะเข้าใจไปเสียว่า พระราชวังเปนสาธารณสถาน คือ เปนที่ใครจะไปจะมาเมื่อใด ๆ ก็ได้ตามใจ และโดยความทะเยอทะยานของตนที่จะเสมอหน้ากับคนอื่น เห็นใครเข้าได้ถึงไหนก็จะเข้าไปถึงบ้าง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน โดยทรงพระมหากรุณาแก่ข้าราชการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าได้โดยเสมอหน้ากัน อย่างมากที่สุดที่จะพึงจัดให้เปนไปได้ แต่ถ้าแม้ว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการทุกคนเฝ้าได้ทุกแห่งไปก็เปนการฟั่นเฝือเหลือเกิน และสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็จะไม่ทรงมีเวลาที่จะทรงพระราชสำราญโปร่งพระราชหฤทัยได้บ้างเลย จึงต้องมีกำหนดขีดขั้นว่าที่นั้น ๆ เพียงนั้น ๆ เปนที่ระโหฐาน หรือเรียกตามศัพท์ที่เข้าใจกันอยู่โดยมากว่าเปนข้างในในที่เช่นนี้ ในชั้นต้นมีกำหนดเข้าใจกันอยู่ว่า เฉพาะข้าราชการในพระราชสำนักเท่านั้นจึงจะเข้าไปได้ ครั้นต่อมาข้าราชการมีจำนวนมากขึ้น ความรู้ในขนบธรรมเนียมและพระราชนิยมก็ไม่มีทั่วถึงกัน จึงเกิดมีความเข้าใจผิดไปได้ต่าง ๆ เช่น เห็นข้าราชการในพระราชสำนักเข้าเฝ้าในที่ระโหฐานได้ก็มีจิตริษยา เห็นเปนว่าพวกข้าราชการเหล่านี้ได้เปรียบตน หาคิดไม่ว่าการที่ข้าราชการในพระราชสำนัก เข้าไปในที่ระโหฐานได้นั้นเพราะเขาเปนผู้มีหน้าที่เช่นนั้น กลับคิดเห็นไขว้เขวไปต่าง ๆ เมื่อความคิดเขวกันไปได้เพียงนี้แล้ว
ก็ทำให้เกิดระแวงสงสัยพวกข้าราชการในพระราชสำนักอยู่เปนเนืองนิจ ใช่แต่เท่านั้น มิหนำซ้ำเมื่อพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชดำรัสอนุญาตให้ผู้ใดเข้าเฝ้าได้ในที่ระโหฐานก็พลอยระแวงสงสัยผู้นั้นไปด้วย ที่เปนไปทั้งนี้ก็เพื่อความทะเยอทะยานแล้วจึงเลยเปนเหตุให้ริษยา และคอยมองหาช่องหาทางที่จะเข้าใกล้ชิดพระองค์บ้างเนือง ๆ โดยความเข้าใจผิดเช่นนี้ เมื่อมีอะไรเปนรูปสโมสรหรือสมาคมอันใดขึ้น ถ้าแม้ว่ามีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอยู่ในนั้น ก็คงจะไม่พ้นความรำคาญต่าง ๆ มีข้อสำคัญอยู่เปนสองสถาน คือ สถานหนึ่ง จะมีผู้ที่ทะเยอทะยานอยากเข้าเปนสมาชิก โดยความหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์ในส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง และถ้าไม่ได้เข้าก็คงจะมีความโทมนัสและพูดจาหาความ
ต่าง ๆ อีกสถานหนึ่ง จะมีผู้ที่ช่างคิดมาก คิดเห็นการเปนสลักสำคัญใหญ่โตเกินไปกว่าที่เปนอยู่จริง เพราะฉะนั้นสโมสรหรือสมาคมที่จะตั้งขึ้นเพื่อบำรุงพระราชสำราญก็กลายเปนเครื่องนำมาซึ่งความรำคาญพระราชหฤทัย
แต่ความจำเปนในส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีอยู่บ้าง คือ เมื่อเปนเวลาที่ว่างพระราชกิจแล้ว ก็ย่อมจะมีพระราชประสงค์ที่ทรงพระสำราญอย่างสามัญชนบ้าง และต้องมีเวลาที่ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ข้าราชการบางคนได้เข้าเฝ้าบ้างโดยไม่เกี่ยวแก่ทางหน้าที่ราชการ แต่เพื่อมิให้ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นเพราะไม่รู้ความจริงดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงทรงพระราชดำริเห็นสมควรประกาศอธิบายประเพณีเดิมให้ทราบไว้ กล่าวคือ กำหนดที่ในพระราชสำนักเปนที่ระโหฐาน แต่คำว่าระโหฐานนี้ก็มีคนเข้าใจน้อยลงทุกทีแล้ว เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกฤษฎีกาไว้ดังต่อไปนี้
พระราชกฤษฎีกา
ข้อ 1 ที่ระโหฐาน แปลว่า ที่ลับลี้ ที่เงียบ จึงเปนที่สำราญ และผู้คนไม่พลุกพล่าน
ข้อ 2 พระราชวังทุกแห่ง สวนหลวงหรือที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐาน ให้ถือว่าเปนที่ระโหฐานทั่วไป ถึงวังเจ้านายหรือบ้านข้าราชการ ตลอดจนถึงบ้านราษฎรก็ย่อมเปนที่ระโหฐานแห่งเจ้าของ
ข้อ 3 เมื่อกำหนดลงว่าพระราชวังและสวนหลวง หรือที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐาน เปนที่ระโหฐานทั่วไปเช่นนี้แล้ว ก็ต้องพึงเข้าใจต่อไปว่าบรรดาสถานที่ ตึกรามทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปนที่ระโหฐานทุกแห่งไปไม่ว่าหลังใดแห่งใด ถึงแม้ตึกรามที่ใช้เปนที่ทำการของกระทรวงใด กรมใดก็ดี ถ้าอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวังแล้วก็ต้องนับว่าเปนที่ระโหฐานทั้งสิ้น และต้องถือว่ากระทรวงและกรมนั้น ๆ มาอาศัยที่ภายในพระราชวังเพื่อเปนที่ทำการเท่านั้นจะถือว่าเปนสาธารณสถานไม่ได้เปนอันขาด
ข้อ 4 เมื่อพระราชวังและสวนหลวง หรือที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐานเปนที่ระโหฐานเช่นนี้แล้ว ก็ต้องพึงเข้าใจว่า การที่ผู้ใดจะเข้าออกก็ได้แต่ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าของบ้านเท่านั้น ผู้ใดจะถือว่าตนมีอำนาจอันชอบธรรมที่จะเดินเข้าออกได้ตามอำเภอใจไม่ได้เปนอันขาด ต้องเข้าใจว่าจะเดินเข้าออกที่บ้านสามัญชนตามอำเภอใจไม่ได้ฉันใด ก็เข้าออกที่พระราชวังไม่ได้ฉันนั้น
ข้อ 5 ตามที่กล่าวไว้แล้วในข้อ 3 ที่ทำการของกระทรวงบางกระทรวงในเวลานี้ยังตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงพระบรมมหาราชวัง ที่ไปตั้งอยู่เช่นนี้ก็เปนเพราะแต่ที่กระทรวงหนึ่ง ๆ ก็เหมือนส่วนหนึ่ง ๆ แห่งการในพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน เจ้ากระทรวงก็เปนคนใช้ของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งได้รับมอบให้ดูแลคนใช้อื่น ๆ การงานใด ๆ ก็มาทำอยู่ใกล้ ๆ เพื่อสะดวกแก่พระเจ้าแผ่นดินประเพณีอันนี้ใช้กันเรื่อย ๆ มา แต่ระเบียบราชการเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อยข้าราชการมีจำนวนมากขึ้น แต่มีความรู้สึกว่าเปนข้าพระเจ้าแผ่นดินนั้นน้อยลงจึงเข้าใจผิดไปว่าที่ทำการเปนสาธารณสถานอันหนึ่ง เลยเหมาเอาพระราชวังเปนสาธารณสถานไปด้วย ความเข้าใจอันนี้ผิดโดยแท้ พระเจ้าแผ่นดินยังทรงมีอำนาจอันชอบธรรมเต็มที่ ๆ จะทรงกำหนดอนุญาตหรือห้ามผู้ใด ๆ มิให้เข้าในพระบรมมหาราชวัง หรือแม้จะทรงห้ามทั่วไปก็ได้ แต่ถ้าแม้จะทรงห้ามเช่นนั้นก็อาจที่จะเปนทางเสียราชการได้เพราะฉะนั้นจึงต้องทรงวางเปนกำหนดไว้ดังนี้ คือ
(ก) ตลอดเวลาที่ ๆ ทำการของกระทรวงหรือกรมในราชการแผ่นดินยังคงต้องตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ให้เสนาบดีกระทรวงวังจัดการผ่อนผันในเรื่องคนเข้าออก เฉพาะในส่วนที่จำเปนต้องไปทำการในสถานที่นั้น เพื่อมิให้เสีย ราชการ แต่ว่า
(ข) ต้องให้เปนที่เข้าใจกันชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับผ่อนผันเช่นนี้จะถือว่าเปนผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต หรือว่ามีอำนาจอันชอบธรรมที่จะเข้าออกในพระบรมมหาราชวังตอนอื่น ๆ และสวนหลวง หรือที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐานทั่วไปไม่ได้ คือต้องเข้าใจว่าการที่อนุญาตให้เข้าไปทำการในพระบรมมหาราชวังไม่ใช่แปลว่าอนุญาตให้เข้าที่ระโหฐานของพระเจ้าแผ่นดินได้ทั่วไป
ข้อ 6 สถานที่ ตึก เรือน โรงใด ถึงแม้ว่าดูประหนึ่งว่าเปนสโมสรสถานหรือสมาคมก็ดี ถ้าแม้ว่าอยู่ภายในเขตพระราชวังและสวนหลวงหรือที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐานแล้ว ต้องพึงเข้าใจว่าเปนที่ระโหฐานทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นข้าราชการผู้ใด ๆ จะหวังเข้าเปนสมาชิกใช้สถานที่เช่นนั้นไม่ได้เปนอันขาด เว้นเสียแต่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปนพิเศษเฉพาะบุคคล หรือจะมีพระราชดำรัสให้หาเข้าไปในที่นั้น จึงจะเข้าไปได้จะถือว่าเหมือนอย่างสมาคมหรือสโมสรอย่างที่ตั้งอยู่ภายนอกเขตพระราชวังและสวนหลวง หรือที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐานไม่ได้เปนอันขาด การที่ข้าราชการในพระราชสำนักหรือนอกพระราชสำนักบางคน จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้สถานที่เช่นกล่าวมาแล้วนั้น โดยอาการคล้ายเปนสโมสรไม่เปนพยานว่าใคร ๆ ก็มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะใช้สถานที่นั้นได้เท่ากัน เพราะสถานที่อันนั้นอยู่ในที่ระโหฐาน หรือใช้ตามศัพท์สามัญว่า อยู่ในบ้านโดยแท้ และการที่ผู้ใด ๆ จะเข้าออกในบ้านใดก็แล้วแต่ความพอใจแห่งเจ้าของบ้านเท่านั้น
พระราชกฤษฎีกาอันนี้ ให้เปนหน้าที่เสนาบดีกระทรวงวัง สมุหราชองครักษ์ และสมุหพระตำรวจ จะรักษาให้เปนไปโดยเรียบร้อย และถ้าแม้มีผู้ใดเคลือบแคลงสงสัยหรือเข้าใจข้อความผิดเพี้ยนไป ก็ให้เปนหน้าที่ชี้แจงให้เข้าใจ
พระบรมราชโองการดำรัสสั่งตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 131 เปนวันที่ 588 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
กฎมณเฑียรบาล
ว่าด้วยการค้าขายและการสมาคมแห่งข้าราชการ
ในพระราชสำนัก
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาล เปนอดีตภาค 2457 พรรษาพฤษภาคมมาศ เอกติงสติมสุรทิน อาทิจจวาร โดยกาลนิยม
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงษ์ อดิศัยพงษวิมลรัตน์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถ บพิตร์พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า
การที่ข้าราชการในพระราชสำนักประกอบกิจในทางค้าขายเพื่อแสวงประโยชน์ นอกเหนือผลแห่งราชการ ซึ่งกระทำอยู่แล้วตามหน้าที่นั้น ย่อมเปนทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายได้โดยเอนกประการ สมควรจะตราบัญญัติแสดงพระราชนิยมไว้ เพื่อให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่นับว่าเปนผู้ปฏิบัติราชการในที่ใกล้ชิดพระองค์ทราบไว้ทั่วกัน
ก็วิสัยมนุษย์ที่ทำการงานใด ๆ ทั้งสิ้น ธรรมดาบังคับว่าต้องมีเวลาพักผ่อน ผู้ที่เปนข้าราชการนั้นก็ย่อมมีราชกิจเปนกังวลที่ควรปฏิบัติโดยเต็มสติกำลังและความสามารถอยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาที่เสร็จราชการชั่ววันหนึ่ง ๆ ก็ได้กลับสู่เคหะสถานบ้านเรือน อันเปนเวลาที่ทรงพระกรุณาให้พักผ่อนร่างกายเพื่อบำรุงกำลังและความคิด เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ราชการของตนในวันหน้า ก็เมื่อข้าราชการผู้ใดเอาเวลาซึ่งควรจะพักผ่อนนั้นไปทำการงานอย่างอื่น เพื่อประโยชน์พิเศษของตนเช่นนี้แล้วผู้นั้นก็จำจะต้องกลับใช้เวลาซึ่งควรประกอบราชกิจตามหน้าที่นั้น สำหรับพักผ่อนเปนธรรมดา นับว่าเปนการเอาเปรียบไม่สมควรแก่ผู้ที่เปนข้าราชการเลย อนึ่ง พระราชประสงค์อันเปนข้อใหญ่ในการที่ทรงพระมหากรุณาพระราชทานเบี้ยบำนาญเลี้ยงชีพนั้นก็ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า ข้าทูลละอองธุลีพระบาทมีหน้าที่ต้องรับราชการเต็มกำลังและเวลา ไม่มีโอกาสที่จะสะสมทรัพย์สมบัติไว้เลี้ยงตนเมื่อแก่ชราทุพลภาพ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานเงินเลี้ยงชีพแก่ผู้ที่มีความชอบและเหน็ดเหนื่อย ทั้งนี้ ก็เสมอว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสะสมทรัพย์สมบัติไว้ให้แก่ราชการ เพื่อเลี้ยงตนและครอบครัวในเวลาที่มิสามารถจะหาผลประโยชน์ใด ๆ อื่นได้ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทควรระลึกถึงพระมหากรุณาข้อนี้แล้ว และตั้งหน้าปฏิบัติราชการโดยสุดกำลังจริง ๆ ไม่สมควรจะเอาเวลาซึ่งควรจะให้เปนประโยชน์แก่ราชการไปใช้ในการแสวงผลประโยชน์ส่วนตัวให้นอกเหนือออกไปอีก แต่ครั้นจะทรงห้ามมิให้ข้าราชการในพระราชสำนักแสวงผลใด ๆ นอกจากผลแห่งราชการเสียทีเดียว ก็ยังทรงพระกรุณาอยู่ว่าเปนการรุนแรงเกินกว่าเหตุไป เพราะทางหาผลประโยชน์บางอย่าง ที่ไม่เปนการเสื่อมเสียแก่ราชการและเกียรติยศก็มีอยู่บ้าง ทั้งข้าราชการนอกพระราชสำนักก็ประกอบการหาเลี้ยงชีพในทางค้าขายมีอยู่หลายราย จะทรงห้ามแต่ข้าราชการในพระราชสำนักจำพวกเดียว ก็จะเปนการเสียเปรียบเกินไป แต่ครั้นจะไม่มีข้อบัญญัติไว้เสียเลยในเรื่องนี้ ก็มีทางที่จะเสื่อมเสีย ทั้งประโยชน์ส่วนตัวแห่งข้าราชการผู้นั้นเองและประโยชน์แห่งราชการได้โดยเอนกบรรยาย และเมื่อข้าราชการในพระราชสำนักผู้ใดไปมีเหตุเสียหายด้วยประการใด ๆ ในการค้าขายเข้าแล้ว เหตุนี้ย่อมกระทบกระเทือนถึงพระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเปนที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้ โดยเหตุผลซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชปรารภปรากฏโดยแจ่มแจ้งชัดเจนในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช 2457 นั้นแล้ว
อนึ่ง การคบหาสมาคมของข้าราชการในพระราชสำนักก็เป็ นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้ามิเปนไปโดยชอบแล้ว จะเปนโทษแก่ตน ซ้ำจะมีผลอันอาจเปนเหตุให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้ด้วย โดยมูลดุจเดียวกัน สมควรจะมีบัญญัติสกัดกั้นทางที่จะนำสู่ความเสียหายไว้บ้าง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ศรีรัตนมณเฑียรบาล บรม ราโชประการกิจจาภิรมย์ สรรโพดมราชธุรานุประดิษฐ์ธรรมสุจริตวิบุลย์ มาลากุลวิวัฒน์ บำรุงรัตนราชประเพณี นิตยภักดีนฤปนารถอันเตปุริกามาตย์มหานายก อรรคเสวกนนทิพาหมุรธาธร กิติขจรเสนาบดี ศรีรัตนไตรสรณธาดา อุดมอาชวาธยาไศรย อภัยพิริยบรากรมพาหุ เสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ประกาศกฎ มณเฑียรบาลว่าด้วยการค้าขายและการสมาคมแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก ดังต่อไปนี้
หมวดที่ 1
ว่าด้วยนามและลักษณะใช้กฎมณเฑียรบาลนี้
มาตรา 1 กฎนี้ให้เรียกว่า “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการค้าขายและการสมาคมแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช 2457”
มาตรา 2(1) กฎมณเฑียรบาลนี้ ให้เริ่มใช้แต่วันที่ 1 กันยายน พระพุทธศักราช 2457 เปนต้นไป
มาตรา 3 บรรดากฎข้อบังคับซึ่งมีอยู่แล้วสำหรับพระราชสำนักข้อใดที่ขัดกับข้อความในกฎนี้ให้ยกเลิก
มาตรา 4 ต่อไปภายหน้า ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อใดข้อหนึ่งในกฎนี้ และเสนาบดีกระทรวงวังได้ประกาศโฆษณาแก่ข้าราชการในพระราชสำนักทราบทั่วกันแล้ว ให้นับว่าข้อที่แก้ไขหรือเพิ่มเติมใหม่นั้น เปนส่วนหนึ่งแห่งกฎนี้
หมวดที่ 2
ว่าด้วยผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎนี้
มาตรา 5 ผู้ที่นับว่าอยู่ในกฎนี้และจำเปนต้องปฏิบัติตามกฎนี้ คือ บรรดาข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่รับราชการอยู่ในกระทรวงวังและกรม กองต่าง ๆ ซึ่งนับว่ารวมอยู่ในพระราชสำนักตามที่ได้ระบุไว้โดยละเอียดในมาตรา 5 แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช 2457
มาตรา 6 ผู้ที่อยู่ในกฎนี้ ให้พึงเข้าใจว่าเปนแต่ผู้ที่รับราชการประจำและผู้ที่เปนกองหนุนเท่านั้น ผู้ที่นอกราชการหรือซึ่งได้ย้ายไปรับราชการอยู่ในกระทรวงทบวง การอื่นแล้ว ไม่นับว่าอยู่ในกฎนี้
หมวดที่ 3
คำอธิบายในกฎนี้
มาตรา 7 1) คำว่า “เสนาบดี” “ข้าราชการ” “ผู้บังคับบัญชาโดยตรง” “ผู้บังคับบัญชาสูงสุด” “เจ้าพนักงาน” เหล่านี้ ท่านให้พึงเข้าใจความตามมาตรา 7 แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช 2457 นั้น ทุกประการ
2) คำว่า “การค้าขาย” ท่านให้เข้าใจว่า การลงทุนด้วยสินทรัพย์ก็ดีหรือด้วยกำลังหรือความคิดก็ดี หรือด้วยชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณก็ดี เพื่อประสงค์ประโยชน์นอกเหนือจากที่ได้รับพระราชทานอยู่ในหน้าที่ราชการโดยตรง
3) คำว่า “ห้างหุ้นส่วน” ท่านให้เข้าใจว่า การซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปปรองดองเข้ากันทำกิจการรวมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไร ซึ่งจะพึงได้มาแต่การนั้น
4) คำว่า “บริษัท” ท่านให้พึงเข้าใจว่า การเข้าหุ้นส่วนกันค้าขายมีต้นทุนจัดแบ่งออกเปนหุ้นมีมูลค่าเท่ากัน ผู้ถือหุ้นต่างคนต่างจำต้องออกสินใช้หนี้โดยจำกัดแต่เพียงค่าหุ้นที่ตนถือตามจำนวนมากและน้อย หรือโดยไม่มีจำกัด
5) คำว่า “สโมสรหรือสมาคม” ท่านให้พึงเข้าใจว่า คณะคนที่มารวมกันเข้าเพื่อกระทำความมุ่งหมายแห่งคณะนั้นให้สำเร็จ ความมุ่งหมายนี้ต้องชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
6) คำว่า “ร้านการเล่น” ท่านให้เข้าใจว่าสถานที่ใด ๆ ซึ่งเจ้าของจัดให้มีการเล่นไม่ว่าชนิดใด ด้วยความมุ่งหมายให้คนอื่นมาเล่นโดยเก็บเงินหรือประโยชน์อื่นจากผู้ที่เล่น หรือด้วยความมุ่งหมายให้เล่นเปนการพนันดังนี้ เช่น โรงบิลเลียด เปนต้น
การเล่นโดยลักษณะที่กล่าวนี้ แม้จัดขึ้นในเคหะสถานบ้านเรือนตนเองก็ดี ท่านให้ฟังว่าเปนร้านการเล่นตามความแห่งกฎนี้
หมวดที่ 4
ว่าด้วยการจดทะเบียน
มาตรา 8 ให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกรมต่าง ๆ จัดเจ้าพนักงานไว้เปนผู้ถือทะเบียนอนุญาตให้ข้าราชการในบังคับบัญชาของตนทำการค้าขายประเภทหนึ่งให้เข้าเปนสมาชิกแห่งสมาคมประเภทหนึ่ง กล่าวคือ ให้มีที่กระทรวงวังแห่งหนึ่งที่ทำการสภาจางวางมหาดเล็กแห่งหนึ่ง ที่กรมราชเลขานุการแห่งหนึ่ง ที่กรมพระคลังข้างที่แห่งหนึ่ง กับให้เสนาบดีจัดตั้งเจ้าพนักงานไว้คนหนึ่งเปนนายทะเบียนใหญ่สำหรับพระราชสำนักทั่วไป
มาตรา 9 ในสมุดทะเบียนอนุญาตให้ทำการค้าขายนั้น ให้มีรายการดังต่อไปนี้
1 ยศ บรรดาศักดิ์
2 นามเดิม
3 นามสกุล
4 ตำแหน่งราชการ
5 อายุปีเกิด
6 ลักษณะของการค้าขายที่ทำ
7 ถ้าเปนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ใครเปนผู้จัดการ ใครเปนกรรมการ
8 สำนักงานที่ทำ
มาตรา 10 ในสมุดทะเบียนอนุญาตให้เปนสมาชิกแห่งสมาคมนั้นให้มีรายการดังต่อไปนี้
1 ยศ บรรดาศักดิ์
2 นามเดิม
3 นามสกุล
4 ตำแหน่งราชการ
5 อา ยุปีเกิด
6 ความมุ่งหมายของสมาคม
7 ใครเปนนายกและกรรมการ
8 สำนักของสมาคม
มาตรา 11 บทกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งบังคับไว้ด้วยหน้าที่เจ้าพนักงานทะเบียนนั้นท่านให้พึงอนุโลมใช้ได้แก่หน้าที่เจ้าพนักงานทะเบียนในกฎนี้ตามที่ควรแก่บทนั้น ๆ
มาตรา 12 บรรดาข้าราชการซึ่งทำการค้าขายอยู่แล้วก่อนประกาศใช้กฎนี้ ต้องรีบขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตน และจดทะเบียนที่เจ้าพนักงานสำหรับกรมที่ตนสังกัดขึ้นอยู่ภายในวันเวลา ซึ่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดจะกำหนดให้
มาตรา 13 ผู้ที่ยังไม่ได้ทำการค้าขายอย่างใดเลย เมื่อขณะที่ประกาศใช้กฎนี้ ถ้าต่อไปเมื่อหน้ามีความประสงค์ที่จะทำการค้าขาย ท่านให้จัดการขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาสูงสุด และจดทะเบียนที่กรมสังกัดแล้ว จึงจะทำการค้าขายนั้นได้
มาตรา 14 การเข้าห้างหุ้นส่วนใด ๆ ก็ดี การจับจองหุ้นของบริษัทใด ๆ ก็ดี ท่านให้ฟังว่าเปน การทำการค้าขายตามความในมาตรา 12 และมาตรา 13แห่งกฎนี้
มาตรา 15 ภรรยาข้าราชการในพระราชสำนักกระทำการค้าขายโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว ท่านให้ฟังว่าตัวข้าราชการนั้นเองเปนผู้ค้าขาย เพราะสามีภริยากันท่านว่าย่อมเปนทุนเดียวกันหรือได้รับประโยชน์ด้วยกัน
มาตรา 16 ผู้ใดที่มีความประสงค์จะเข้าเปนสมาชิกแห่งสโมสรหรือสมาคมใด ๆ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดและจดทะเบียนที่กรมตนสังกัดเสียก่อนแล้วจึงเข้าได้
มาตรา 17 ผู้ที่เปนสมาชิกแห่งสโมสรหรือสมาคมใดอยู่แล้วก่อนประกาศใช้กฎนี้ ต้องรีบขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตนและจดทะเบียนที่เจ้าพนักงานสำหรับกรมที่ตนสังกัดภายในวันเวลา ซึ่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดจะกำหนดให้
มาตรา 18 ห้ามมิให้ข้าราชการในพระราชสำนักตั้งร้านการเล่นอย่างใด ๆ เปนอันขาด นอกจากได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต
มาตรา 19 ผู้ใดที่ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าขาย หรือเข้าสมาคมใด ๆ และได้จดทะเบียนแล้ว ถ้ามีเหตุเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือทำการต่างลักษณะไปกับที่ทำอยู่แล้ว หรือเข้าสมาคมอื่นอีก ท่านบังคับว่าต้องได้รับอนุญาตและจดทะเบียนใหม่แล้วจึงทำได้
หมวดที่ 5
ว่าด้วยการขออนุญาตและการให้อนุญาต
มาตรา 20 การขออนุญาตให้ทำเปนหนังสือยื่นต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตนเพื่อนำเสนอเปนลำดับ และถ้าเมื่อใบอนุญาตยังไม่ตกมา ห้ามมิให้ไปทำการค้าขาย หรือเปนสมาชิกแห่งสมาคมใดเปนอันขาด
มาตรา 21 ในหนังสือขอใบอนุญาตทำการค้าขาย ให้มีข้อความละเอียด คือ
1 ยศ บรรดาศักดิ์
2 นามเดิม
3 นามสกุล
4 ตำแหน่งราชการ
5 อายุปีเกิด
6 รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละเท่าใด
7 ได้รับผลประโยชน์นอกจากทางราชการอย่างใดบ้าง
8 ลักษณะของการค้าขายที่จะทำและสำนักงาน
9 ใครเปนผู้จัดการค้าขายนั้น ถ้าเปนห้ างหุ้นส่วนหรือบริษัท ใครเปนผู้จัดการ ใครเปนกรรมการ มีทุนเท่าใด วิธีจัดการเปนอย่างไร
มาตรา 22 ในหนังสือขอใบอนุญาตเข้าสโมสรหรือสมาคม ให้มีข้อความละเอียด คือ
1 ยศ บรรดาศักดิ์
2 นามเดิม
3 นามสกุล
4 ตำแหน่งราชการ
5 อายุปีเกิด
6 รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละเท่าใด
7 ได้รับผลประโยชน์นอกจากทางราชการอย่างใดบ้าง
8 ความมุ่งหมายของสมาคมและสำนักแห่งสมาคม
9 ใครเปนหัวหน้า ใครเปนกรรมการและสมาชิก
มาตรา 23 ระเบียบการที่จะพึงปฏิบัตินอกจากที่กล่าวแล้ว ในเรื่องการขอและการให้อนุญาตนั้น ท่านให้พึงอนุโลมใช้ตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 30 และมาตรา 32 แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนักพระพุทธศักราช 2457 ตามควรแก่บทนั้น ๆ
มาตรา 24 ผู้มีหน้าที่จะอนุญาตนั้น เมื่อได้รับหนังสือขออนุญาตแล้วต้องพิจารณาให้เห็นชัดว่าผู้ขออนุญาตนั้น เปนผู้ที่สมควรรับอนุญาตแล้ว จึงค่อยอนุญาตในข้อควรมิควรให้ถือเอาพระราชนิยมเปนเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1 การค้าขายนั้นชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายและไม่เปนปรปักษ์กับลักษณะของผู้ที่เปนสัมมาจารี
2 การที่ผู้ขออนุญาตจะกระทำการค้าขายนั้นต้องไม่เสียประโยชน์แห่งราชการในหน้าที่
3 การค้าขายที่ทำนั้นไม่เกี่ยวข้องกับร้านหรือบริษัท ซึ่งสำหรับส่งของซึ่งจำเปนจะต้องใช้ในราชการแห่งกรม ซึ่ง ผู้ขออนุญาตรับราชการอยู่ และมีอำนาจที่จะสั่งของสำหรับใช้ในราชการแห่งกรมนั้นได้
4 ผู้ขออนุญาตเปนผู้ที่มีหลักฐานมั่นคงไม่เหลวไหล
5 ถ้าขออนุญาตไปเข้าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ๆ นั้น ๆ ต้องมีหลักฐานมั่นคงดำเนินตามหลักการค้าขายที่ชอบ
6 ถ้าเปนการขอเข้าสมาคม ๆ นั้นต้องมีความมุ่งหมายที่ชอบและเปนคุณแก่ผู้ที่ขออนุญาต
มาตรา 25 ผู้ใดที่ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าขายอยู่แล้ว เมื่อได้มารับราชการในหน้าที่ ซึ่งตนมีอำนาจที่จะสั่งของสำหรับใช้ในราชการจากร้านหรือบริษัทซึ่งตนมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ด้วยตามที่ว่าไว้ในข้อ 3 แห่งมาตรา 24 แล้ว ท่านว่าให้เลิกการค้าขายนั้นเสียเถิด
หมวดที่ 6
การลงทัณฑ์และกำหนดโทษสำหรับความผิด
มาตรา 26 การลงทัณฑ์และชั้นความผิด ท่านให้เทียบใช้แก่กฎนี้ตามที่บังคับไว้ในมาตรา 43 ถึงมาตรา 50 แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช 2457 นั้น ทุกประการ
มาตรา 27 ผู้ใดซึ่งทำการค้าขาย หรือเปนสมาชิกแห่งสโมสร สมาคมใด ๆ อยู่แล้วก่อนประกาศใช้กฎนี้ มิได้รีบขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุด และจดทะเบียนที่เจ้าพนักงานสำหรับกรมที่ตนสังกัดภายในกำหนดวันเวลาตามความในมาตรา 12 และมาตรา 16 แล้ว ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดชั้นมัธยมกรรม ต้องระวางโทษชั้นมัธยมทัณฑ์
มาตรา 28 ผู้ใดทำการค้าขาย หรือเข้าสโมสร สมาคมใด ๆ ภายหลังวันที่ประกาศใช้กฎนี้โดยมิได้รับอนุญาต ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดครุกรรมต้องระวางโทษชั้นครุทัณฑ์
มาตรา 29 ผู้ใดตั้งร้านการเล่น โดยมิได้รับ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามความในมาตรา 17 แล้ว ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดชั้นครุกรรม ต้องระวางโทษชั้นครุทัณฑ์
ผู้ใดไปสำนัก ณ สถานที่ซึ่งตั้งการเล่นนั้น ท่านให้ฟังว่าผู้นั้นสมรู้มีความผิด ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่ง
มาตรา 30 ผู้ใดกล่าวความไม่จริงหรือที่ไม่รู้จริงต่อเจ้าพนักงานหรือผู้บังคับบัญชาด้วยข้อใดข้อหนึ่งอันเนื่องด้วยกฎนี้ ในส่วนตนเองก็ดี หรือในส่วนข้าราชการผู้อื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นกล่าวเท็จ มีความผิดชั้นลหุกรรมหรือมัธยมกรรมต้องระวางโทษชั้นลหุทัณฑ์หรือมัธยมทัณฑ์ตามสมควรแก่เหตุผล
มาตรา 31 ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง และการที่กระทำนั้นเปนการละเมิดบทกฎมณเฑียรบาลนี้หลายบทด้วยกัน ท่านว่าให้ใช้บทที่มีทัณฑ์หนักลงโทษแก่ผู้นั้น
มาตรา 32 ผู้ใดกระทำความผิดหลายกระทง ท่านว่าผู้นั้นต้องมีโทษตามกระทงความผิดทุกระทง
มาตรา 33 ผู้ใดละเมิดกฎนี้ด้วยข้อใดข้อหนึ่ง และเมื่อได้พ้นโทษแล้วไปกระทำความผิดขึ้นอีก ท่านว่าผู้นั้นไม่ เข็ดหลาบ
ผู้ใดไม่เข็ดหลาบ ท่านว่าผู้นั้นต้องรับโทษเปนทวีคูณ
ประกาศมา ณ วันที่ 1 กันยายน พระพุทธศักราช 2457 เปนวันที่1391 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
กฎมณเฑียรบาลเพิ่มเติม
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า กฎมณเฑียรบาลที่มีอยู่แล้ว ยังหาพอเพียงแก่การไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎมณเฑียรบาลเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 ผู้ใดรับหญิงนครโสเภณี หรือหญิงแพศยาหาเลี้ยงชีพโดยทางบำรุงกาม เข้ามาร่วมสังวาศกันภายในเขตพระราชสำนักแห่งใด ๆ ท่านว่ามันประพฤติละเมิดพระราชอาญาโดยอาการอันลามกให้ลงพระราชอาญาทั้งชายและหญิงผู้ประพฤติทุราจารนั้น มีระวางโทษจำคุกไม่เกินคนละ 1 ปี
มาตรา 2 ผู้ใดรู้เห็นเปนใจในความประพฤติทุรจารเช่นนี้ ถ้าแลมันเปนเจ้าของห้อง ท่านว่ามันมีความผิดเสมอตัวการ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีแต่ถ้ามันมิใช่เจ้าของห้อง ให้ลงพระราชอาญาเพียงกึ่งหนึ่งแห่งพระราชอาญาที่ตัวการได้รับ
ประกาศมา ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พระพุทธศักราช 2458 เปนวันที่1653 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
กฎมณเฑียรบาล
ว่าด้วยข้าราชการในพระราชสำนักเพิ่มเติม
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลสำหรับข้าราชการในพระราชสำนักขึ้นไว้ ก็โดยพระราชประสงค์จะกวดขันความประพฤติของข้าราชการในพระราชสำนักให้งามดีในที่ทุกสถาน ทั้งให้มีการบังคับบัญชาในระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อยให้เปนระเบียบกันเพื่อผู้ใหญ่จะได้มีโอกาสตรวจตราความประพฤติของผู้น้อยได้ทั่วถึง แต่โดยเหตุที่ความนิยมของบุคคลบางคนบังเกิดมีขึ้นใหม่แปลกๆ กฎมณเฑียรบาลที่มีอยู่แล้วยังไม่เพียงพอจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังประกาศกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้เพิ่มเติมว่า
มาตรา 1 ตั้งแต่นี้ต่อไป ข้าราชการในพระราชสำนักผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พ.ศ. 2457ตามที่ได้บัญญัติไว้ในหมวดที่ 2 มาตรา 5 จะทำการโฆษณาประกาศข้อความอย่างใด ๆ ต่อสาธารณชน เช่น ลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์ หรือประกาศไว้ในที่แห่งใดก็ดี ก่อนที่จะทำเช่นนี้ ต้องนำความร้องเรียนขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชา เมื่อได้รับอนุญาตเปนลายลักษณ์อักษรแล้วผู้ขออนุญาตจึงจะนำความนั้นออกโฆษณาได้
มาตรา 2 ถ้าข้าราชการผู้ใดนำความที่ตนมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาออกโฆษณาให้มีโทษชั้นมัธยมทัณฑ์ ดังที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ 8 มาตรา 45(ข) แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พ.ศ. 2457นั้น
ประกาศมา ณ วันที่ 4 ตุลาคม พระพุทธศักราช 2458 เปนวันที่ 1789 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
[รก.2458/-/312/17 ตุลาคม 2458 ]
กฎมณเฑียรบาล
ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนักเพิ่มเติม
(ครั้งที่ 3)
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า ตั้งแต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนักขึ้นไว้แล้ว การครอบครัวเปนระเบียบเรียบร้อยดีขึ้นเปนลำดับมา บัดนี้ ทรงพระราชดำริว่าตามความในมาตรา 19 ข้อ 1 ซึ่งห้ามมิให้ชายนำหญิงที่ชายสมจรด้วยเปนครั้งเปนคราว หรือหญิงที่เรียกว่าเมียลับลงทะเบียนนั้น ความยังบกพร่องอยู่ เพราะบางที่ชายสมสู่กับหญิงจำพวกนี้จนมีบุตร แต่หญิงนั้นต้องด้วยลักษณะเมียลับที่จะจดทะเบียนไม่ได้ บุตรอันเกิดมาก็เลยไม่ได้จดทะเบียนและไม่ใคร่จะได้รับความอุปถัมภ์เลี้ยงดูจากผู้เปนบิดาตามสมควร ทรงพระกรุณาน่าสงสารแก่เด็กที่เกิดมาเปนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน และ เพื่อจะบำราบมิให้การอย่างนี้มีแพร่หลายมากไป
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีเสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการประกาศกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้เพิ่มเติมว่า
มาตรา 1 บุตรอันเกิดแต่หญิง ที่ชายสมจรด้วยเปนครั้งเปนคราวหรือหญิงที่ชายสมจรด้วยโดยอาการที่เรียกว่าเมียลับก็ตาม ถ้าความไม่ปรากฎว่าหญิงที่เปนมารดานั้น ได้สมจรปะปนด้วยชายอื่น เด็กที่เกิดมาเปนบุตรของชายผู้นั้นโดยแท้แล้ว ให้ชายผู้เปนบิดามีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบำรุงรักษาให้กินอยู่นุ่งห่มและเล่าเรียนตามสมควรแก่ฐานานุรูปจนกว่าเด็กนั้นจะมีอายุครบ 16 ปี
มาตรา 2 การเลี้ยงดูดังว่ามาในมาตรา 1 นั้น ชายผู้เปนบิดาจะรับตัวเด็กมาเลี้ยงดูเสียเองก็ได้ หรือจะให้มารดาปกครองเลี้ยงดูไว้ก็ได้ แล้วแต่ความตกลงและเพื่อประโยชน์แก่เด็กเปนประมาณ
ถ้าเด็กต้องอยู่กับมารดาแล้ว ให้ชายผู้เปนบิดาออกเงินค่าเลี้ยงดูให้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป (แต่อย่างไรก็ดีมารดาของเด็กหรือผู้ปกครองจะเรียก ค่าเลี้ยงดูเกินกว่า 1 ใน 4 ของเงินเดือนไม่ได้)
ประกาศมา ณ วันที่ 4 มิถุนายน พระพุทธศักราช 2460 เปนวันที่ 2398 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
[รก.2460/-/88/10 มิถุนายน 2460]
พระราชกฤษฎีกา
ที่รโหฐานเพิ่มเติม
พระพุทธศักราช 2457(1)
มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ เฉพาะเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง สั่งว่า
ตามราชประเพณีแต่ก่อนสืบมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ ณ ที่ใด ๆ การพิทักษ์รักษาก็ต้องมีเปนธรรมดา ถ้าประทับในที่ระโหฐาน (อันว่ามิใช่ที่เสด็จออกให้พระบรมวงษานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเฝ้า ซึ่งมีกำหนดแล้วนั้น) การพิทักษ์รักษาก็เปนประเพณีที่เจ้าหน้าที่ทั้งปวงจะต้องปฏิบัติให้เปนระเบียบอันกวดขันยิ่งขึ้นอยู่ทุกเมื่อ บางคราวที่มีพระราชประสงค์เปนอย่างอื่นก็พระราชทานโอกาสโดยเฉพาะ แต่บัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่แต่ในพระบรมมหาราชวังแห่งเดียว มีที่เสด็จแปรพระราชสำนักและประพาส ณ ที่ต่าง ๆ เพื่อทรงพระราชวิจารณ์ตรวจตรากิจการทั้งปวงอันจะเปนประโยชน์แก่บ้านเมือง ให้ทันแก่สมัย
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้นไว้ให้ต้องด้วยราชประเพณีและพระราชนิยม ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติให้ถูกถ้วนด้วยราชประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล และเพิ่มเติมขึ้นอีกตามเวลาที่ควร
1. ที่รโหฐาน ซึ่งเรียกว่า ภายในหรือข้างใน ผู้ใด ๆ ไม่ว่าหญิงหรือชาย จะเข้าออกโดยพละตนไม่ได้ ต่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะเปนอันเข้าออกได้
2. ที่ใดที่เรียกว่า พระที่นั่งหรือพระตำหนัก หรือพลับพลา หรือที่ประทับ ณ ค่ายหลวง หรือในเรือ หรือในแพ และที่ใด ๆ ก็ดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ทั้งนี้ ให้เปนอันเข้าใจว่า เปนเขตแคบเข้ากว่าในข้อ 1 ผู้ใด ๆ ทั้งหญิงและชาย ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานอันประจำตำแหน่ง ซึ่งทรงอนุญาตเปนผู้ที่ประจำอยู่แล้ว ท่านห้ามมิให้เข้าออกเปนอันขาด เว้นไว้แต่ผู้นั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตโปรดให้เบิกเข้าไป จึงจะเข้าไปได้
3. ให้เจ้าหน้าที่อันประจำตำแหน่งรักษาการมีอำนาจในหน้าที่นี้ห้ามปรามจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนพระราชนิยมอันนี้ได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าบุคคลชนิดใด
4. ให้เสนาบดีกระทรวงวัง เปนหน้าที่รักษาพระราชกฤษฎีกานี้ให้เปนไปจงถูกถ้วนโดยพระราชนิยม และพระราชกฤษฎีกานี้ ให้นับเนื่องอยู่ในกฎมณเฑียรบาลด้วยเหมือนกัน
ประกาศมา ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2457เปนวันที่ 1476 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
กฎมณเฑียรบาล
ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก
ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนายุกาล เปนอดีตกาล 2457 พรรษาเมษายนมาศ วีสติมสุรทิน จันทวาร โดยกาลนิยม
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวิชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรม นราธิราช พินิตประชานารถ มหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนารถบพิตร์ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า
อันเหล่าเสวกามาตย์ราชบริพาร ผู้ที่มีหน้าที่รับราชการในกระทรวงและกรมในพระราชสำนักนั้น ย่อมเปนผู้ที่ปฏิบัติราชการอยู่ในหน้าที่ใกล้ชิดพระองค์เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่จะเปนผู้ที่ดีไม่เปนที่ทรงรังเกียจ และทั้งเปนผู้ที่ประพฤติสัมมาจารี ไม่ควรที่จะให้มีผู้ติฉินนินทาได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชุบเลี้ยงตั้งแต่งคนที่ไม่ดีไว้ในที่ใกล้ชิดพระองค์ ซึ่งถ้าแม้มีผู้กล่าวได้เช่นนี้ ก็ย่อมเปนที่ทรงรำคาญพระราชหฤทัย ทั้งอาจที่จะมีผลให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้ด้วย
ข้าราชการในพระราชสำนักเปนบุคคลจำพวกที่สุดที่จะควรกล่าวว่ากิจส่วนตัวไม่เกี่ยวแก่หน้าที่ราชการ เพราะถ้าจะว่ากันอย่างสามัญชนคนใช้ที่ประพฤติตนไม่ให้เปนที่ต้องอัธยาศัยเจ้านายแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีสติปัญญาสามารถฉลาดเฉลียวสักปานใด ก็คงไม่สามารถจะอยู่ร่วมเคหะสถานกันได้ ดังนี้ฉันใด ส่วนข้าราชการในพระราชสำนักก็เปนฉันนั้น เมื่อราชเสวกผู้ใดทราบอยู่แล้วว่าสิ่งไรไม่เปนที่ต้องด้วยพระราชอัธยาศัยนิยม แต่ขืนประพฤติสิ่งนั้นเพื่อความพอใจแห่งตนเองโดยถือว่าเปนกิจส่วนตัวไม่เนื่องด้วยหน้าที่ราชการ ดังนี้ ก็คงเปนอันว่าเปนผู้ที่ไม่สมควรจะคงรับราชการอยู่ในพระราชสำนัก ควรจะต้องย้ายไปแห่งอื่นดีกว่า
ทางที่จะให้ทรงรังเกียจในส่วนตัวราชเสวกผู้หนึ่งผู้ใดนั้น นอกจากความประพฤติเปนคนขี้เมาหรือนักเลง หรือคนมักพูดปด ซึ่งเปนความเสียในส่วนตัวเอง ยังอาจจะเปนไปได้ โดยมีครอบครัวอันเปนที่ทรงรังเกียจได้อีก
ในเรื่องการสมพาสแห่งคนในสมัยนี้ ทรงสังเกตว่าดูเปนไปโดยอาการอันสำส่อน ไม่เปนระเบียบเรียบร้อย ไม่ใคร่เลือกหญิงที่เรียบร้อยแท้จริง ชายหนุ่มมักพอใจสมจรด้วยหญิงแพศยาหาเลี้ยงชีพโดยทางบำเรอกามคุณ และมักเข้าใจไปว่าการสมจรเช่นนี้เปนของควรนิยม เพราะคล้ายคลึงกับแบบแผนแห่งยุโรปประเทศ ซึ่งเปนความเข้าใจเอาเอง โดยพอใจใคร่ให้เปนเช่นนั้น และการมีภรรยาแต่งงานสมรสอย่างโบราณประเพณีมักถือกันว่าเปนของพ้นสมัยเสียแล้ว แม้ใครประพฤติก็ได้ชื่อว่าคนภูมิเก่าคร่ำคร่าหรือโง่เง่าเต่าปูปลา ไม่รู้จักประเพณีนิยมอย่างสมัยใหม่ดังนี้เปนต้น
โดยปกติในประเทศมีสมเด็จพระราชาธิบดีเปนผู้ทรงปกครอง ความนิยมในทางจริยาต่าง ๆ มหาชนมักเพ่งเล็งดูตามพระราชนิยมเปนที่ตั้ง แต่ผู้ที่มิได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในที่ใกล้เคียงเพียงพอ มิอาจที่จะทราบพระราชนิยมได้โดยถนัด ก็ต้องเพ่งเล็งดูทางปฏิบัติและจรรยาแห่งข้าราชการในพระราชสำนักเปนหลัก เพื่อสันนิษฐานทางแห่งพระราชนิยม ความจริงมีอยู่ดังนี้เหมือนกันหมดไม่ว่าในประเทศใด ๆ ทั้งในบุรพทิศและปัจฉิมทิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระราชหฤทัยในข้อนี้ชัดเจนอยู่แล้ว จึงได้ทรงพระอุตสาหะพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ข้าราชการในพระราชสำนักอยู่เนือง ๆ ในเรื่องจรรยาและความประพฤติอันควรแก่ราชเสวก ซึ่งแท้จริงบรรดาราชเสวกควรที่จะรู้สึกพระมหากรุณาธิคุณ และที่แท้ควรที่จะมีใจรู้สึกความกตัญญูกตเวที ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงตามพระบรมราโชวาทและพระราชนิยม อันได้ทรงแสดงให้ปรากฏมาหลายคราวแล้วนั้นโดยความเคารพต่อพระบรมเดชานุภาพ ฝ่ายผู้ใหญ่อันเปนผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาราชการต่างพระเนตรพระกรรณ ก็ควรที่จะหมั่นเอาใจใส่ว่ากล่าวตักเตือนผู้น้อยที่ไร้สติ ให้อุตสาหะพยายามประพฤติตนให้เปนที่พอพระราชอัธยาศัย เช่นนี้จึงจะถูก
แต่การหาเปนไปเช่นนี้ทั่วถึงไม่ เพราะราชเสวกที่เปนคนหนุ่มคะนองเมื่อมีความปรารถนาจะใคร่ประพฤติตามใจตนเอง ก็พอใจอวดดีทำตนเปนคนสมัยใหม่ ประพฤติสงบเสงี่ยมอยู่แต่เฉพาะเวลาที่อยู่หน้าพระที่นั่ง พอลับหลังไปแล้วก็ไปเที่ยวประพฤติสำมะเลเทเมาตามนิสัยอันทรามของตน และที่ผู้น้อยประพฤติอยู่ได้เช่นนี้ก็เพราะผู้ใหญ่บางคน ซึ่งรู้แล้วว่าผู้น้อยประพฤติเปนลิงหลอกเจ้าอยู่นั้น ก็หาว่ากล่าวตักเตือนโดยอาการอันเข้มงวดอย่างผู้ใหญ่ไม่ กลับไปพูดจาและแสดงกิริยาอาการให้เห็นปรากฏว่า การที่ว่ากล่าวนั้นโดยเสียไม่ได้ คือ ขัดพระราชบริหารไม่ได้เท่านั้นแท้จริงเห็นใจกัน ดังนี้ จึงทำให้ผู้น้อยกำเริบได้ใจ ฝ่ายผู้ใหญ่จะว่าผู้น้อยไม่ได้เต็มปากก็เพราะตนเองก็ประพฤติเหลวไหลอยู่เช่นนั้นเหมือนกัน ตรงกับโบราณภาษิตว่า “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” ไม่มีใครกล้าทำอะไรใครได้
การที่ประพฤติผิดพระราชนิยมในข้อใด ๆ ก็ไม่สำคัญเท่าในข้อที่เกี่ยวด้วยการมีครอบครัว เพราะหญิงดีย่อมเปนศรีแก่ชาย แต่หญิงร้ายย่อมนำความพินาศฉิบหายมาสู่ผู้ที่สมพาส หาเสนียดจัญไรอย่างใดเสมอเหมือนได้โดยยาก เพราะฉะนั้น จึงทรงพระราชดำริว่า เปนการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องกวดขันเรื่องครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนักให้ยิ่งขึ้น เพื่อมิให้เปนที่ติฉินนินทาแห่งผู้อื่นได้ แต่ครั้นว่าจะเปนแต่เพียงพระราชทานพระบรมราโชวาทอย่างเช่นที่เคยมาแล้วนั้นถ้าราชเสวกบางคนที่อวดฉลาดอวดดีก็จะหาหนทางหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกระแสพระบรมราโชวาท ก็จะเปนเครื่องเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพ ทั้งจะเปนหนทางให้คนอวดดีอวดฉลาดมีความกำเริบได้ใจยิ่งขึ้น จึงเปนความจำเปนที่จะต้องจัดวางระเบียบลงไว้ให้เปนหลักฐานมั่นคง อันจะไม่มีหนทางหลีกเลี่ยงได้
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ศรีรัตนมณเฑียรบาล บรมราโชประการกิจจาภิรมย์ สรรโพดมราชธุรานุประดิษฐ์ ธรรมสุจริตวิบุลย์ มาลากุลวิวัฒน์ บำรุงรัตนราชประเพณี นิตยภักดีนฤปนารถ อันเตปุริกามาตย์มหานายก อรรคเสวกนทิพาหมุรธาธร กิติขจรเสนาบดีศรีรัตนไตรสรณธาดา อุดมอาชวายาศัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ เสนาบดีกระทรวงวังรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ประกาศกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก ดังต่อไปนี้
หมวดที่ 1
ว่าด้วยนามและลักษณะใช้กฎมณเฑียรบาล
มาตรา 1 กฎนี้ให้เรียกว่า “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช 2457”
มาตรา 2(1) ให้เริ่มใช้กฎนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พระพุทธศักราช 2457เปนต้นไป
มาตรา 3 บรรดากฎ ข้อบังคับซึ่งมีอยู่แล้วสำหรับพระราชสำนักข้อใดที่ขัดกับข้อความในกฎนี้ ให้ยกเลิกเสีย
มาตรา 4 ต่อไปภายหน้า ถ้าแม้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อใดข้อหนึ่งในกฎนี้ และเสนาบดีกระทรวงวังได้ประกาศโฆษณาให้ข้าราชการในพระราช สำนักทราบทั่วกันแล้ว ให้นับว่าข้อที่แก้ไขหรือเพิ่มเติมใหม่นั้นเปนส่วนหนึ่งแห่งกฎนี้
หมวดที่ 2
ว่าด้วยผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎนี้
มาตรา 5 ผู้ที่นับว่าอยู่ในกฎนี้ และจำเปนต้องปฏิบัติตามกฎนี้มีอยู่คือ
1. ข้าราชการและราชบุรุษในกระทรวงวัง
2. พระตำรวจ ขุนตำรวจ นายตำรวจ นายเวร และพลในกรมพระตำรวจ
3. ข้าราชการและราชบุรุษในกรมศิลปากร
4. นายทหารชั้นสัญญาบัตร ชั้นประทวน และนายสิบในกรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
5. ข้าราชการและราชบุรุษในกรมราชเลขานุการ
6. ข้าราชการและราชบุรุษในกรมพระคลังข้างที่
7. ข้าราชการและมหาดเล็กทุกชั้นในกรมมหาดเล็กหลวง
8. ข้าราชการและนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
9. ข้าราชการและมหาดเล็กในกรมมหรสพ
10. ข้าราชการและมหาดเล็กในกรมชา วที่
11. ข้าราชการและมหาดเล็กในกรมพระอัศวราช
12. ข้าราชการในกรมตำรวจ
มาตรา 6 ผู้ที่อยู่ในกฎนี้ ให้พึงเข้าใจว่าเปนแต่เฉพาะผู้ที่รับราชการประจำอยู่เท่านั้น ผู้ที่เปนกองหนุนหรือนอกราชการ หรือซึ่งได้ย้ายไปรับราชการอยู่ในกระทรวง ทบวง การอื่นแล้ว ไม่นับว่าอยู่ในกฎนี้
หมวดที่ 3
อธิบายคำในกฎนี้
มาตรา 7 เพื่อมิให้ต้องลำบากในข้อที่จะต้องกล่าวความให้ยืดยาวในที่บางแห่ง ให้พึงเข้าใจคำที่ใช้ย่อในกฎนี้บางคำ ดังต่อไปนี้
1. คำว่า “เสนาบดี” ให้เข้าใจว่า เสนาบดีกระทรวงวัง
2. คำว่า “ข้าราชการ” ให้เข้าใจว่า บรรดาบุคคลซึ่งอยู่ในกฎนี้ ดังได้กล่าวมาแล้วในหมวดที่ 2
3. คำว่า “ผู้บังคับบัญชาโดยตรง” ให้เข้าใจว่า ผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาในกรมใดกรมหนึ่ง ซึ่งเปนกรมขึ้นต่อกรมใหญ่อีกชั้นหนึ่ง
4. คำว่า “ผู้บังคับบัญชาสูงสุ ด” ให้เข้าใจว่า ผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาเปนใหญ่ในแผนกใดแผนกหนึ่งในพระราชสำนัก กล่าวคือ
(ก) ในกระทรวงวังและกรมขึ้น คือเสนาบดี
(ข) ในกรมมหาดเล็กและกรมขึ้น คือ สภาจางวาง
(ค) ในกรมราชเลขานุการ คือ ราชเลขานุการ
(ง) ในกรมพระคลังข้างที่ คือ อธิบดีกรมพระคลังข้างที่
5. คำว่า “เจ้าพนักงาน” ให้เข้าใจว่า เจ้าพนักงานทะเบียน เว้นไว้เสียแต่ที่จะมีข้อความกล่าวไว้อย่างอื่น จึงให้เข้าใจไปตามข้อความในที่นั้นโดยเฉพาะ
6. คำว่า “หญิงนครโสเภณี” ให้เข้าใจว่า หญิงที่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่ ตามพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค
7. คำว่า “หญิงแพศยา” ให้เข้าใจว่า หญิงที่มิใช่หญิงนครโสเภณี แต่มักสมจรกับชายหลายคนโดยอาการอันสำส่อนไม่เปนระเบียบเรียบร้อย
หมวดที่ 4
ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัวและเคหะสถาน
มาตรา 8 ให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกรมต่าง ๆ จัดเจ้าพนักงานไว้เปนผู้ถือทะเบียนครอบครัวและเคหะสถานแห่งข้าราชการในบังคับบัญชาของตน กล่าวคือ ให้มีที่กระทรวงวังแห่งหนึ่ง ที่ที่ทำการสภาจางวางกรมมหาดเล็กแห่งหนึ่งที่กรมราชเลขานุการแห่งหนึ่ง ที่กรมพระคลังข้างที่แห่งหนึ่ง กับให้เสนาบดีจัดตั้งเจ้าพนักงานไว้คนหนึ่งเปนนายทะเบียนใหญ่สำหรับพระราชสำนักทั่วไป
มาตรา 9 ในสมุดทะเบียนให้มีรายการ ดังต่อไปนี้
1. ยศ บรรดาศักดิ์
2. นามเดิม
3. นามสกุล
4. ตำแหน่งราชการ
5. นามบิดามารดา (แห่งตน)
6. เคหะสถาน (ถ้ามีกว่าหนึ่งแห่ง ต้องจดไว้ให้ปรากฎ และต้องบอกให้ชัดเจนว่า อยู่ถนนใด เลขที่เท่าใด ฯลฯ ตัวเปนเจ้าของเอง หรืออาศัยใครหรือเช่าใคร)
7. นามภรรยา (ถ้ามีกว่าหนึ่งคน ต้องจดทุกคน)
8. นามบิดามารดา (แห่งภรรยา)
9. นามบุตร (ต้องจดเรียงตามลำดับอายุ และถ้าเกิดด้วยภรรยาหลายคน ให้จดแบ่งเปนท้อง ๆ ไป ให้เข้าใจง่าย ๆ )
10. หมายเหตุ (ในช่องนี้สำหรับกรอกรายการเบ็ดเตล็ด ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)
มาตรา 10 บรรดาข้าราชการ ซึ่งมีครอบครัวและเคหะสถานอยู่แล้วเมื่อประกาศใช้กฎนี้ ต้องรีบไปลงทะเบียนที่เจ้าพนักงานสำหรับกรมซึ่งตนสังกัดขึ้นอยู่นั้น ภายในกำหนดวันเวลาซึ่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดจะได้แจ้งความให้ทราบ และถ้ายังไม่มีครอบครัว มีแต่เคหะสถานก็ให้ไปจดแต่ในส่วนเคหะสถาน
มาตรา 11 ให้เปนหน้าที่ผู้บังคับบัญชาสูงสุด ที่จะกำหนดวัน เวลาที่จะให้เจ้าพนักงานรับจดทะเบียน และให้กำหนดด้วยว่าเมื่อใดจะเปนอันหมดเขตเวลาที่จะรับจดทะเบียนของผู้ที่มีครอบครัวและเคหะสถานอยู่แล้วแต่เมื่อก่อนประกาศให้ใช้กฎนี้
มาตรา 12 เมื่อพ้นกำหนดเวลาอันกล่าวแล้วในมาตรา 11 นั้นผู้ใดยังมิได้ไปลงทะเบียนครอบครัวหรือเคหะสถาน ให้ถือว่าผู้นั้นยังไม่มีทั้งครอบครัวและเคหะสถาน เปนโสดอยู่ จนกว่าจะได้มาจดอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปภายหน้า
มาตรา 13 ผู้ที่มีภรรยาแล้ว แต่ภรรยานั้นถึงมรณภาพแล้ว หรือได้หย่าร้างกันไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ประกาศใช้กฎนี้ ไม่ต้องจดนามภรรยาผู้นั้นลงในช่องที่สำหรับจดชื่อภรรยาในทะเบียน แต่ถ้าแม้ได้มีบุตรด้วยภรรยานั้น จึงให้จดนามมารดาแห่งบุตรไว้ในช่องสำหรับจดนามบุตร ดังได้กำหนดไว้ในมาตรา 9 ข้อ 9 นั้น
มาตรา 14 ผู้ที่ยังมิได้มีครอบครัวหรือเคหะสถานเลยในขณะเมื่อประกาศใช้กฎนี้ ถ้าต่อไปเมื่อหน้ามีครอบครัวหรือเคหะสถานเมื่อใดให้ไปจดทะเบียนที่กรมตนสังกัด ภายในกำหนดปักษ์หนึ่ง (กึ่งเดือน)
มาตรา 15 ผู้ใดที่มีครอบครัวหรือเคหะสถาน อันได้จดทะเบียนแล้วถ้ามีเหตุเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ กล่าวคือ
1. ภรรยาหรือบุตร ถึงมรณภาพ
2. หย่ากับภรรยาตามกฎหมาย หรือไม่หย่าแต่แยกเคหะสถานกัน
3. ย้ายเคหะสถาน
ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดในสามอย่างนี้ ต้องไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงานภายในกำหนดปักษ์หนึ่ง นับแต่วันที่การเปลี่ยนแปลงนั้นได้เปนไปแล้วเปนต้นไป
การที่จะแจ้งความในเรื่องหย่ากับภรรยา หรือแยกเคหะสถานกันนั้น ต้องชี้แจงด้วยว่า บุตร ที่มีด้วยกันนั้น ได้ตกลงจะให้อยู่กับใคร และถ้าภรรยามิได้หย่ากัน เปนแต่แยกเคหะสถานกัน ต้องชี้แจงว่าภรรยาอยู่แห่งใด อาศัยผู้ใดอยู่หรืออยู่โดยลำพัง
มาตรา 16 ผู้ใดที่มีภรรยาหรือเคหะสถาน อันได้จดทะเบียนแล้วถ้าจะมีภรรยาหรือเคหะสถานเพิ่มขึ้นมากกว่าเก่า ต้องไปจดทะเบียนเพิ่มเติมภายในกำหนดปักษ์หนึ่ง นับแต่วันที่ได้ภรรยาใหม่ หรือได้เปนเจ้าของเคหะสถานใหม่นั้นเปนต้นไป
หมวดที่ 5
ว่าด้วยหน้าที่เจ้าพนักงานทะเบียน
มาตรา 17 เจ้าพนักงานทะเบียนประจำกรม มีหน้าที่รับจดทะเบียนครอบครัวและเคหะสถานแห่งข้าราชการที่สังกัดในกรมของตน ตามข้อความอันกล่าวมาแล้วในหมวดที่ 4 นั้นทุกประการ และให้ทำการติดต่อกับนายทะเบียนใหญ่ ตามระเบียบซึ่งเสนาบดีจะได้กำหนดให้ตามที่สะดวกแก่ราชการ
มาตรา 18 นายทะเบียนใหญ่ไม่มีหน้าที่รับจดทะเบียนโดยตรงเลยให้เปนแต่ผู้รวมทะเบียนกรมทั้งสี่นั้นไว้เปนแห่งเดียวกันเท่านั้น เพราะฉะนั้น แปลว่าทะเบียนซึ่งนายทะเบียนใหญ่รักษาอยู่นั้น เปนแต่สำเนาแห่งทะเบียนกรมเท่านั้น และต้องหมั่นคอยแก้ไขให้ถูกต้องตรงกับทะเบียนกรมอยู่เสมอ
มาตรา 19 การรับจดทะเบียนครอบครัวก็ดี หรือเคหะสถานก็ดีมีเกณฑ์อันเจ้าพนักงานจะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. คือ หญิงที่ได้กระทำการแต่งงานสมรสตามประเพณีเมือง หรือที่ชายเลี้ยงดูโดยให้อยู่ร่วมเคหะสถานและยกย่องเชิดหน้าชูตาโดยเปิดเผย เพราะฉะนั้น ห้ามมิให้รับจดทะเบียนหญิงนครโสเภณี หรือหญิงแพศยา หรือหญิง ซึ่งชายสมจรด้วยเปนครั้งคราวนั้น เปนอันขาด
อนึ่ง หญิงที่ชายสมจรอยู่ด้วยโดยอาการที่เรียกว่าเปน “เมียเก็บ” คือ ไม่ออกหน้า และไม่อยู่ร่วมเคหะสถานกัน ห้ามมิให้รับลงทะเบียนเปนภรรยาเปนอันขาด
2. เคหะสถาน คือ ที่อันสำนักอาศัยเปนหลักแหล่งแน่นอน อันจะเปนที่ซึ่งสารวัตรและนักการจะไปตามข้าราชการผู้เจ้าของนั้นได้ในเมื่อมีราชการ
หรือจะนับว่าเปนเคหะสถานไม่ได้ นอกจากที่จะได้รับอนุญาตพิเศษจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดให้ถือเช่นนั้น
มาตรา 20 ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้จดทะเบียนหญิงอันต้องด้วยข้อห้ามในมาตรา 19 นั้นเปนภรรยา และเมื่อนายทะเบียนชี้แจงข้อห้ามให้เข้าใจแล้ว ก็ยังจะขืนยืนยันขอจดทะเบียนอยู่กระนั้น ให้นายทะเบียนรายงานข้อความต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน เพื่อนำเสนอขึ้นไปเปนลำดับสุดแท้แต่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดจะวินิจฉัย และในระหว่างที่คำสั่งยังไม่ตก ห้ามมิให้รับจดทะเบียนเปนอันขาด
อนึ่ง ความในมาตรา 19 และมาตรา 20 นี้ ให้พึงเข้าใจว่าใช้สำหรับผู้ที่มีครอบครัวและเคหะสถานอยู่แต่เมื่อก่อนที่ประกาศใช้กฎนี้แล้วเท่านั้น ส่วนผู้ที่ยังมิได้มีครอบครัวหรือเคหะสถานอยู่ก่อนนี้ ถ้าแม้จะมาขอจดทะเบียนต่อไปให้เจ้าพนักงานปฏิบัติดังได้กำหนดไว้ในมาตรา 21 ต่อไปนี้
มาตรา 21 บรรดาข้าราชการที่ยังมิได้มีครอบครัวหรือเคหะสถานอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่ประกาศใช้กฎนี้ ถ้าต่อไปจะมาขอจดทะเบียนภรรยาหรือเคหะสถาน ให้เจ้าพนักงานเรียกเอาใบอนุญาตซึ่งผู้บังคับบัญชาจะได้ทำให้ตามระเบียบอันกำหนดไว้ในหมวดที่ 6 แห่งกฎนี้ ถ้าผู้ใดไม่มีใบอนุญาตมายื่นแล้ว ห้ามมิให้เจ้า
พนักงานรับจดทะเบียนเปนอันขาด
มาตรา 22 นอกจากข้อที่ได้บัญญัติไว้แล้วในหมวดนี้ ให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามข้อความอันมีอยู่ในหมวดอื่น ๆ แห่งกฎนี้ และถ้าแม้เสนาบดีจะได้ออกกฎหรือข้อบังคับเพิ่มเติมต่อไป ก็ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องจงทุกประการ
หมวดที่ 6
ว่าด้วยการอนุญาตให้มีครอบครัวและเคหะสถาน
มาตรา 23 บรรดาข้าราชการในพระราชสำนัก ที่ยังมิได้มีครอบครัวหรือเคหะสถานของตนเองแต่เมื่อก่อนประกาศใช้กฎนี้ เมื่อต่อไปจะมีครอบครัวหรือเคหะสถานต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกรมของตนก่อน จึงจะมีได้
มาตรา 24 การขออนุญาตให้ทำเปนหนังสือยื่นต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน เพื่อนำเสนอเปนลำดับ ดังจะได้กล่าวต่อไป และถ้าเมื่อใบอนุญาตยังไม่ตกมาห้ามมิให้ไปมีภรรยา หรือไปอยู่ ณ เคหะสถานใหม่นั้นเปนอันขาด
มาตรา 25 ข้าราชการที่มีครอบครัวหรือเคหะสถาน อันได้จดทะเบียนตามกฎนี้แล้ว ถ้าต่อไปเมื่อหน้า จะมีภรรยาเพิ่มเติมใหม่อีกก็ดี หรือจะมีเคหะสถานเพิ่มขึ้นอีกก็ดี ต้องขออนุญาตอย่างเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วในมาตรา 23 และมาตรา 24
มาตรา 26 ในหนังสือขออนุญาต ให้มีข้อความละเอียด คือ
(ก) ขออนุญาตมีภรรยา ให้มีข้อแสดงดังต่อไปนี้
1. ยศ บรรดาศักดิ์ และนามเดิม นามสกุล กับตำแหน่งราชการ
2. อายุ ปีเกิด
3. รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละเท่าใด
4. ได้รับผลประโยชน์นอกจากทางราชการอย่างใดบ้าง
5. ได้มีภรรยาอยู่แล้วหรือไม่ ถ้ามีชื่อไร
6. ผู้ที่จะตกแต่งหรือเปนภรรยาใหม่นั้น ชื่อไร
7. นามบิดามารดาของหญิง และชาติใด ในบังคับรัฐบาลใด
8. หลักฐาน คือ บิดามารดาหรือตัวหญิงนั้น มีทางทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างไรอยู่หรือไม่ มีทรัพย์สมบัติอย่างไรบ้าง
9. หญิงนั้นมีอายุเท่าไร เกิดปีอะไร
10. หญิงนั้นเคยมีผัวแล้วหรือยัง ถ้าเคยมีแล้ว ให้ชี้แจงด้วยว่าผัวหย่าหรือเปนหม้ายโดยมรณภาพแห่งผัว
11. ความประพฤติของหญิงนั้น เท่าที่รู้เห็นอยู่เปนอย่างไร
(ข) ขออนุญาตมีเคหะสถาน ให้มีข้อแสดงดังต่อไปนี้
1,2,3, และ 4 เหมือนอย่างขออนุญาตมีภรรยา
5. เปนคนโสด หรือมีครอบครัว
6. ในขณะนี้อยู่ที่ไหน คือ อยู่ประจำในสถานที่ภายในพระราชฐานหรือเรือนหลวงแห่งใด หรือเช่าอยู่ หรืออยู่กับบิดามารดา หรืออาศัยผู้ใด และที่อยู่นั้นอยู่แห่งใด
7. บ้านที่จะไปอยู่ใหม่นี้ สร้างขึ้นใหม่ด้วยทุนทรัพย์ของตนเองหรือซื้อ หรือเช่า หรือใครให้ หรือจะอาศัยอยู่กับ ผู้ใด
8. บ้านใหม่นี้อยู่แห่งหนตำบลใด ต้องบอกนามถนน และเลข (ถ้ามี)
9. เมื่อย้ายไปอยู่ที่บ้านใหม่แล้ว บ้านเก่าจะยังคงเปนบ้านของตนอยู่หรือจะไม่ใช้เปนที่สำนักอีกต่อไป
มาตรา 27 ระเบียบการที่จะพึงปฏิบัติในเรื่องขออนุญาตมีภรรยาหรือมีเคหะสถานนี้ เมื่อผู้ขออนุญาตได้ยื่นหนังสือต่อผู้บังคับบั ญชาโดยตรงแล้ว เปนหน้าที่แห่งผู้บังคับบัญชาโดยตรงที่จะต้องสอบสวนดูให้ได้ความแน่นอนว่า ตามรายการที่มีอยู่ในหนังสือนั้น เปนการถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ถูกต้องให้พูดจาว่ากล่าวให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขข้อความเสียให้ถูกต้อง เมื่อถูกต้องแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงลงความเห็นของตนกำกับลงในหนังสือนั้นว่า “เห็นสมควร” หรือ “ไม่เห็นสมควร” สุดแท้แต่ความเห็น แต่ถ้าไม่เห็น สมควรต้องอธิบายด้วยว่าเพราะเหตุใด และถ้าความเห็นนั้นจะมีข้อความยืดยาว ก็ให้เขียนลงในกระดาษอีกแผ่นหนึ่งต่างหาก แนบไปกับหนังสือขออนุญาต เมื่อได้ตรวจและลงความเห็นแล้ว จึงส่งหนังสือพร้อมด้วยความเห็นนั้นขึ้นไปยังผู้บังคับบัญชาโดยตรงเหนือตนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งนั้น และให้ปฏิบัติเชนนี้เปนลำดับไปจนถึงผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสุด ในกรณีแห่งผู้ขออนุญาต
มาตรา 28 ผู้ที่มีอำนาจอนุญาตได้นั้น ถ้าผู้ขอเปนข้าราชการตั้งแต่ชั้นเสวกเอก หรือนายพันเอก หรือหัวหมื่นลงมา ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสุดในกรมนั้นมีอำนาจอนุญาตได้ แต่ถ้าผู้ขอเปนข้าราชการชั้นเสวกเอก หรือตั้งแต่ชั้นเสวกเอกหรือนายพันเอก หรือหัวหมื่นขึ้นไป ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ผู้อื่นจะอนุญาตมิได้เปนอันขาด
อนึ่ง มหาดเล็กกองห้องที่พระบรรทม ไม่ว่าจะเปนยศ บรรดาศักดิ์ชั้นใดต้องได้รับพระบรมราชานุญาต ผู้อื่นจะอนุญาตมิได้เปนอันขาด
มาตรา 29 ผู้ที่มีหน้าที่จะอนุญาตตามมาตรา 28 นั้น เมื่อได้รับหนังสือขออนุญาตแล้ว และก่อนที่จะอนุญาต ต้องพิจารณาดูให้เห็นชัดแล้วว่า ผู้ขออนุญาตนั้นเปนผู้ที่สมควรจะได้รับอนุญาตแล้ว จึงค่อยอนุญาต ในข้อควรมิควรให้ถือเอาพระราชนิยมเปนเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(ก) ในส่วนที่จะขอมีภรรยา
1. ผู้ขอเปนผู้ที่มีหลักฐานมั่นคงพอควรแก่ยศ บรรดาศักดิ์ และตำแหน่ง
2. ได้รับพระราชทานเงินเดือนพอสมควรจะเลี้ยงครอบครัวได้
3. มีอายุเกินกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปี 19 แล้ว
4. เปนผู้ที่รู้จักผิดและชอบ ไม่เหลวไหลลังเล
5. เปนผู้ที่มีเคหะสถานเปนหลักแหล่งหรือจะได้มี เมื่อมีภรรยา
6. เปนผู้ที่ไม่มีกามโรคเรื้อรังประจำตัวอยู่ยังไม่หาย
7. หญิงที่จะเปนภรรยาเปนผู้มีหลักฐาน ไม่ใช่หญิงนครโสเภณี หรือหญิงแพศยา หรือหญิงที่มักสมจรสำส่อน
8. หญิงนั้นมีอายุเกินกว่า 16 ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่ 17 แล้ว
9. หญิงนั้นมิใช่เปนภรรยาผู้อื่นอยู่ในขณะที่ขออนุญาต
10. หญิงนั้นมิใช่ผู้ที่หย่ากับสามีเพราะมีชู้
(ข) ในส่วนขอมีเคหะสถาน 1,2,3 และ 4 เหมือนการขอมีภรรยา
5. ถ้าผู้ขอมีภรรยาแล้ว หรือได้ขออนุญาตจะมีภรรยาอยู่แล้ว ควรอนุญาต
6. คนโสด คือ ไม่มีภรรยาและครอบครัว ถ้าจะอนุญาตได้ก็แต่ที่เห็นปรากฎชัดว่า เปนผู้มีหลักฐานมั่นคง เปนผู้สมควรครองเรือนได้อย่างแท้จริง และมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่ 21 แล้ว
7. เคหะสถานต้องตั้งอยู่ในที่ซึ่งเปนหลักแหล่ง มีทางไปมาได้โดยสะดวกพอควร
มาตรา 30 เมื่อผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาดูโดยถ้วนถี่แล้ว ถ้าแม้ไม่เห็นเปนการสมควรด้วยประการทั้งปวง หรือเพื่อเหตุหลายประการก็ดี ให้เขียนลงไปในหนังสือขออนุญาตนั้นว่า “ไม่อนุญาต” และให้ลงนามกำกับไว้เปนสำคัญ แต่ถ้ามีข้อขัดข้องอยู่เพียงแต่เล็กน้อย ซึ่งเห็นว่าพอจะกล่าวให้แก้ไขได้ ก็ให้เรียกตัวผู้ขออนุญาตขึ้นมาชี้แจงให้เปนที่เข้าใจ ถ้าแม้เขายอมรับรองจะแก้ไขข้อขัดข้องนั้นให้หมดไป ก็จงยอมให้โอกาสให้เขามีเวลาแก้ไข แต่ถ้าเขาไม่ยอมที่จะแก้ไขก็ให้สลักลงว่า “ไม่อนุญาต” ทีเดียว
แต่ถ้าเห็นว่าเปนการสมควรด้วยประการทั้งปวงที่จะอนุญาต ก็ให้ทำใบอนุญาตให้เปนสำคัญ ลงนามและประทับตราตำแหน่งผู้อนุญาต ใบอนุญาตให้ทำเปนสามฉบับความต้องกัน ฉบับหนึ่งให้ผู้อนุญาตรักษาไว้ อีกสองฉบับให้ส่งลงไปเปนลำดับจนถึงผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ขออนุญาต ให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงมอบใบอนุญาตทั้งสองฉบับให้แก่ผู้ขอ ให้ผู้ขอนำใบอนุญาตไปให้แก่เจ้าพนักงานทะเบียนเพื่อเปนพยานฉบับหนึ่งในเมื่อไปขอจดทะเบียน และให้เจ้าพนักงานเก็บใบอนุญาตฉบับนั้นไว้เปนหลักฐานสืบไป อีกฉบับหนึ่งซึ่งยังเหลืออยู่กับผู้ขออนุญาตนั้น ให้ผู้ขอรักษาไว้เองเปนสำคัญสืบไป
มาตรา 31 ข้าราชการไม่ว่าชั้นใด ๆ ถ้าจะมีภรรยาเปนชาวต่างประเทศหรือคนในบังคับรัฐบ าลต่างประเทศ ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนจึงจะมีได้ ผู้อื่นจะอนุญาตไม่ได้เปนอันขาด
มาตรา 32 ให้พึงเข้าใจว่า การพระราชทานหรือไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตแก่ผู้ที่ขอมีครอบครัวหรือเคหะสถาน ดังกล่าวแล้วในมาตรา 28 และมาตรา 31 นั้น ไม่จำจะต้องพระราชทานพระบรมราชาธิบายอย่างใด เปนแต่พระราชทานพระราชกระแสว่า “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” เท่านั้น
อนึ่ง ใบพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซึ่งจะเปนส่วนพระราชทานตามมาตรา 30 นั้น ให้เปนหน้าที่ราชเลขานุการส่วนพระองค์รับพระบรมราชโองการออก ให้ลงนามและประทับตราตำแหน่งราชเลขานุการส่วนพระองค์
หมวดที่ 7
ว่าด้วยคนโสด,คนหม้าย,และคนไม่มีเคหะสถาน
มาตรา 33 ผู้ซึ่งมิได้มีภรรยาอันได้กระทำงานสมรสก็ดี มิได้มีภรรยาอันอยู่กินร่วมเคหะสถานโดยออกหน้าออกตาก็ดี ท่านว่าเปนคนโสด
มาตรา 34 ผู้ใดซึ่งยังมิได้จดทะเบียนภรรยาตามที่กำหนดไ ว้ในกฎนี้ท่านว่าให้ถือเอาเปนคนโสด
มาตรา 35 ผู้ใดได้มีภรรยาแล้ว แต่ได้หย่าร้างกับภรรยาแล้วก็ดีหรืออยู่แยกกับภรรยาโดยความยินยอมพร้อมใจกันก็ดี ท่านว่าให้ถือเอาเปนคนโสด
มาตรา 36 ผู้ใดได้มีภรรยาแล้ว แต่ภรรยาถึงมรณภาพ และยังมิได้มีภรรยาใหม่ ท่านว่าเปนคนหม้าย
มาตรา 37 ผู้ใดซึ่งมิได้มีบ้านเรือนอันตนเปนเจ้าของ คือ มิได้เปนผู้ถือหนังสือสำคัญสำหรับเปนเจ้าของที่ หรือมิได้เปนผู้เช่าที่หรือเรือน หากอาศัยผู้อื่นเขาอยู่ฉะนี้ ท่านว่าเปนคนไม่มีเคหะสถาน
มาตรา 38 ผู้ใดซึ่งยังมิได้จดทะเบียนเคหะสถานตามที่กำหนดไว้ในกฎนี้ ท่านว่าให้ถือเอาเปนคนไม่มีเคหะสถาน
มาตรา 39 คนโสดและคนไม่มีเคหะสถาน ถ้าผู้บังคับบัญชาสูงสุดเห็นสมควรจะกำหนดให้อยู่ประจำในสถานที่ราชการแห่งใด ๆ เพื่อสะดวกแก่หน้าที่ราชการแห่งผู้นั้น ผู้นั้นจำจะต้องอยู่ประจำเฉพาะแต่ในที่ซึ่งผู้บังคับบัญชากำหนดให้อยู่จะไปเลือกอยู่แห่งอื่นไม่ได้ นอกจากที่จะได้รับอนุญาตเปนพิเศษ ดังกล่าวไว้ในมาตรา 40
มาตรา 40 คนโสดและคนไม่มีเคหะสถาน ถ้ามีกิจจำเ ป็นจะต้องปฏิบัติบิดามารดาผู้ชราทุพพลภาพและหาผู้อื่นปฏิบัติอีกมิได้ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดจะอนุญาตให้ไปอยู่ยังบ้านเรือนบิดามารดาก็ได้
มาตรา 41 คนโสดหรือคนไม่มีเคหะสถาน ซึ่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้กำหนดให้อยู่ในเขตสถานที่ราชการ ดังกล่าวมาแล้วในมาตรา 39 นั้น ถ้าหากจะไปนอนค้างอยู่แห่งใดนอกจากที่ซึ่งกำหนดให้เปนสำนักนั้น ถึงแม้จะไปแต่คืนเดียวก็ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาโดยตรงก่อนจึงจะไปได้ และถ้าจะไปค้างเกินกว่าหนึ่งคืน ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดก่อนจึงจะไปได้ ห้ามมิให้ไปค้างนอกที่สำนักโดยมิได้รับอนุญาตเปนอันขาด
มาตรา 42 คนหม้าย ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ลงมา ถ้าผู้บังคับบัญชาสูงสุดเห็นสมควร จะกำหนดให้อยู่ประจำในสถานที่ราชการเพื่อสะดวกแก่หน้าที่ราชการก็กำหนดได้ และต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับคนโสด ดังได้กล่าวมาแล้วในมาตรา 39 มาตรา 40 และมาตรา 41 นั้น จงทุกประการ
หมวดที่ 8
อธิบายด้วยชั้นความผิดและการลงทัณฑ์
มาตรา 43 ผู้ที่อยู่ในกฎนี้ อาจที่จะประพฤติผิดมากและน้อยต่างสถานกัน ดังจะได้แสดงต่อไปในหมวดที่ 9 แต่ในที่นี้จะได้แสดงด้วยชั้นแห่งความผิด ซึ่งมีเปน 3 ชั้น คือ
1. ชั้นคุรุกรรม คือ เปนความผิดอย่างหนัก
2. ชั้นมัธยมกรรม คือ เปนความผิดอย่างกลาง
3. ชั้นลหุกรรม คือ เปนความผิดอย่างเบา
มาตรา 44 การลงทัณฑ์แก่ผู้ประพฤติผิดด้วยกฎนี้ ท่านกำหนดให้มีเปนหลายสถาน สุดแท้แต่ความหนักและเบาแห่งความผิด ดังจะได้แสดงต่อไปในหมวดที่ 9 แต่ในที่นี้จะได้อธิบายลักษณะแห่งทัณฑ์อันมีเปนนานาสถาน ดังต่อไปนี้
1. ภาคทัณฑ์ คือ งดการลงโทษไว้ครั้งหนึ่งก่อนโดยฐานกรุณา ผู้ที่สมควรจะได้รับภาคทัณฑ์ คือ ผู้ที่กระทำผิดแต่เพียงเล็กน้อยโดยความโง่เขลา มิได้มีเจตนาชั่วร้ายหรือจงใจจะฝ่าฝืนกฎนี้ และผู้ที่ได้รับภาคทัณฑ์แล้ว นับว่าเหมือนได้ล้างบาป หาโทษติดตัวต่อไปมิได้
2 คือ ชี้แจงให้ผู้ผิดเข้าใจชัดเจนว่า ตนได้กระทำความผิดเช่นนั้น ๆ ควรได้รับโทษเช่นนั้น ๆ แต่หากมีข้อควรกรุณาอยู่บ้าง อย่างนั้น ๆ จึงรอการลงโทษไว้ครั้งหนึ่ง แต่ถ้าต่อไปกระทำความผิดอีก จะต้องเอาโทษเดิมนี้บวกเข้ากับโทษที่จะพึงต้องรับใหม่
3. คือ ให้ผู้ต้องโทษอยู่ภายในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง อันเปนจังหวัดสถานที่ราชการ และต้องรายงานตนต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงทุกวัน
4. กักเงินเดือน คือ จ่ายให้เพียงส่วนหนึ่งในสี่ หรือกึ่งหนึ่งเปนอย่างมาก นอกนั้นให้เจ้าพนักงานแผนกปลัดบัญชีจ่ายให้เมื่อพ้นกำหนดโทษ แต่โทษนี้ให้ลงแต่เฉพาะคนโสดซึ่งไม่ต้องเลี้ยงครอบครัว เพื่อป้องกันการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือในการเที่ยวเตร่ เปนต้น
5. ทัณฑกรรม คือ ให้ทำการงานอันต้องออกกำลังกายผิดกว่าปกติแต่ทัณฑกรรมต้องเลือกให้กระทำการอันเปนประโยชน์ ไม่ใช่เปลืองแรงเปล่าทัณฑกรรมในวันหนึ่ง ห้ามมิให้กระทำเกินกว่า 3 ชั่วโมง และห้ามมิให้กระทำติด ๆ กันเกินกว่า 7 วัน
6. คือ ขังไว้ในห้องแห่งใดแห่งหนึ่งอันเปนที่มั่นคง เช่น ที่กรมสนมพลเรือนเปนตัวอย่าง หรือจะขังไว้ในที่ขังของกรมเองก็ได้ ในที่ห้องขังนั้นต้องให้มีแสงสว่างและมีทางอากาศเดินได้สะดวก กับต้องให้ผู้ถูกขังมีเวลาได้ออกมาเดินนอกห้องขังวันละ 1 ชั่วโมงเปนอย่างน้อย กับต้องให้ได้กินอาหารอิ่มหนำทุกวันวันละ 2 มื้อเปนอย่างน้อย
7. คือ ขังด้วย และลงเครื่องพันธนาการด้วย
8. พักราชการ คือ ต้องออกจากตำแหน่งหน้าที่ประจำโดยไม่ได้รับพระราชทานเงินเดือนเบี้ยหวัดอย่างใด ๆ แต่ยังมีหนทางที่จะได้กลับเข้ารับราชการได้อีกในกาลเบื้องหน้า
9. คัดออกจากราชการ คือ ให้ออกจากหน้าที่ประจำโดยไม่ได้รับเบี้ยหวัดหรือเบี้ยบำนาญ
10. ถอดจากยศบรรดาศักดิ์
มาตรา 45 การลงทัณฑ์จัดเปน 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
ก. ประเภทคุรุภัณฑ์ เปนพระราชอาญา ซึ่งจะมีพระบรมราชโองการให้ลงแก่ข้าราชการผู้ประพฤติผิดต่อกฎนี้ โดยสถานใดสถานหนึ่งในสิบสถาน ซึ่งกล่าวมาแล้วในมาตรา 44 นั้น หรือเปนโทษซึ่งศาลรับสั่งปรึกษาวางบทตามกฎนี้
ข. ประ เภทมัธยมทัณฑ์ เปนอาญาสำหรับที่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดมีอำนาจจะกระทำได้แก่ผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชาของตน มีอยู่เปนนานาสถาน ดังต่อไปนี้
1. ภาคทัณฑ์
2. ติโทษ
3. กัก ไม่เกินกว่า 1 เดือน
4. กักเงินเดือน ไม่เกินกว่า 3 เดือน
5. ทัณฑกรรม ไม่เกินกว่า 7 วัน
6. ขัง ไม่เกินกว่า 1 เดือน
7. ให้พักราชการ ไม่เกินกว่า 6 เดือน
ถ้าผู้บังคับบัญชามีความปรารถนาจะลงโทษแก่ผู้ใดให้ยิ่งขึ้นไปกว่าที่กำหนดไว้นี้ ก็ให้ส่งคดีไปยังศาลรับสั่งเพื่อพิพากษาวางบทสืบไป
ค. ประเภทลหุทัณฑ์ เปนอาญาสำหรับที่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงมีอำนาจจะกระทำได้แก่ผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชาของตน (คือ อธิบดีกรมลงโทษแก่คนในกรมของตน) มีเปนนานาสถาน ดังต่อไปนี้
1. ภาคทัณฑ์
2. ติโทษ
3. กัก ไม่เกินกว่า 15 วัน
4. ทัณฑกรรม ไม่เกินกว่า 3 วัน
ถ้าผู้บังคับบัญชาโดยตรงมีความปรารถนาจะลงโทษแก่ผู้ใดยิ่งขึ้นไปกว่าที่กำหนดไว้แล้วนี้ ต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาสูงสุด
มาตรา 46 ห้ามมิให้ผู้ใดลงอาญาแก่คนในบังคับบัญชาของตนเกินอำนาจของตนตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 45 นั้นเปนอันขาด ผู้มีอำนาจลงอาญาและผู้รับโทษมีกำหนดเปนลำดับโดยละเอียด ดังแจ้งอยู่ในตารางซึ่งแนบไว้ ณ ที่นี้ดังต่อไปนี้
มาตรา 47 ฝ่ายผู้ที่รับโทษ ถ้าแม้เห็นว่าการที่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงลงโทษนั้นไม่เปนยุติธรรมหรือแรงเกินไปก็ดี อนุญาตให้อุทธรณ์ถึงผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้การอุทธรณ์ให้เขียนเปนลายลักษณ์อักษร และต้องยื่นต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดนั้น ภายใน 7 วัน และในระหว่างที่อุทธรณ์นี้ ให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงรอการลงโทษไว้ก่อน ฝ่ายผู้บังคับบัญชาสูงสุดนั้น จะสั่งยกเรื่องราวเสียหรือจะสั่งแก้ไขโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้เพิ่มโทษให้หนักขึ้น เว้นแต่ที่เห็นว่าผู้บังคับบัญชาโดยตรงได้จับข้อความผิดนั้นผิดประเภทหรือไม่ตรงกับความในกฎนี้ ก็ให้สั่งแก้ไขไปตามความเห็นของตนได้ ถ้าผู้รับโทษไม่พอใจในคำวินิจฉัยแห่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดก็ให้ทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทา นพระบรมราชวินิจฉัย หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาลรับสั่งกระทรวงวังพิจารณา ก็สุดแท้จะโปรด แต่ฎีกาต้องทูลเกล้าฯ ถวายภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่คำสั่งของผู้บังคับบัญชาสูงสุดตกมานั้นเปนต้นไป และในระหว่างที่ยังมิได้มีพระราชกระแสสั่งในส่วนฎีกานั้น ให้รอการลงโทษแก่ผู้ถวายฎีกาไว้ก่อน
มาตรา 48 ถ้าผู้ลงโทษเปนผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสุด แม้ผู้รับโทษเห็นว่าการลงโทษนั้นไม่เปนยุติธรรมหรือแรงเกินไป อนุญาตให้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้และระเบียบการให้เปนไปเช่นกล่าวมาแล้วในมาตรา 47 แล้วนั้น จงทุกประการ
มาตรา 49 ศาลรับสั่งกระทรวงวังเปนศาลสูงสุดในพระราชสำนักเพราะฉะนั้น คดีใดซึ่งศาลรับสั่งได้วินิจฉัยเด็ดขาดไปแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยจะอุทธรณ์มิได้ ถ้าจำเลยจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกากราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษนั้นได้ แต่จะคัดค้านคำพิพากษาไม่ได้เปนอันขาด
มาตรา 50 คำพิพากษาศาลรับสั่ง ต้องได้รับพระบรมราชานุมัติก่อนจึงจะบังคับบัญชาให้ล งโทษตามคำพิพากษานั้นได้
หมวดที่ 9
ว่าด้วยการกำหนดโทษสำหรับความผิด
มาตรา 51 ผู้ใดซึ่งมีครอบครัวและเคหะสถานอยู่แล้ว เมื่อประกาศใช้กฎนี้ มิได้รีบไปลงทะเบียนภายในกำหนดตามความในมาตรา 10 แล้ว ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดชั้นมัธยมกรรม ต้องระวางโทษชั้นมัธยมทัณฑ์
มาตรา 52 ผู้ใดที่มีครอบครัวหรือเคหะสถานภายหลังวันที่ประกาศใช้กฎนี้ มิได้ไปจดทะเบียนที่กรมตนสังกัดภายในเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 14 ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดเปนชั้นคุรุกรรม ต้องระวางโทษชั้นคุรุทัณฑ์
มาตรา 53 ผู้ใดที่มีครอบครัวหรือเคหะสถาน อันได้จดทะเบียนแล้วเมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ว่าไว้ในมาตรา 15 แห่งกฎนี้มิได้ไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงานภายในกำหนดปักษ์หนึ่ง ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดเปนชั้นคุรุกรรม ต้องระวางโทษชั้นคุรุทัณฑ์
มาตรา 54 ผู้ใดที่ยังมิได้มีครอบครัวหรือเคหะสถานของตนเอ ง แต่เมื่อก่อนประกาศใช้กฎนี้ ไปมีภรรยาหรือเคหะสถานโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกรมของตนก่อนตามความในมาตรา 23 และมาตรา 24 แห่งกฎนี้ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดชั้นคุรุกรรม ต้องระวางโทษชั้นคุรุทัณฑ์
มาตรา 55 ผู้ใดที่มีครอบครัวหรือเคหะสถานอันได้จดทะเบียนแล้วมีภรรยาเพิ่มเติมใหม่อีก หรือมีเคหะสถานเพิ่มขึ้นอีก โดยมิได้รับอนุญาตตามความในมาตรา 25 ก็ดี หรือมิได้ไปจดทะเบียนภายในกำหนดปักษ์หนึ่งตามความในมาตรา 16 ก็ดี ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดเปนชั้นคุรุกรรม ต้องระวางโทษชั้นคุรุทัณฑ์
มาตรา 56 ผู้ใดบังอาจมีภรรยาเปนชาวต่างประเทศหรือคนในบังคับรัฐบาลต่างประเทศ ก่อนที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดเปนชั้นคุรุกรรม ต้องระวางโทษจำขังไม่ต่ำกว่า 12 เดือน
มาตรา 57 คนโสดและคนไม่มีเคหะสถาน หรือคนหม้าย ซึ่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้กำหนดให้อยู่ประจำในสถานที่ราชการแห่งใด ๆ แล้ว ไปเลือกอยู่แห่งอื่นโดยมิได้รับอนุญาตพิเศษจากผู้บังคับบัญชาสูงสุด ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดชั้นมัธยมกรรมต้องระวางโทษชั้นมัธยมทัณฑ์
มาตรา 58 คนโสดและคนไม่มีเคหะสถาน หรือคนหม้าย ซึ่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้กำหนดให้อยู่ในเขตสถานที่ราชการแล้ว ไปนอนค้างอยู่แห่งอื่นโดยมิได้รับอนุญาตดังว่าไว้ในมาตรา 41 แห่งกฎนี้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิด ตกอยู่ในสถานใดสถานหนึ่งในสองสถาน กล่าวคือ ถ้าไปนอนค้างอยู่แห่งอื่นเพียงคืนหนึ่งต้องระวางโทษชั้นลหุทัณฑ์ ถ้าเกินกว่าหนึ่งคืน ต้องระวางโทษชั้นมัธยมทัณฑ์
มาตรา 59 ผู้ใดที่กล่าวความเท็จต่อเจ้าพนักงานหรือผู้บังคับบัญชาด้วยข้อใดข้อหนึ่งอันเนื่องด้วยกฎนี้ เปนต้นว่า ผู้บังคับบัญชาถามถึงเรื่องภรรยาหรือเคหะสถานของตนเองก็ดี หรือของข้าราชการผู้อื่นก็ดี นำความไม่จริงหรือที่ไม่รู้จริงมากล่าว ท่านว่าผู้นั้นกล่าวเท็จ มีความผิดชั้นลหุกรรมหรือมัธยมกรรม ต้องระวางโทษชั้นลหุทัณฑ์หรือมัธยมทัณฑ์ ตามสมควรแก่เหตุผล
มาตรา 60 ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง และการที่กระทำนั้นเปนการละเมิดกฎนี้หลายบทด้วยกัน ท่านให้ใช้บทที่มีทัณฑ์หนักลงโทษแก่ผู้นั้น
มาตรา 61 ผ ู้ใดกระทำความผิดหลายกระทง ท่านว่าผู้นั้นต้องมีโทษตามกระทงความผิดทุกกระทง
มาตรา 62 ผู้ใดละเมิดกฎนี้ด้วยข้อใดข้อหนึ่ง และเมื่อได้พ้นโทษแล้วไปกระทำความผิดขึ้นอีก ท่านว่าผู้นั้นไม่ เข็ดหลาบ
ผู้ใดไม่เข็ดหลาบ ท่านว่าผู้นั้นต้องรับโทษเปนทวีคูณ
ประกาศมา ณ วันที่ 1 สิงหาคม พระพุทธศักราช 2457 เปนวันที่1360 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
(1) รก.2467/-/195/12 พฤศจิกายน 2467
(1) รก.2461/-/146/23 มิถุนายน 2461
(1) รก.2475/-/256/11 สิงหาคม 2475
(1) รก.2458/-/80/30 พฤษภาคม 2458
(1) รก.2458/-/481/5 มีนาคม 2458
(1) รก.2456/-/194/24 สิงหาคม 2456
(1) รก.ร.ศ.131/-/106/23 มิถุนายน ร.ศ. 131
(1) รก.2457/-/367/1 กันยายน 2457
(1) รก.2457/-/444/29 พฤศจิกายน 2457
(1) รก.2457/-/277/1 สิงหาคม 2457