ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29
ประกอบกับมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542”
มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด พ.ศ. 2507
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“ความเสียหาย” หมายความว่า ความเสียหายตามหมวด 3
“อุตสาหกรรมภายใน” หมายความว่า อุตสาหกรรมภายในตามหมวด 4
“สินค้าที่ถูกพิจารณา” หมายความว่า สินค้ารายที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทุ่มตลาดหรือได้รับการอุดหนุน
“สินค้าชนิดเดียวกัน” หมายความว่า สินค้าที่มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการกับสินค้าที่ถูกพิจารณา แต่ในกรณีที่ไม่มีสินค้าดังกล่าวให้หมายความว่าสินค้าที่คล้ายคลึงกันอย่างมากกับสินค้าดังกล่าว
“ขั้นตอนทางการค้า” หมายความว่า ขั้นตอนต่าง ๆ ในการจำหน่ายสินค้าทอดตลาดต่าง ๆ จนถึงผู้บริโภค
“ส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด” หมายความว่า ส่วนที่ราคาส่งออจากต่างประเทศต่ำกว่ามูลค่าปกติ
“ผู้มีส่วนได้เสีย” หมายความว่า
(1) ผู้ผลิตในต่างประเทศ ผู้ส่งออกจากต่างประเทศ ผู้นำเข้าซึ่งสินค้าที่ถูกพิจารณาหรือสมาคมในทางการค้าที่สมาชิกมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าซึ่งสินค้าที่ถูกพิจารณา แล้วแต่กรณี
(2) รัฐบาลของประเทศผู้ส่งออกซึ่งสินค้าที่ถูกพิจารณา
(3) ผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในประเทศ หรือสมาคมในทางการค้าที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าว หรือ
(4) บุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด
“อากร” หมายความว่า อากรชั่วคราว อากรตอบโต้การทุ่มตลาด หรืออากรตอบโต้การอุดหนุน แล้วแต่กรณี
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของกรมศุลกากร และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงตามมาตรา 11 เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกะทรวงพาณิชย์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการใด ๆ
เกี่ยวกับการพิจารณาการทุ่มตลาด การพิจารณาการอุดหนุน การพิจารณาความเสียหายการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการพิจารณาตอบโต้การอุดหนุน การทบทวน มาตรการตอบโต้ รวมทั้งการดำเนินการใด ๆ อันเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
ในกรณีที่สมควร กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งนั้นจะกำหนดให้กรณีหนึ่งกรณีใดอาจกระทำได้โดยออกเป็นประกาศกระทรวงพาณิชย์
หมวด 1
บททั่วไป
—————
มาตรา 7 การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนให้คำนึงถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค
และประโยชน์สาธารณะประกอบกัน
มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ เมื่อคณะกรรมการเห็นสมควรจะมีหนังสือขอให้
กรมศุลกากรดำเนินการจัดทำทะเบียนการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าใดหรือรวบรวมข้อมูลข่าวสารอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าได้ ในกรณีนี้ให้กรมศุลกากรมีอำนาจกำหนดให้ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออกแจ้งข้อเท็จจริงใด ๆ ตามที่คณะกรรมการร้องขอได้ และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรในส่วนที่เกี่ยวข้องใช้บังคับแก่กรณีนี้
มาตรา 9 ผู้ซึ่งยื่นคำขอให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดหรือพิจารณาตอบโต้การอุดหนุน ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออกจากต่างประเทศอาจขอรายละเอียดที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นฐานในการกำหนดมาตรการชั่วคราวการกำหนดอากร หรือการทบทวนอากรได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด
คำขอตามวรรคหนึ่งจะยื่นเมื่อพ้นหนึ่งเดือนนับแต่วันที่มีการกำหนดมาตรการชั่วคราวหรือการกำหนดอากร
ไม่ได้
มาตรา 10 ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ผู้ใดอาจมีคำขอให้พิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด พิจารณาตอบโต้การอุดหนุน ให้ทำความตกลง การขอให้ทบทวนมาตรการต่าง ๆ ตลอดจนการขอข้อมูลข่าวสารใดนั้น ให้กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายได้ตามความเหมาะสมแก่ภาระในการดำเนินงานดังกล่าว
มาตรา 11 การคืนอากรหรือหลักประกันการชำระอากรตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
หมวด 2
การทุ่มตลาด
—————
มาตรา 12 การทุ่มตลาดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในเป็นการกระทำอันมิชอบที่อาจ
ตอบโต้ได้
มาตรา 13 การทุ่มตลาดตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ การส่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทยเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์ โดยมีราคาส่งออกที่ต่ำกว่ามูลค่าปกติของสินค้าชนิดเดียวกัน
มาตรา 14 ราคาส่งออก ได้แก่ ราคาส่งออกจากประเทศผู้ส่งออกมายังประเทศตามที่ได้ชำระหรือควรจะการชำระกันจริง
ในกรณีที่ไม่ปรากฏราคาส่งออกหรือราคาส่งออกนั้นไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากมีการร่วมมือกันหรือจัดให้มีการ
ชดเชยประโยชน์กันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องให้คำนวณหาราคาส่งออกจากราคาสินค้านั้นที่ได้จำหน่ายต่อไปทอดแรกยังผู้ซื้ออิสระ แต่ในกรณีที่สินค้านั้นไม่มีการจำหน่ายต่อไปยังผู้ซื้ออิสระหรือไม่ได้จำหน่ายต่อไปตามสภาพสินค้าที่เป็นอยู่ในขณะนำเข้า ให้คำนวณราคาส่งออกตามหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่เหมาะสมแก่กรณีดังกล่าว
ในกรณีตามวรรคสอง การคำนวณหาราคาส่งออกให้หักค่าใช้จ่ายและค่าภาระต่าง ๆ ตลอดจนภาษีอากร
และกำไรที่ได้รับอันเกิดขึ้นระหว่างการนำเข้าและการจำหน่ายต่อไปออกด้วย
มาตรา 15 มูลค่าปกติ ได้แก่ ราคาที่ผู้ซื้ออิสระในประเทศ ผู้ส่งออกได้ชำระหรือควรจะมีการชำระกันจริง
ในทางการค้าปกติสำหรับสินค้าชนิดเดียวกันที่ขายเพื่อการบริโภคภายในประเทศนั้นโดยพิจารณาจากการขายสินค้า
ดังกล่าวในปริมาณใดปริมาณหนึ่งที่เหมาะสมซึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของปริมาณสินค้านั้นที่ส่งออกจากประเทศผู้ส่งออกมายังประเทศไทย แต่จะนำปริมาณการขายที่ตำกว่านั้นมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก็ได้ ถ้ามีเหตุอันรับฟังได้ว่าราคาขายที่พิจารณาจากปริมาณสินค้าดังกล่าวเป็นราคาในตลาดประเทศผู้ส่งออก
ในกรณีไม่ปรากฏราคาตามวรรคหนึ่งหรือราคานั้นไม่น่าเชื่อถือเนื่องจากมีการร่วมมือกันหรือจัดให้มีการ
ชดเชยประโยชน์กันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือตลาดในประเทศผู้ส่งออกมีลักษณะเฉพาะทำให้ไม่อาจหาราคาที่เปรียบเทียบกันได้โดยเหมาะสม ให้พิจารณาหามูลค่าปกติจากราคาต่อไปนี้
(1) ราคาส่งออกในทางการค่าปกติของสินค้าชนิดเดียวกันที่ส่งออกจากประเทศผู้ส่งออกไปยังประเทศที่สามที่เหมาะสม ถ้ามีเหตุอันรับฟังได้ว่าราคานั้นแสดงถึงราคาในตลาดประเทศผู้ส่งออก หรือ
(2) ราคาที่คำนวณจากต้นทุนการผลิตในประเทศแหล่งกำเนิดรวมกับจำนวนที่เหมาะสมของค่าใช้จ่ายในการจัดการ การขาย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตลอดจนกำไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ในกรณีที่ราคาตามวรรคหนึ่งหรือราคาตามวรรคสอง (1) ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตรวมกับค่าใช้จ่ายในการจัดการ การขาย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เมื่อได้พิจารณาการขายสินค้าดังกล่าวในระยะเวลาหนึ่งที่สมควรโดยมีปริมาณการขายที่มากพอแล้ว ถ้าปรากฏว่าราคาเหล่านั้นจะไม่สามารถทำให้คืนทุนได้ภายในเวลาที่เหมาะสม จะถือว่าราคานั้นเป็นราคาในทางการค่าปกติที่จะนำมาพิจารณาหามูลค่าปกติไม่ได้เว้นแต่ราคานั้นสูงกว่าต้นทุนการผลิตถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักต่อหน่วย
ที่ปรากฏในการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด
มาตรา 16 ในกรณีที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกไปใช้กลไกตลาดการหามูลค่าปกติตามมาตรา 15
ให้พิจารณาเทียบเคียงจากข้อมูลราคาที่เป็นอยู่ในประเทศที่สามซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาดและเหมาะสมแก่การเปรียบเทียบ แต่ถ้าหาประเทศที่สามที่เหมาะสมไม่ได้ให้พิจารณาจากราคาของสินค้าชนิดเดียวกันที่จำหน่ายในประเทศไทยหรือจากพื้นฐานอื่นใดตามที่เหมาะสมแก่กรณี
มาตรา 17 ในกรณีเป็นการนำสินค้าเข้ามาในประเทศไทยโดยการส่งออกจากประเทศอื่นซึ่งมิใช่ประเทศ
แหล่งกำเนิด ให้ใช้ข้อมูลราคาที่เป็นอยู่ในประเทศผู้ส่งออกนั้นเป็นเกณฑ์ในการหามูลค่าปกติตามมาตรา 15 แต่ถ้ามีเหตุ
อันควรจะใช้ราคาในประเทศแหล่งกำเนิดเป็นเกณฑ์ในการหามูลค่าปกติก็ได้โดยเฉพาะในกรณีที่สินค้านั้นเป็นเพียงการ
ขนถ่ายผ่านประเทศผู้ส่งออก หรือสินค้านั้นไม่มีการผลิตในประเทศผู้ส่งออก หรือไม่มีราคาที่จะเปรียบเทียบกันได้ในประเทศผู้ส่งออก
มาตรา 18 การพิจารณาหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดให้มีการเปรียบเทียบอย่างเป็นธรรมและให้กระทำที่
ขั้นตอนทางการค้าเดียวกันและในเวลาเดียวกัน โดยคำนึงถึงบรรดาข้อแตกต่างที่มีผลกระทบต่อการเปรียบเทียบราคาประกอบด้วย ในกรณีที่ราคาส่งออกและมูลค่าปกติมิได้อยู่บนขั้นตอนทางการค้าเดียวกันหรือเวลาเดียวกัน ให้มีการปรับลดองค์ประกอบต่าง ๆ ที่แตกต่างกันอันมีผลกระทบต่อการเปรียบเทียบราคาออกด้วย
ภายใต้บังคับวรรคหนึ่ง วิธีการหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดต่อหน่วยให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะมีเหตุ
สมควรที่จะใช้วิธีการอื่น
(1) เปรียบเทียบระหว่างมูลค่าปกติถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกับราคาส่งออกถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก
(2) เปรียบเทียบระหว่างมูลค่าปกติกับราคาส่งออกของธุรกรรมแต่ละรายโดยเฉลี่ยหรือ
(3) ในกรณีที่ปรากฏว่าราคาส่งออกมายังตลาดภายในประเทศมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญระหว่างผู้ซื้อต่างคนกัน ภูมิภาคที่ส่งออก หรือระยะเวลาที่ส่งออก และวิธีการตาม(1) หรือ (2) ไม่อาจส่งออกของธุรกรรมแต่ละราย
โดยเฉลี่ย
ในการหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดจะใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนดก็ได้
หมวด 3
ความเสียหาย
—————
มาตรา 19 ถ้าบทบัญญัติใดมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ความเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้หมายความว่า
(1) ความเสียหาย อย่างสำคัญที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายใน
(2) ความเสียหายอย่างสำคัญที่อาจเกิดแก่อุตสาหกรรมภายใน หรือ
(3) อุปสรรคล่าช้าอย่างสำคัญต่อการก่อตั้งหรือการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใน
มาตรา 20 การพิจารณาว่ามีความเสียหายอย่างสำคัญที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายในตามมาตรา 19 (1)
ต้องมีพยานหลักฐานโดยตรงสนับสนุนเกี่ยวกับกรณีดังต่อไปนี้
(1) ปริมาณของสินค้าทุ่มตลาดและผลของการทุ่มตลาดที่มีต่อราคาของสินค้าชนิดเดียวกัน
(2) ผลกระทบของการทุ่มตลาดนั้นที่มีต่ออุตสาหกรรมภายใน
ในกรณีมีการทุ่มตลาดสินค้าใดจากประเทศผู้ส่งออกมากกว่าหนึ่งประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาตอบโต้
การทุ่มตลาดพร้อมกัน ถ้าปรากฏว่าส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดและปริมาณการนำเข้าจากแต่ละประเทศดังกล่าวมีจำนวนมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำตามมาตรา 28 การพิจารณาความเสียหายตามมาตรา 19 (1) จะประเมินผลของการนำเข้าจากแต่ละประเทศดังกล่าวรวมกันก็ได้ ถ้ากรณีมีความเหมาะสมต่อสภาพการแข่งขันในระหว่างสินค้าทุ่มตลาดด้วยกันและในระหว่าง
สินค้าตลาดกับสินค้าชนิดเดียวกันในตลาดภายในประเทศ
มาตรา 21 ในการพิจารณาความเสียหายตามมาตรา 19 (1) ความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานเกี่ยวข้องทั้งหมดโดยนอกจากผลจากสินค้าทุ่มตลาดจะต้องพิจารณาผลจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ปรากฏว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในในเวลาเดียวกันประกอบด้วย ปัจจัยดังกล่าวให้รวมถึงปริมาณและราคาของสินค้านำเข้าที่มิได้รายในราคาที่มีการลุ่มตลาด การที่อุปสงค์ลดลง
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภค การผูกขาดตัดตอนทางการค้า การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตในต่างประเทศและผู้ผลิต
ภายในประเทศการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ประสิทธิภาพในการส่งออกและความสามารถในการผลิต
มาตรา 22 การพิจารณาว่ามีความเสียหายอย่างสำคัญที่อาจเกิดแก่อุตสาหกรรมภายในตามมาตรา 19 (2)
ต้องมีข้อเท็จจริงสนับสนุนอันมิใช่เป็นเพียงการกล่าวอ้าง หรือการคาดการณ์ หรือความเป็นไปได้ที่ไกลเกินเหตุ โดยจาก
เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เห็นได้ว่าการทุ่มตลาดนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างเห็นได้ชัดและใกล้จะเกิดขึ้น
หรือมีแนวโน้มว่าอาจมีสินค้าทุ่มตลาดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสำคัญได้ถ้าไม่
ดำเนินการป้องกันเสียก่อน ในการนี้อาจพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
(1) อัตราเพิ่มขึ้นที่เห็นได้ชัดของสินค้าทุ่มตลาดอันแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่ามีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
(2) ขีดความสามารถของผู้ส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและระบบสินค้าได้อย่างอิสระอันแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่าอาจมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ให้คำนึงถึงการมีอยู่ของตลาดส่งออกอื่นที่อาจ
รองรับสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วย
(3) ความชัดเจนของผลของราคาสินค้าทุ่มตลาดที่เป็นการกดหรือลดราคาของสินค้าชนิดเดียวกันในตลาดภายในและแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้านั้น
(4) ปริมาณคงเหลือของสินค้าทุ่มตลาด
มาตรา 23 การพิจารณาว่ามีอุปสรรคล่าช้าอย่างสำคัญต่อการก่อตั้งหรือการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างภายในตามมาตรา 19 (3) ต้องมีข้อเท็จจริงที่ทำให้คาดหมายได้ว่าจะทำให้เกิดความล่าช้าอย่างสำคัญซึ่งรวมถึง ความเป็นไปได้หรือระยะเวลาในการก่อตั้งหรือการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในด้วย
หมวด 4
อุตสาหกรรมภายใน
—————
มาตรา 24 อุตสาหกรรมภายในตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ ผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในประเทศที่มี
ผลผลิตรวมกันได้เกินกึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตรวมภายในประเทศของสินค้าชนิดนั้นเว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันรายใดเป็นผู้นำเข้าสินค้าทุ่มตลาด หรือมีความเกี่ยวข้องกับผู้นำเข้าสินค้า
ทุ่มตลาดหรือผู้ส่งออกสินค้าทุ่มตลาดจากต่างประเทศในกรณีเช่นนี้จะไม่ถือว่าผู้ผลิตดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภายในก็ได้
(2) ถ้าในอาณาเขตของประเทศได้มีการแบ่งตลาดของสินค้าชนิดเดียวกันเป็นตลาดมากกว่าหนึ่งตลาดขึ้นไป จะถือว่าผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในแต่ละตลาดเป็นอุตสาหกรรมภายในแยกต่างหากจากกันก็ได้ ถ้าปรากฏว่าผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันของตลาดหนึ่งขายสินค้าของตนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในตลาดนั้น และผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันรายอื่นภายในประเทศมิได้ส่งสินค้าไปยังตลาดนั้นมากพอควรแก่ความต้องการของตลาดดังกล่าว
ให้ถือว่ามีผู้ผลิตมีความเกี่ยวข้องกับผู้นำเข้าสินค้าทุ่มตลาดหรือผู้ส่งออกสินค้าทุ่มตลาดจากต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง (1) ถ้าปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุมอักฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายถูกควบคุมโดยบุคคลที่สาม หรือ
ทั้งสองฝ่ายร่วมกับควบคุมบุคคลที่สาม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยมีเหตุให้เชื่อหรือสงสัยได้ว่าผลจากการเกี่ยวข้องกันจะเป็นเหตุให้ผู้ผลิตรายนั้นมีพฤติกรรมแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเช่นว่านั้น ในการนี้
ให้ถือว่าฝ่ายหนึ่งควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งได้ถ้าฝ่ายแรกอยู่ในฐานะทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติที่จะยับยั้งหรือสั่งการฝ่ายหลังได้
ในกรณีที่มีการแบ่งตลาดตามวรรคหนึ่ง (2) ความเสียหายให้พิจารณาผลที่เกิดขึ้นเฉพาะในตลาดนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมภายในประเทศจะไม่เสียหายก็ตาม และให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับสินค้า
ทุ่มตลาดที่ส่งมาเพื่อการบริโภคเฉพาะในตลาดนั้นได้ แต่ถ้าปรากฏในทางปฏิบัติว่าการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดเฉพาะสินค้าทุ่มตลาดที่ส่งมาเพื่อการบริโภค ในตลาดนั้นไม่อาจปฏิบัติได้ หรือเมื่อผู้ส่งออกสินค้าทุ่มตลาดไม่มีข้อเสนอ
ทำความตกลงที่เหมาะสมภายในเวลาอันควรตามมาตรา 44 จะเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจากสินค้าทุ่มตลาด
ทั้งหมดที่ส่งเข้ามาในประเทศไทยก็ได้
หมวด 5
การพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด
—————
ส่วนที่ 1
บททั่วไป
—————
มาตรา 25 การพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดนอกจากที่ได้บัญญัติไว้ตามหมวดนี้แล้ว ให้เป็นไปตาม
หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 26 ข้อมูลข่าวสารใดเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดโดยสาระและเนื้อหาหรือผู้ให้ข้อมูลข่าวสารนั้น
ขอให้ปกปิด การพิจารณาจะต้องไม่กระทำการใดให้เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น
ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารให้ปกปิดนั้น การเปิดเผยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นั้นก่อน และ
ในการพิจารณาจะต้องขอให้ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารจัดทำย่อสรุปที่สามารถเปิดเผยได้เพื่อประกอบการพิจารณา ถ้าผู้ให้ข้อมูลข่าวสารนั้นไม่จัดทำย่อสรุปดังกล่าวและไม่แจ้งความยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ให้มาภายในเวลาที่กำหนด ในการนี้จะไม่รับฟังข้อมูลข่าวสารนั้นประกอบการพิจารณาก็ได้
มาตรา 27 ในกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียผู้ใดปฏิเสธที่จะนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือไม่นำพยานหลักฐาน
ดังกล่าวมาแสดงภายในเวลาตามที่กำหนด หรือไม่ให้ความร่วมมือเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน หรือขัดขวางกระบวนการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดการพิจารณาจะรับฟังเพียงข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่หรืออาจรับฟังไปในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้นั้น
ก็ได้
มาตรา 28 การพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดให้เป็นอันยุติ หากปรากฏว่าส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดมีจำนวนน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือมีปริมาณการนำเข้าสินค้าทุ่มตลาดน้อกกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 29 ในการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด กรมการค้าต่างประเทศหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี จะดำเนินการเพื่อให้มีการตรวจสอบความเป็นจริงของข้อกล่าวอ้างหรือพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับการพิจารณาก็ได้
การตรวจสอบความเป็นจริงนั้นจะกระทำในขั้นตอนใดของกระบวนการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและจะกระทำในประเทศไทย ประเทศผู้ส่งออก หรือประเทศที่เกี่ยวข้องก็ได้
มาตรา 30 ก่อนที่ประกาศคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการเกี่ยวกับผลการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย ให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสยื่นข้อโต้แย้งในการป้องกันผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น ทั้งนี้ ต้องให้ระยะเวลาอันควรสำหรับการยื่นข้อโต้แย้งดังกล่าว
มาตรา 31 เมื่อการประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียตามมาตรา 39 แล้วหากพฤติการณ์มีเหตุ
อันควรเชื่อว่าในชั้นที่สุดอาจต้องมีการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดตั้งแต่ก่อนวันใช้บังคับมาตรการชั่วคราว คณะกรรมการอาจขอให้กรมศุลกากรเรียกหลักประกันอากรตามพระราชบัญญัตินี้สำหรับสินค้าที่ถูกพิจารณาที่นำเข้ามาตามระยะเวลาที่กำหนดได้ ในการนี้ ให้กรมศุลกากรมีอำนาจเรียกหลักประกันตามจำนวนที่คณะกรรมการมีคำขอ
ส่วนที่ 2
การเริ่มต้นกระบวนการพิจารณา
—————
มาตรา 32 ให้เริ่มดำเนินกระบวนการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด เมื่อมีคำขอของกรมการค้าต่างประเทศหรือของบุคคลหรือคณะบุคคลตามมาตรา 33
มาตรา 33 บุคคลหรือคณะบุคคลอาจเสนอตนทำการแทนอุตสาหกรรมภายในเพื่อขอให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดได้ โดยยื่นคำขอต่อกรมการค้าต่างประเทศ
คำขอตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศซึ่งมีการผลิตรวมกัน
เกินกึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันของผู้ที่ได้แสดงความเห็นทั้งส่วนที่สนับสนุนและส่วนที่คัดค้านรวมกัน
โดยปริมาณการผลิตของฝ่ายสนับสนุนนั้นต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของปริมาณการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันทั้งหมดในประเทศ
การยื่นคำขอให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด
มาตรา 34 ถ้าคำขอตามมาตรา 33 มีรายละเอียดหรือหลักฐานไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องให้กรมการค้า
ต่างประเทศแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการให้ครบถ้วนหรือถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
เมื่อมีคำขอมีรายละเอียดและพยานหลักฐานครบถ้วนและถูกต้องแล้ว ให้กรมการค้าต่างประเทศเสนอคำขอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
มาตรา 35 เมื่อคณะกรรมการได้รับคำขอตามมาตรา 32 แล้ว ให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งให้รัฐบาลของประเทศผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้องทราบถึงการมีคำขอดังกล่าว
มาตรา 36 ผู้ยื่นคำขออาจถอนคำขอได้ แต่ถ้าได้มีการประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายตามมาตรา 39 แล้ว คณะกรรมการจะยุติการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดหรือดำเนินการพิจารณาต่อไปก็ได้
มาตรา 37 ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าคำขอมีมูลเกี่ยวกับการทุ่มตลาดและความเสียหาย ให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยไม่ชักช้า
ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าคำขอนั้นไม่มีมูลเกี่ยวกับการทุ่มตลาดหรือความเสียหายให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยไม่ชักช้า
มาตรา 38 ถ้ารัฐบาลของประเทศใดร้องเรียนว่าสินค้าทุ่มตลาดจากประเทศอื่นที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในของประเทศนั้นและคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยเห็นสมควรให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดตามที่ถูกกล่าวหานั้น ให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการต่อไป โดยให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ แต่การพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด
ดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์การการค้าโลกก่อน
เมื่อกรมการค้าต่างประเทศเห็นสมควร หรือเมื่ออุตสาหกรรมภายในร้องเรียนว่ามีการนำสินค้าจากประเทศอื่นเข้าไปทุ่มตลาดในอีกประเทศหนึ่งและก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในและกรมการค้าต่างประเทศเห็นว่า
คำร้องดังกล่าวมีมูล ให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการร้องขอให้ทางการประเทศนั้นดำเนินการพิจารณาตอบโต้การ
ทุ่มตลาดต่อไป
หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ส่วนที่ 3
การไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย
—————
มาตรา 39 ในการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด ให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนประเด็นการทุ่มตลาดและความเสียหาย เริ่มต้นโดยการออกประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายในราชกิจจา-
นุเบกษา และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษตามที่เห็นสมควร
ประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(1) ระบุสินค้า
(2) ประเทศผู้ส่งออกและประเทศที่เกี่ยวข้อง
(3) ข้อเท็จจริงโดยสังเขป
(4) การขอรับข้อมูลข่าวสารอันเป็นรายละเอียดตลอดจนค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง
(5) ระยะเวลาให้ผู้มีส่วนได้เสียเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นเป็นหนังสือ
(6) กำหนดเวลาให้ผู้มีส่วนได้เสียแจ้งความจำนงขอแถลงการณ์ด้วยวาจาประกอบการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย
ให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายให้ผู้ยื่นคำขอทราบและในกรณีที่ทราบที่อยู่ของผู้ส่งออกจากต่างประเทศ ผู้นำเข้าหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว ให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งเป็น หนังสือให้บุคคลเหล่านั้นทรายประกาศนั้นด้วย
มาตรา 40 เมื่อได้ดำเนินการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายเสร็จแล้วให้กรมการค้าต่างประเทศสรุปผลการไต่สวนและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
ส่วนที่ 4
มาตรการชั่วคราว
—————
มาตรา 41 ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยเบื้องต้นว่ามีการทุ่มตลาดและมีความเสียหายถ้าขณะนั้นปรากฏว่ามีความจำเป็นต้องป้องกันความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในคณะกรรมการอาจใช้มาตรการชั่วคราวโดยประกาศเรียกเก็บอากรชั่วคราวหรือหลักประกันการชำระอากรชั่วคราวดังกล่าวได้
อากรชั่วคราวที่เรียกเก็บตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่สูงกว่าส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดที่ประเมินขณะที่มีคำวินิจฉัยเบื้องต้น
ในกรณีมีการใช้มาตรการชั่วคราว ให้นำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับแก่การเรียกเก็บอากรชั่วคราวเสมือนอากรดังกล่าวเป็นการอากรขาเข้าตามกฎหมายนั้น และอากร
ชั่วคราวที่เก็บได้รวมทั้งเงินที่บังคับจากหลักประกันการชำระอากรนั้นให้เก็บรักษาไว้เพื่อปฏิบัติตามมาตรา 51 และมาตรา
52 จนกว่าจะสิ้นเหตุที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรดังกล่าว
มาตรา 42 มาตรการชั่วคราวจะนำมาใช้ก่อนหกสิบวันนับแต่วันประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดและความ
เสียหายไม่ได้
มาตรการชั่วคราวต้องใช้ตามระยะเวลาที่จำเป็นและตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีปกติจะกำหนดให้เก็บเกินสี่เดือนไม่ได้
(2) ถ้ามีคำขอของผู้ส่งออกจากต่างประเทศที่มีสัดส่วนมากพอสมควร คณะกรรมการจะประกาศขยายเวลาเก็บอากรชั่วคราวเกินกว่าสี่เดือนแต่ไม่เกินหกเดือนก็ได้
(3) ในกรณีมีการพิจารณาประเด็นว่าถ้าเรียกเก็บอากรต่ำกว่าส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดจะเพียงพอตต่อการขจัดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ คณะกรรมการจะประกาศขยายเวลาการเก็บอากรชั่วคราวกรณีตาม (1) เกินกว่า
สี่เดือนแต่ไม่เกินหกเดือนหรือกรณีตาม (2) เกินกว่าหกเดือนแต่ไม่เกินเก้าเดือนก็ได้
ส่วนที่ 5
ความตกลงเพื่อระงับการทุ่มตลาด
—————
มาตรา 43 การพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดอาจยุติลงสำหรับผู้ส่งออกจากต่างประเทศรายหนึ่งรายใดโด
ไม่มีการใช้มาตรการชั่วคราว หรือไม่เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด ถ้าสามารถทำความตกลงกันได้ระหว่างผู้ออกรายนั้นกับกรมการค้าต่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงราคาหรือระงับการส่งออกสินค้าในราคาทุ่มตลาด
กรมการค้าต่างประเทศจะทำความตกลงได้ต่อเมื่อกรณีเป็นที่พอใจว่าความตกลงนั้นจะขจัดผลเสียหายจากการทุ่มตลาดได้ แต่ความตกลงดังกล่าวจะกำหนดให้มีการเพิ่มราคาสูงกว่าที่จำเป็นเพื่อขจัดส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดได้
ความตกลงจะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว
มาตรา 44 การทำความตกลงจะกระทำได้ภายหลังที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยเบื้องต้นแล้ว
ความตกลงนั้น ผู้ส่งออกจากต่างประเทศ จะเป็นฝ่ายเสนอหรือกรมการค้าต่างประเทศจะเป็นฝ่ายเสนอก็ได้
กรมการค้าต่างประเทศจะไม่ยอมรับข้อเสนอทำความตกลงของผู้ส่งออกจากต่างประเทศเพราะเหตุผลในทางนโยบายหรือเหตุผลใด ๆ ก็ได้ และถ้าเป็นกรณีที่สามารถแจ้งเหตุผลให้ได้ ก็ให้แจ้งให้ผู้ส่งออกจากต่างประเทศ ทราบด้วย
มาตรา 45 การที่ผู้ส่งออกจากต่างประเทศผู้ใดไม่เสนอทำความตกลงหรือไม่ยอมรับข้อเสนอทำความตกลงของกกรมการค้าต่างประเทศ จะต้องไม่นำเหตุนั้นมาพิจารณาไปในทางเสียประโยชน์ต่อผู้นั้น
มาตรา 46 ผู้ส่งออกจากต่างประเทศ ที่ทำความตกลงกับกรมการค้าต่างประเทศต้องให้ข้อมูลข่าวสารตามระยะเวลาที่กำหนด และต้องยอมให้กรมการค้าต่างประเทศตรวจสอบความเป็นจริงของข้อมูลข่าวสารนั้นได้ ถ้ามีการฝ่าฝืนความตกลงก็อาจ ใช้ข้อมูล เท่าที่มีอยู่ในการกำหนดมาตรการชั่วคราวและดำเนินกระบวนพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไปได้
มาตรา 47 แม้ได้มีการทำความตกลงกันแล้ว คณะกรรมการจะดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไปก็ได้ ถ้าผู้ส่งออกจากต่างประเทศ ประสงค์เช่นนั้นในการทำความตกลง หรือเป็นกรณีที่ทำความตกลงกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศได้เพียงบางราย หรือเมื่อมีการฝ่าฝืนความตกลง หรือคณะกรรมการเห็นสมควรเพราะเหตุอื่น
ในกรณีตามวรรคหนึ่งเมื่อสิ้นสุดการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยชั้นที่สุดว่า
(1) ไม่มีการทุ่มตลาดหรือไม่มีความเสียหาย ก็ให้ยุติการดำเนินการตามความตกลงนั้น แต่ถ้าปรากฏในขณะนั้นว่ากรณีน่าจะมีการทุ่มตลาดหรือมีความเสียหายเกิดขึ้นถ้ามิได้มีการดำเนินการตามความตกลงนั้น คณะกรรมการจะวินิจฉัยให้ดำเนินการตามความตกลงนั้นต่อไปตามระยะเวลาที่สมควรก็ได้
(2) มีการทุ่มตลาดและมีความเสียหาย ก็ให้ดำเนินการตามความตกลงนั้นต่อไป
(3) มีการทุ่มตลาดและมีความเสียหายเนื่องจากมีการฝ่าฝืนความตกลงคณะกรรมการอาจวินิจฉัยให้เก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดตั้งแต่ก่อนวันประกาศใช้บังคับมาตรการชั่วคราวไม่เกินเก้าสิบวันก็ได้ แต่จะใช้กับสินค้าทุ่มตลาดที่นำเข้าก่อนมีการฝ่าฝืนความตกลงนั้นไม่ได้
มาตรา 48 ให้นำบทบัญญัติแห่งหมวด 8 มาใช้บังคับกับความตกลงเพื่อระงับการทุ่มตลาดโดยอนุโลม
หมวด 6
อากรตอบโต้การทุ่มตลาด
—————
มาตรา 49 ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยชั้นที่สุดว่าให้มีการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด อัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดนั้นให้กำหนดได้เพียงเพื่อขจัดความเสียหายและจะเกินกว่าส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดมิได้
อากรตอบโต้การทุ่มตลาดต้องกำหนดให้เหมาะสมกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศแต่ละรายที่ทุ่มตลาดโดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามความตกลงเพื่อระงับการทุ่มตลาดตามส่วนที่ 5 ของหมวด 5
อากรตอบโต้การทุ่มตลาดจากสินค้าใด ให้นำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับกับการเรียกเก็บอากรดังกล่าวเสมือนอากรนั้นเป็นอากรขาเข้าตามกฎหมายนั้น และอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่เก็บได้ให้เก็บรักษาไว้เพื่อปฏิบัติตามมาตรา 59 จนกว่าจะสิ้นเหตุที่จะต้องปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว
มาตรา 50 ในกรณีที่หาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามมาตรา 18 วรรคสาม อากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้กำหนดให้เหมาะสมกับผู้ได้รับการสุ่มเป็นตัวอย่างแต่ละรายสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการสุ่มเป็นตัวอย่างให้กำหนดอัตราไว้ไม่เกินอัตราถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของส่วนเหลื่อมการทุ่ม ตลาด แต่ถ้าผู้อยู่ในบังคับของอัตราอากรดังกล่าวผู้ใดได้ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนโดยครบถ้วนถูกต้องภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ให้คณะกรรมการกำหนดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้เหมาะสมสำหรับผู้นั้นเว้นแต่การกำหนดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับแต่ละรายจะเป็นภาระเกินสมควรและอาจทำให้การไต่สวนไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 54 เนื่องจากมีผู้ได้ให้ข้อเท็จจริง
ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จะกำหนดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดไม่เกินอัตราถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักดังกล่าวก็ได้
มาตรา 51 ในกรณีที่มีความเสียหายตามมาตรา 19 (1) หรือมีความเสียหายตามมาตรา 19 (2) ซึ่งถ้ามิได้มีการใช้มาตรการชั่วคราวมาก่อนน่าจะทำให้เกิดความเสียหายตามมาตรา 19 (1) ได้ คณะกรรมการจะกำหนดให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดตั้งแต่มีการใช้มาตรการชั่วคราวก็ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด
ถ้าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่คณะกรรมการกำหนดตามวรรคหนึ่งมีอัตราสูงกว่าอากรชั่วคราวส่วนต่างที่
เกิดขึ้นนั้นจะเรียกเก็บมิได้ แต่ถ้าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดมีอัตราต่ำกว่าอากรชั่วคราวก็ให้คืนผลต่างของอากรส่วนที่เกิน
ให้ด้วย
มาตรา 52 ในกรณีที่มีความเสียหายตามมาตรา 19 (2) หรือ (3)คณะกรรมการอาจกำหนดให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดได้ตั้งแต่วันที่มีคำวินิจฉัยชั้นที่สุดว่ามีความเสียหายตามมาตรา 19 (2) และ (3) แล้วแต่กรณี และอากรที่เรียกเก็บหรือหลักประกันต่าง ๆ ที่ได้บังคับใช้ตามมาตรการชั่วคราวให้คืนโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยชั้นที่สุดว่าไม่มีการทุ่มตลาดหรือไม่ความเสียหาย บรรดาอากรชั่วคราวที่เรียกเก็บหรือหลักประกันที่ให้ใช้ตามมาตรการชั่วคราวให้คืนโดยไม่ชักช้า
มาตรา 53 ในกรณีที่มีการใช้มาตรการตามมาตรา 31 คณะกรรมการอาจกำหนดให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหลังจากวันประกาศไต่สวนแต่ต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ใช้มาตรการชั่วคราวก็ได้ ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงต่อไปนี้
(1) เคยมีการทุ่มตลาดสินค้ารายนั้นและมีความเสียหายหรือผู้นำเข้าได้รู้หรือควรได้รู้ว่าผู้ส่งออกจากต่างประเทศได้ทุ่มตลาดและอาจมีความเสียหาย และ
(2) ความเสียหายได้เกิดขึ้นจากการเร่งนำเข้าสินทุ่มตลาดเป็นจำนวนมากภายในเวลาอันสั้นซึ่งจากช่วงเวลา ปริมาณการนำเข้าและพฤติการณ์อื่นที่เกี่ยวข้องชี้ให้เห็นว่าจะบั่นทอนผลการใช้บังคับอากรตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นอย่างมาก หากไม่กำหนดให้มีการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดก่อนวันที่ใช้มาตราการชั่วคราว
ก่อนการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดตามวรรคหนึ่ง ต้องให้ผู้นำเข้าได้มีโอกาสเสนอความเห็นด้วย
หมวด 7
ระยะเวลาการไต่สวน
—————
มาตรา 54 การเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดจนถึงการดำเนินการให้คำวินิจฉัยชั้นที่สุดว่าให้มีการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือมีคำวินิจฉัยชั้นที่สุดว่าไม่มีการทุ่มตลาดและไม่มีความเสียหาย ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศไต่สวน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ให้ขยายได้อีกไม่เกินหกเดือน
หมวด 8
ระยะเวลาตอบโต้การทุ่มตลาดและการทบทวน
—————
มาตรา 55 อากรตอบโต้การทุ่มตลาดตามหมวด 6 ให้นำมาใช้ได้ตลอดเวลาที่มีการทุ่มตลาดและมีความ
เสียหาย
มาตรา 56 การทบทวนความจำเป็นในการใช้บังคับอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไป ให้กระทำไดเมื่อคณะกรรมการเห็นสมควรหรือเมื่อมีคำขอจากผู้มีส่วนได้เสียหลังจากได้ใช้บังคับอากรตอบโต้การทุ่มตลาดมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี โดยในคำขอดังกล่าวผู้มีส่วนได้เสียอาจขอให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนเพื่อยุติการเรียกเก็บหรือเปลี่ยนแปลงอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดได้ แต่ต้องเสนอพยานหลักฐานเพียงพอเกี่ยวกับปัญหาการทุ่มตลาดหรือความเสียหายที่
สมควรให้มีการทบทวนการใช้บังคับอาการดังกล่าวในระหว่างนั้น
การพิจารณาการทบทวนจะต้องพิจารณาโดยรวดเร็ว และจะต้องเสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศให้มีการทบทวน
การพิจารณาทบทวนไม่กระทบถึงกาเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในระหว่างนั้น
มาตรา 57 อากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้เรียกเก็บได้เป็นระยะเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันเริ่มใช้บังคับหรือนับแต่มีการทบทวนครั้งสุดท้ายซึ่งมีการพิจารณาทบทวนทั้งปัญหาการทุ่มตลาดและปัญหาความเสียหาย เว้นแต่เมื่อคณะกรรมการเห็นสมควรหรือเมื่อบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งทำการแทนอุตสาหกรรมภายในมีคำขอภายในระยะเวลาอันสมควรก่อนครบกำหนดดังกล่าว ว่าการยุติการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจะทำให้มีการทุ่มตลาดต่อไป หรือทำให้
การทุ่มตลาดฟื้นคืนมาอีก
มาตรา 58 ผู้ส่งออกจากต่างประเทศหรือผู้ผลิตสินค้าในประเทศรายใดซึ่งมิได้ส่งสินค้าทุ่มตลาดเข้ามาในช่วงระหว่างการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด อาจขอให้ทบทวนการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับตนเป็นการเฉพาะรายได้ แต่ผู้ขอทบทวนต้องพิสูจน์ว่าตนไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศหรือผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในบังคับถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดดังกล่าว ในการนี้ ให้นำมาตรา 24 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในระหว่างการทบทวนตามวรรคหนึ่งจะเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจากผู้ส่งออกจากต่างประเทศหรือผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศดังกล่าวไม่ได้ แต่ถ้าต่อมาคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่ามีการทุ่มตลาดหรือผู้ขอทบทวนมีความเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศหรือผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศซึ่งอยู่ในบังคับถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดดังกล่าวคณะกรรมการจะกำหนดอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับระยะเวลาที่งดเก็บนั้นก็ได้ และให้นำมาตรา 31 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 59 ผู้นำเข้าอาจขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในขณะหนึ่งขณะใดได้ถ้าผู้นั้นพิสูจน์ได้ว่ามีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด หรือส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดลดลงต่ำกว่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่ใช้บังคับ
การขอคืนอากรตามวรรคหนึ่งต้องยื่นคำขอต่อคณะกรรมการภายในหกเดือนนับแต่วันชำระอากรดังกล่าว
มาตรา 60 ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ 1 ส่วนที่ 2 ส่วนที่ 3 ของหมวด 5 และหมวด 6 มาใช้บังคับกับการทบทวนและการขอคืนอากรตามหมวดนี้โดยอนุโลม
หมวด 9
การอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาล
—————
มาตรา 61 ผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการตามมาตรา 49 หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการในการขอให้ทบทวนตามมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 และมาตรา 59 ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น
การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เห็นเหตุให้ทุเลาการเรียกเก็บหรือคืนอากรตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะสั่งเป็นอย่างอื่น
หมวด 10
การอุดหนุน
—————
มาตรา 62 ในหมวดนี้
“รัฐบาล” หมายความรวมถึง หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐด้วย
“วิสาหกิจ” หมายความว่า วิสาหกิจหรืออุตสาหกรรม หรือกลุ่มวิสาหกิจ หรือกลุ่มอุตสาหกรรม
มาตรา 63 การอุดหนุนตามพระราชบัญญัตินี้ได้แก่ การได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดเนื่องจากรัฐบาลประเทศแหล่งกำเนิดหรือประเทศผู้ส่งออกกระทำการดังต่อไปนี้
(1) ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งหมายความรวมถึง
(ก) การกระทำใด ๆ ที่ในที่สุดจะทำให้ได้รับเงินทุนหรือทำให้หนี้สินลดลงหรือหมดไป
(ข) การลดหย่อนหรือไม่เรียกเก็บรายได้ของรัฐที่ปกติวิสาหกิจพึงชำระ
(ค) ซื้อสินค้า ให้ทรัพย์สิน หรือให้บริการอื่นใดนอกจากสาธารณูปโภคทั่วไปหรือ
(ง) ให้เงินแก่กลไกจัดหาเงินทุน หรือมอบหมายหรือสั่งให้เอกชนดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตาม (ก) (ข) หรือ (ค)
(2) ให้การสนับสนุนด้านรายได้หรือด้านราคาไม่ว่าในรูปแบบใดทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าใดหรือลดการนำเข้าสินค้าใด
การให้สินค้าส่งออกได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรประเภทที่เรียกเก็บจากสินค้าชนิดเดียวกันที่ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศหรือการคืนภาษีอากรดังกล่าวในจำนวนไม่เกินภาระภาษีอากรที่เกิดขึ้น ไม่ถือว่าเป็นการช่วยเหลือทางการเงินตามวรรคหนึ่ง (1)
มาตรา 64 การอุดหนุนดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการอุดหนุนโดยเจาะจง
(1) การให้การอุดหนุนแก่วิสาหกิจเพียงบางแห่งไม่ว่าโดยนิตินัยหรือโดยพฤตินัย
การอุดหนุนที่มีหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ใช้ทั่วไปกับวิสาหกิจทุกแห่งในช่วงการค้าเดียวกันโดยไม่ลำเอียงและสอดคล้องกับเหตุผลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นั้นอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ถือว่าเป็นการอุดหนุนโดยเจาะจง
ในการพิจารณาว่ามีการอุดหนุนแก่วิสาหกิจบางแห่งหรือไม่นั้น จะต้องนำปัจจัยนอกจากหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามวรรคสองมาพิจารณาประกอบด้วย ปัจจัยดังกล่าวให้รวมถึง (ก) การที่วิสาหกิจบางแห่งได้รับหรือได้ใช้ประโยชน์จากการอุดหนุนนั้นมากกว่าวิสาหกิจแห่งอื่นและ (ข) การมีดุลพินิจที่จะเลือกให้การอุดหนุน ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความหลากหลายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องและระยะเวลาที่มีโครงการอุดหนุนดังกล่าว
(2) การให้การอุดหนุนแก่วิสาหกิจบางแห่งที่ตั้งอยู่ในบางพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แต่การกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีอากรที่มีหลักเกณฑ์หรืองเอนไขใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่ถือเป็นการอุดหนุนโดยเจาะจงตามมาตรานี้
การพิจารณาว่ามีการอุดหนุนโดยเจาะจงตามวรรคหนึ่งหรือไม่นั้นต้องมีพยานหลักฐานโดยตรงสนับสนุน
มาตรา 65 การอุดหนุนดังต่อไปนี้ ที่มีลักษณะเจาะจงตามมาตรา 64 เป็นการอุดหนุนที่ตอบโต้ได้
(1) การให้การอุดหนุนแก่การส่งออกไม่ว่าโดยทางนิตินัยหรือโดยทางพฤตินัยตามลักษณะที่กำหนดใน
กฎกระทรวง
(2) การให้การอุดหนุนเพื่อให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า
(3) การให้การอุดหนุนที่มีผลเสียต่อประโยชน์ของประเทศ ซึ่งหมายความถึง
(ก) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน
(ข) ทำให้ผลประโยชน์ทั้งในทางตรงและทางอ้อมของประเทศต้องสูญสิ้นหรือเสื่อมเสียโดยเฉพาะผลประโยชน์ของข้อลดหย่อนที่ผูกพันไว้ตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก
(ค) ผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์ของประเทศตามลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวง
การใช้บทบัญญัติตามมาตรานี้กับสินค้าเกษตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 66 การอุดหนุนโดยเจาะจงตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนดอันเกี่ยวกับ กรณีดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ในข่ายถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน
(1) การให้ความช่วยเหลือด้านการวิจัย
(2) การให้ความช่วยเหลือแก่ภูมิภาคที่เสียเปรียบ หรือ
(3) การให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
มาตรา 67 ในกรณีมีการอุดหนุนตามมาตรา 65
(1) ให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งให้ประเทศที่ให้การอุดหนุนทราบเพื่อปรึกษาหารือกันและเสนอเรื่อง ให้มีการระงับข้อพิพาท ตามขั้นตอนและวิธีการพิจารณาตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลกว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ และให้คระกรรมการกำหนดมาตรการตอบโต้อย่างหนึ่งอย่างใดที่เหมาะสมแก่กรณี
(2) ให้คณะกรรมการดำเนินการเพื่อพิจารณาตอบโต้การอุดหนุน โดยกำหนดอากรตอบโต้การอุดหนุน
ในกรณีที่ได้ดำเนินการตาม (1) และ (2) พร้อมกัน หากในชั้นที่สุดปรากฏว่าสามารถใช้มาตรการตอบโต้ได้ทั้งตาม (1) และ (2) ก็ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการตอบโต้ได้มาตรการใดมาตรการหนึ่ง เพียงมาตรการเดียว
มาตรา 68 อากรตอบโต้การอุดหนุนให้คำนวณจากประโยชน์ที่ได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ปรากฏในการพิจารณาว่ามีการอุดหนุน โดยกำหนดเป็นอัตราต่อหน่วยของสินค้าของผู้ที่ได้รับการอุดหนุนแต่ละราย
ถ้าผู้รับการอุดหนุนมีภาระหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนใดให้แก่รัฐบาลที่ให้การอุดหนุน ผู้รับการอุดหนุนจะขอให้หักค่าใช้จ่ายดังกล่าวออกก็ได้ แต่ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นของผู้รับการอดุหนุน
อากรตอบโต้การอุดหนุนนั้นให้กำหนดเพียงเพื่อขจัดความเสียหาย และจะเกินกว่าประโยชน์ที่ผู้รับการอุดหนุนได้รับมิได้
มาตรา 69 การคำนวณ หาประโยชน์ ที่ได้รับให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) การร่วมลงทุนของรัฐบาลไม่ถือเป็นการให้ประโยชน์ เว้นแต่การลงทุนนั้นไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติตามปกติของภาคเอกชนในประเทศแหล่งกำเนิดหรือประเทศผู้ส่งออก
(2) การให้เงินกู้ไม่ถือเป็นการให้ประโยชน์ เว้นแต่มีส่วนต่างระหว่างจำนวนทรัพย์สินที่ผู้กู้ต้องให้ในการกู้ยืมจากรัฐบาลกับการกู้ยืมทางพาณิชย์ที่เปรียบเทียบกันได้ในตลาดในกรณีนี้ประโยชน์ที่ได้รับคือส่วนต่างของจำนวนดังกล่าว
(3) การค้ำประกันเงินกู้ไม่ถือเป็นการให้ประโยชน์ เว้นแต่มีส่วนต่างระหว่างทรัพย์สินที่ผู้ได้รับการค้ำประกันต้องให้ระหว่างการค้ำประกันโดยรัฐบาลกับการค้ำประกันโดยเอกชนในทางพาณิชย์และให้นำความใน (2) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(4) กรณีที่รัฐบาลให้ทรัพย์สินหรือบริการหรือการซื้อสินค้าไม่ถือเป็นการให้ประโยชน์ เว้นแต่เป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนที่น้อยกว่าอัตราที่สมควรหรือการซื้อสินค้าที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่าอัตราที่สมควร ซึ่งอัตราที่สมควรให้พิจารณาจากสภาพทางการตลาดที่เป็นอยู่ในประเทศที่ให้ทรัพย์สินหรือบริการหรือที่ซื้อสินค้านั้น
การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง กฎกระทรวงดังกล่าวจะกำหนดให้กรณีหนึ่งกรณีใดเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนดก็ได้
มาตรา 70 การพิจารณากำหนดอากรตอบโต้การอุดหนุน ให้นำบทบัญญัติหมวด 2 หมวด 3 หมวด 4 หมวด 5 หมวด 6 หมวด 7 หมวด 8 และหมวด 9 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) บทบัญญัติแห่งมาตรา 42 (2) และ (3) มิให้ใช้บังคับในการใช้มาตรการชั่วคราว
(2) ความตกลงเพื่อระงับการอุดหนุนระหว่างผู้ส่งออกกับกรมการค้าต่างประเทศจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้ส่งออกด้วย
มาตรา 71 เมื่อคณะกรรมการได้รับคำขอจากผู้ทำการแทนอุตสาหกรรมภายในหรือข้อเสนอของกรมการค้าต่างประเทศให้พิจารณาตอบโต้การอุดหนุนแล้วให้คณะกรรมการแจ้งให้ประเทศซึ่งสินค้าดังกล่าวถูกพิจารณาว่าได้มีการอุดหนุนทราบและขอให้แระเทศนั้นมาปรึกษาหารือโดยไม่ชักช้า เพื่อทำความตกลง ให้ยุติการพิจารณาตอบโต้การอุดหนุนหรือเพื่ออำนวยความตกลงระงับการอุดหนุน
การปรึกษาหารือจะดำเนินการในขั้นตอนใดระหว่างการพิจารณาตอบโต้การอุดหนุนก็ได้และคณะกรรมการต้องให้โอกาสตามควรในการปรึกษาหารือนั้นแต่การปรึกษาหารือไม่เป็นเหตุกระทบการดำเนินการต่าง ๆ ในขั้นตอนการพิจารณาตอบโต้การอุดหนุน
ในการปรึกษาหารือคณะกรรมการต้องให้โอกาสประเทศซึ่งสินค้าที่ถูกพิจารณาได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการพิจารณาได้ เว้นแต่ในส่วนที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นความลับ
หมวด 11
คณะกรรมการ
—————
มาตรา 72 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน”
ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการ
ส่งเสริมการลงทุน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ ผู้ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมอบหมายหนึ่งคนและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นเลขานุการและแต่งตั้งข้าราชการของกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการ
การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์ การบัญชี นิติศาสตร์ การเกษตร และการอุตสาหกรรมสาขาละหนึ่งคน
มาตรา 73 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตามพระราชบัญญัตินี้
(2) ให้ความเห็นชอบในการทำความตกลงเพื่อระงับการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
(3) ให้คำแนะนำในการออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(4) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา 74 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี
ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบสองปีให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิออกจากตำแหน่ง เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดโดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยวิธีจับสลากเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
มาตรา 75 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ
(4) ต้องโทษจำคุก ตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิด
ลหุโทษ
(5) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6) เป็นบุคคลล้มละลาย
มาตรา 76 ในกรณีตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่างลงก่อนครบกำหนดวาระให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนโดยเร็ว เว้นแต่วาระการอยู่ในตำแหน่ง ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมีการแต่งตั้งใหม่จะเหลือไม่ถึง
เก้าสิบวันจะไม่ดำเนินการแต่งตั้งก็ได้
ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งแทนตามวรรคหนึ่งอยู่ในตำแหน่งเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ตนแทน
มาตรา 77 การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ในการประชุม ถ้ามีความเห็นแย้งให้บันทึกความเห็นแย้งพร้อมทั้งเหตุผลไว้ในรายงานการประชุมด้วยแต่กรรมการคนใดจะขอให้รวมความเห็นแย้งของตนไว้ในคำวินิจฉัยก็ได้
มาตรา 78 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด
หมวด 12
บทเฉพาะกาล
—————
มาตรา 79 บรรดาการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนที่ค้างพิจารณาอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำเนินการต่อไปตามประกาศ กระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษซึ่งสินค้านำเข้าเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุน พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาใน
ราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 จนกว่าจะเสร็จสิ้น
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
——————————
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด พ.ศ. 2507
ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติของพระราชบัญญัติดังกล่าวบางประการไม่เหมาะสมกับการขยายตัวและ
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ ไม่มีหลักการเรื่องการตอบโต้การอุดหนุนซึ่งสินค้าจาก
ต่างประเทศที่นำเข้ามายังประเทศไทย และไม่สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่าง ประเทศที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน สมควรบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ให้มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้ามาในประเทศเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศและให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราช-บัญญัตินี้
(1) รก.2542/22ก/56/31 มีนาคม 2542