พระราชปรารภ

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่ากฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 (ร.ศ. 126) นั้น อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะกระทำการใด ๆ ยังหาตรงกับระเบียบพิชัยสงคราม อันจะได้รักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือ เกิดขึ้นภายในได้โดยสะดวกไม่ บัดนี้ สมควรแก้ไขกฎอัยการศึกและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ศ. 2450 (ร.ศ. 126) นั้นเสีย และให้ใช้กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ดังต่อไปนี้

นามพระราชบัญญัติ

มาตรา 1(1) พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457”

ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ

มาตรา 2(2) เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตราหรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน

ลักษณะประกาศ

มาตรา 3 ถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักรในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฏว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตใดใช้กฎอัยการศึก

ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 4 เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด

เมื่อเลิกต้องประกาศ

มาตรา 5 การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ

อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 6(1) ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

อำนาจศาลทหาร และอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 7(2) ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติ เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาศึก และ ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อ หรือแต่บางข้อและหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ทั้งมีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติม หรือ ยกเลิกประกาศดังกล่าวนั้นด้วย

ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรกให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศวันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นหรือภายหลังก็ได้ ประกาศเช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาด้วย

นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบ เรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นในศาลทหารก็ได้

มาตรา 7 ทวิ(1) ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามความในมาตรา 7 นั้น จะให้ศาลทหารในทุกท้องที่หรือแต่บางท้องที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามที่กล่าวในมาตรานั้นเท่ากันหรือมากน้อยกว่ากันก็ได้

มาตรา 7 ตรี(2) เมื่อได้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังคงค้างอยู่ในศาลนั้น และให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังมิได้ฟ้องร้องในระหว่างเวลาที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นด้วย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ

มาตรา 8 เมื่อประกาศใช้กฎอัยการ ศึกในตำบลใด เมืองใด มณฑลใดเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะเข้าอาศัย ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่จะขับไล่

การตรวจค้น

มาตรา 9(3) การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้นดังต่อไปนี้

(1) ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึดหรือจะต้องเข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือ ที่ใด ๆ และไม่ว่าเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น

(2) ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่งหรือมีไปมาถึงกันในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก

(3) ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์

การเกณฑ์

มาตรา 10 การเกณฑ์นั้น ให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้

(1) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ

(2) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน สัตว์พาหนะ เสบียงอาหาร เครื่องศาตราวุธ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง

มาตรา 11(4) การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้

(1) ที่จะห้ามมั่วสุมประชุมกัน

(2) ที่จะห้ามออก จำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพ บท หรือคำประพันธ์

(3) ที่จะห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์

(4) ที่จะห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจรไม่ว่าจะเป็นทางบกทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินด้วย

(5) ที่จะห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ และเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน หรือที่อาจนำไปใช้ทำเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้

(6) ที่จะห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนด

(7) ที่จะห้ามบุคคลเข้าไปหรืออาศัยอยู่ในเขตท้องที่ใดซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเมื่อได้ประกาศห้ามเมื่อใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตนั้นออกไปจากเขตนั้นภายในกำหนดเวลาที่ได้ประกาศกำหนด

(8) ที่จะห้ามบุคคลกระทำหรือมีซึ่งกิจการหรือสิ่งอื่นใดได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ว่าควรต้องห้ามในเวลาที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 12 บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศั ตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้

การเข้าอาศัย

มาตรา 13 อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเป็นและใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ทุกแห่ง

การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่

มาตรา 14 การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำ ได้ดังนี้

(1) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้านและสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกันการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น

(2) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้านเมือง สำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง

การขับไล่

มาตรา 15 ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐานหรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้

มาตรา 15 ทวิ(1) ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน

ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้

มาตรา 16 ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา 8 และมาตรา 15 บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเป็นอิสรภาพและสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน

มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง

มาตรา 17 ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหารมีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้นสำหรับบรรยายข้อความ เพื่อให้มีความสะดวกและเรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติมให้การดำเนินไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ และเมื่อได้ประกาศกฎเสนาบดี หรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินี้

ประกาศมา ณ วันที่ 27 สิงหาคม พระพุทธศักราช 2457 เป็นวันที่ 1386 ในรัชกาลปัจจุบันนี้

บัญชีต่อท้าย (1)

พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2502

คดีที่เกี่ยวกับตัวบุคคลบางจำพวก

1. คดีที่ตำรวจกระทำความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนาม

2. คดีที่บุคคลพลเรือนสังกัดในราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ราชการหรือไม่ และไม่ว่าจะได้กระทำความผิดในที่ใด ๆ ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก

3. คดีที่บุคคลใด ๆ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร หรือร่วมกับบุคคลดังกล่าวใน 1. หรือ 2. ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน

4. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน

ข. คดีที่เกี่ยวกับความผิดบางอย่าง

1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร

2. คดีที่มีข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สำหรับใช้ในราชการทหารแห่งกองทัพไทย หรือกองทัพพันธมิตรแห่งประเทศไทย หรือความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายทหารไทยหรือทหารพันธมิตรแห่งประเทศไทย ในขณะกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่

3. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังต่อไปนี้

(1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112

(2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118

(3) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 119 ถึงมาตรา 129

(4) ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา 130 ถึงมาตรา 135

(5) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137 เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา 136 มาตรา 138 ถึงมาตรา 142 มาตรา 145 และมาตรา 146

(6) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตั้งแต่มาตรา 147 ถึงมาตรา 154 มาตรา 158 ถึงมาตรา 165

(7) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามมาตรา 172 เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร มาตรา 170 มาตรา 171 มาตรา 175 ถึงมาตรา 185 มาตรา 189 มาตรา 193 มาตรา 197 และมาตรา 198 เฉพาะเมื่อศาลนั้นเป็นศาลทหาร

(8) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 201 และมาตรา 202

(9) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตั้งแต่มาตรา 209 ถึงมาตรา 216

(10) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตั้งแต่มาตรา 217 ถึงมาตรา 224 มาตรา 226 มาตรา 228 ถึงมาตรา 232มาตรา 234 มาตรา 235 มาตรา 237 และมาตรา 238

(11) ความผิดเกี่ยวกับดวงตรา แสตมป์ และตั๋ว ตั้งแต่มาตรา 250 ถึงมาตรา 253 เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร

(12) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตั้งแต่มาตรา 265 ถึงมาตรา 268 เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทหาร

(13) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามมาตรา 336 มาตรา 339 และมาตรา 340

4. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหาร

5. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร

6. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบทหาร

7. ความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ตั้งแต่มาตรา 45 ถึงมาตรา 49

8. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่น

9. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพย์ติดให้โทษ

10. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พุทธศักราช 2485

[รก.2485/29/916/28 เมษายน 2485]

พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2487 บทบัญญัติเฉพาะกาล

มาตรา 8 บรรดาคดีอาญาที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทหารในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามความในพระราชบัญญัตินี้แล้วนั้น ให้โอนมาให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้พนักงานอัยการเข้าเป็นโจทก์ในคดีเหล่านั้น ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้บังคับตั้งแต่วันที่โอนคดีมานั้น

[รก.2487/79/1245/31 ธันวาคม 2487]

พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2502

มาตรา 4 บรรดาอำนาจหน้าที่ของแม่ทัพใหญ่ตามความในมาตรา 17 แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการทหารสูงสุด

มาตรา 6 พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระทั่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 12 ฉบับที่ 15 ฉบับที่ 16 ฉบับที่ 20 ฉบับที่ 30 และฉบับที่ 41

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับบัญชีต่อท้ายกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกส่วนมากได้อ้างถึงความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาซึ่งได้ถูกยกเลิกและใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทน จึงเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกเสียใหม่ให้เป็นการสอดคล้องต้องกันด้วย

[รก.2502/78/315/11 สิงหาคม 2502]

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 (คำปรารภ)

โดยที่ปัจจุบันนี้การรบ การสนับสนุนกำลังรบ ตลอดจนเครื ่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ในกฎอัยการศึก ได้วิวัฒนาการไปกว่าแต่ก่อน บทบัญญัติของกฎอัยการศึกซึ่งได้ตราขึ้นใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 ย่อมคลุมไม่ถึงการกระทำและเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างในปัจจุบันทั้งในการปราบปรามและสนับสนุนการปฏิบัติการของทหารโดยเฉพาะในการรบนอกแบบ ควรให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเพิ่มขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติการของทหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและควรกำหนดวิธีการขั้นต้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลผู้เป็นราชศัตรูหรือฝ่าฝืนต่อกฎอัยการศึกหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการได้เพื่อที่จะดำเนินการขั้นต่อไป ตามควรแก่กรณี จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

[รก.2515/190/16/13 ธันวาคม 2515]

(1) รก.2457/-/388/13 กันยายน 2457

(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พุทธศักราช 2485

(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515

(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515

(1) – (2) เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2487

(3) – (4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515

(1) มาตรา 15 ทวิ เพิ่มความโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515

(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2502