อานันทมหิดล
ตราไว้ ณ วันที่ 8 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489
เป็นปีที่ 13 ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรวางระเบียบการค้าข้าว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489”
มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“ข้าว”(2) หมายความว่า ข้าวเปลือก, ข้าวกล้อง, ข้าวสาร,ข้าวเหนียวและรวมตลอดถึงปลายข้าว, รำ และสิ่งใด ๆ ที่แปรสภาพมาจากข้าว
“การค้าข้าว”(3) หมายความว่า การซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน หรือโอนกรรมสิทธิ์ข้าว รวมตลอดถึงการสีข้าว ทั้งนี้นอกจากสำหรับบริโภคในครอบครัว
“ผู้ค้าข้าว” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบการค้าข้าวตามพระราชบัญญัตินี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นตามความในพระราชบัญญัตินี้
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ที่คณะกรรมการแต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 ให้มีกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งนาย และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าหกนายซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 5 คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดหรือคณะบุคคลใดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งแทนคณะกรรมการได้
มาตรา 6 ให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ หรือเคหะสถานของบุคคลใดเพื่อตรวจข้าว ใบรับในการขาย หรือแลกเปลี่ยนข้าว รายงานการค้าข้าว และเอกสารอื่น ๆ เกี่ยวกับการค้าข้าวได้ในเวลากลางวัน และมีอำนาจสั่งบุคคลใดที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำในเรื่องที่เกี่ยวกับการนั้นได้
มาตรา 7 ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศเขตควบคุมการค้าข้าวได้
มาตรา 8(4) ในเขตควบคุมการค้าข้าว ให้คณะกรรมการมีอำนาจ
(1) แบ่งแยกประเภทผู้ประกอบการค้าข้าว และสั่งผู้ประกอบการค้าข้าว ประเภทหนึ่งประเภทใด หรือทุกประเภท ให้ขออนุญาตประกอบการค้าข้าว
(2) กำหนดราคาข้าว และสั่งห้ามมิให้ขายเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้นั้น
(3) กำหนดราคาข้าว และสั่งห้ามมิให้ซื้อจากกสิกรต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้นั้น
(4) สั่งห้ามซื้อหรือขายหรือแลกเปลี่ยนหรือโอนกรรมสิทธิ์ข้าวเว้นแต่จะได้รับหนังสืออนุญาตจากคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการจะอนุญาตภายใต้บังคับเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้
(5) สั่งให้แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บข้าว หรือสั่งห้ามยักย้ายข้าวจากสถานที่เก็บหรือเปลี่ยนแปลงสภาพข้าว เว้นแต่จะได้รับหนังสืออนุญาตจากคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการจะอนุญาตภายใต้บังคับเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้
(6) สั่งให้ผู้มีข้าวอยู่ในครอบครองขายข้าวให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามราคาและปริมาณที่คณะกรรมการกำหนด หรือสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ยึดและบังคับซื้อข้าวตามราคา และปริมาณที่คณะกรรมการกำหนดในกรณีที่มีการขัดขืนคำสั่งของคณะกรรมการกับมีอำนาจกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขในการชำระเงินค่าข้าวและในการส่งมอบข้าวนั้น
ในกรณีไม่พบตัวผู้มีข้าวอยู่ในครอบครอง คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ปิดคำสั่งให้ขายข้าวไว้ ณ สถานที่เก็บข้าวหรือพาหนะขนข้าวนั้นเมื่อล่วงพ้นเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาปิดคำสั่งแล้ว ผู้มีข้าวอยู่ในครอบครองไม่มาจัดการขายให้ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งยึดและบังคับซื้อตามความในวรรคก่อนได้
มาตรา 9(1) ในเขตควบคุมการค้าข้าว ผู้ประกอบการค้าข้าวประเภทซึ่งคณะกรรมการสั่งให้ขออนุญาตประกอบการค้าข้าว ต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากคณะกรรมการก่อน จึงจะทำการค้าข้าวได้
ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขระบุไว้ในหนังสืออนุญาต ผู้ประกอบการค้าข้าวต้องปฏิบัติตามข้อความและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในหนังสืออนุญาตนั้น
การขออนุญาตประกอบการค้าข้าว ให้ทำตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้ทำการค้าข้าวประเภทซึ่งคณะกรรมการสั่งให้ขออนุญาตหากได้ประกอบการค้าข้าวอยู่ก่อนวันที่คณะกรรมการสั่งนั้นให้ยื่นคำขออนุญาตประกอบการค้าข้าวภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 10 ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าวต้องเก็บหนังสืออนุญาตนั้นไว้ในที่เปิดเผย ซึ่งอาจจะแลเห็นได้สะดวก ณ สถานที่ที่ทำการค้าข้าว
มาตรา 11 บทบัญญัติมาตรา 9 มิให้ใช้บังคับแก่
(1) กสิกรซึ่งขายหรือแลกเปลี่ยนข้าวซึ่งกสิกรนั้นผลิตได้จากเนื้อที่ที่ตนทำ
(2) ผู้ที่ขายหรือแลกเปลี่ยนข้าวครั้งหนึ่งมีปริมาณดังนี้
(ก) ข้าวเปลือกทุกชนิดไม่เกินสองเกวียนหลวง
(ข) ข้าวอื่น ๆ ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดกิโลกรัม
มาตรา 12(2) ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าวตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องทำรายงานการค้าข้าวประจำวันตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดเก็บไว้ ณ สถานที่ที่ทำการค้าข้าว และต้องยื่นรายงานการค้าข้าวต่อคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ ระยะเวลา และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
การทำรายงานการค้าข้าวดังกล่าวในวรรคก่อน คณะกรรมการมีอำนาจสั่งยกเว้นให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้ และให้มีอำนาจสั่งถอนการยกเว้นนั้นด้วย
มาตรา 13(1) หนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว หรือหนังสืออนุญาตอื่น ๆ ให้มีกำหนดเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนดระบุไว้ในหนังสืออนุญาต
มาตรา 14 ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว ต้องแสดงราคาข้าวประจำวันเป็นภาษาไทยไว้ในที่เปิดเผย ซึ่งอาจจะแลเห็นได้สะดวก ณ สถานที่ทำการค้าข้าว
มาตรา 15(2) ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตคนใดฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดที่ระบุไว้ในหนังสืออนุญาตหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติใด ๆ แห่งพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งถอนหนังสืออนุญาตนั้นได้
มาตรา 16 หนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าวให้ใช้ได้เฉพาะตัวจะโอนกันไม่ได้ และเมื่อเลิกประกอบการค้าข้าวแล้ว ต้องแจ้งให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ
มาตรา 16 ทวิ(3) เจ้าของโรงสีข้าวหรือผู้ประกอบการโรงสีข้าวคนใดหยุดหรือแกล้งหยุดทำการสีข้าวหรือไม่ทำการสีข้าวให้เต็มกำลังที่โรงสีนั้นสามารถที่จะทำการ สีได้ คณะกรรมการมีอำนาจที่จะเรียกให้กระทำการสีข้าวหรือสีข้าวให้เต็มกำลังต่อไปภายในระยะเวลาที่กำหนดและมีอำนาจกำหนดค่าจ้างสีข้าวให้ปฏิบัติได้
เมื่อคณะกรรมการได้มีคำสั่งตามความในวรรคก่อนแล้ว เจ้าของโรงสีข้าว หรือผู้ประกอบการโรงสีข้าว ไม่ปฏิบัติภายในระยะที่คณะกรรมการกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจเข้ายึดโรงสีนั้นมาดำเนินการเสียเองได้ และในการนี้เจ้าโรงสีไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น
มาตรา 17(4) ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (2) หรือ (3) หรือ (4) หรือ (5) หรือ (6) หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดที่ระบุไว้ในหนังสืออนุญาตซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (4) หรือ (5) ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงห้าพันบาท
มาตรา 18(5) ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 9 หรือมาตรา 12 วรรคหนึ่งผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 10 มาตรา 14 หรือมาตรา 16 ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา 20 ผู้ใดให้ถ้อยคำเท็จในการแจ้งปริมาณหรือสถานที่เก็บข้าวหรือขัดขืน หรือฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา 6 หรือให้ถ้อยคำเท็จแก่บุคคลนั้น ๆ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา 21 พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดปฏิบัติการหรือละเว้นปฏิบัติการในหน้าที่ อันเป็นการช่วยเหลือให้มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา 21 ทวิ(6) ข้าว ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความผิดตลอดจนสิ่งที่ใช้บรรจุให้ริบเสีย
มาตรา 22 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ปรีดี พนมยงค์
นายกรัฐมนตรี
(1) รก.2489/29/296/9 พฤษภาคม 2489
(2) – (4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2489
(1)(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2489
(1) – (6) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2489