ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2541

เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ ขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541

มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

กองทุน หมายความว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

กรรมการ หมายความว่า กรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

ผู้จัดการ หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม หมายความว่า บุคคลซึ่งคณะกรรมการทำสัญญาจ้างให้ทำหน้าที่บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมตามมาตรา 37

นักเรียนหรือนักศึกษา หมายความว่า ผู้ซึ่งศึกษาอยู่ในโรงเรียนสถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาของทาง ราชการ หรือโรงเรียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบัน อุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาที่กฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ หรือโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวง และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการตอบรับให้ เข้าศึกษาในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาดังกล่าวด้วย

ผู้กู้ยืมเงิน หมายความว่า นักเรียน หรือนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินจากกองทุน

รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออก

กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

หมวด 1

การจัดตั้งกองทุน

มาตรา 5 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

ให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลน

ทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา

มาตรา 6 ให้กองทุนอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

ให้รัฐมนตรีดำเนินการจัดตั้งงบประมาณเพื่อสมทบกองทุนเป็นรายปีตามความจำเป็น

มาตรา 7 กองทุนมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 วรรคสอง อำนาจ ดังกล่าวให้รวมถึง

(1) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ

(2) ก่อตั้งสิทธิหรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน

(3) ให้นักเรียนหรือนักศึกษากู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา

(4) จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ เก็บรักษาหลักฐานและเอกสารเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน

(5) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

มาตรา 8 กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

(1) เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลหรือเงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามมาตรา 6 วรรคสอง

(2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการดำเนินการของกองทุน

(3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่กองทุน

(4) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

(5) เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดนอกจาก (1) ถึง (4) ที่กองทุนได้รับไม่ว่าในกรณีใด

มาตรา 9 กิจการของกองทุนไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

มาตรา 10 ให้กองทุนมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดอื่น ตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะตั้งสำนักงานสาขา ณ ที่อื่นใดก็ได้

มาตรา 11 เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้

(1) ให้นักเรียนหรือนักศึกษากู้ยืมตามพระราชบัญญัตินี้

(2) เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของกองทุน

(3) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดกิจการของ

กองทุน

มาตรา 12 เงินของกองทุนอาจนำไปหาดอกผลโดยนำไปฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินอื่นที่เป็นของรัฐ

มาตรา 13 กองทุนไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

รายรับของกองทุนให้นำเข้าสมทบกองทุนโดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น

หมวด 2

คณะกรรมการและการบริหารกองทุน

มาตรา 14 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ อธิบดีกรมสรรพากรผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมสมาพันธ์การศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกินห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยในจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเงิน หรือการบัญชี หรือกฎหมาย ด้านละหนึ่งคน

ให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้จัดการเป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ

ในกรณีจำเป็น ประธานกรรมการจะแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งก็ได้

มาตรา 15 กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

ในกรณีที่กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังไม่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

มาตรา 16 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 15 กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) เป็นบุคคลล้มละลาย

(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

มาตรา 17 การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคราวใด ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกรองประธานกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการทั้งสองไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 18 คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดนโยบาย และควบคุมดูแลกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

(2) ติดตามประเมินผลการดำเนินกิจการของกองทุน และจัดทำรายงานประจำปีเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

(3) ศึกษาวิเคราะห์และประเมินความต้องการการกู้ยืมเงินของนักเรียนหรือนักศึกษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต และเสนอแนะต่อรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดตั้งงบประมาณเพื่อสมทบกองทุนตามมาตรา 6 วรรคสอง

(4) พิจารณาจัดสรรเงินเพื่อโอนเข้าบัญชีจ่ายที่หนึ่ง บัญชีจ่ายที่สอง และบัญชีจ่ายตามมาตรา 34

(5) พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับการดำเนินการและการบริหารงานของกองทุน

(6) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเงินการพัสดุ การบัญชี การตรวจสอบ และสอบบัญชีภายใน และข้อบังคับอื่นที่จำเป็นในการดำเนินการและบริหารงานของกองทุน

(7) กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการให้นักเรียนหรือนักศึกษากู้ยืมเงินและการชำระคืน เงินกู้ยืม

(8) ให้นักเรียนหรือนักศึกษากู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาจากกองทุน

(9) ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของกองทุน และคุณค่าของกองทุน

(10) ดำเนินการคัดเลือกและทำสัญญาจ้างหรือมีมติเลิกจ้างผู้จัดการและผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม

(11) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

คณะกรรมการอาจมอบอำนาจของคณะกรรมการตาม (2)(3) (8)(9) และ (11) เฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขให้ผู้จัดการหรือผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมหรือบุคคลอื่นใดเพื่อกระทำการแทนคณะกรรมการก็ได้

มาตรา 19 ในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ประธานกรรมการเป็นผู้แทนของกองทุน แต่ประธานกรรมการจะมอบอำนาจเป็นหนังสือให้บุคคลใดทำนิติกรรมรวมตลอดทั้งการดำเนินคดีหรือการบังคับคดีแทนก็ได้

มาตรา 20 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร

ในการประชุมของคณะอนุกรรมการ ถ้าประธานอนุกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อนุกรรมการที่มาประชุมเลือกอนุกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ให้นำมาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาใช้บังคับกับการประชุมและการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมโดยอนุโลม

มาตรา 21 ให้กองทุนจ้างผู้จัดการคนหนึ่ง ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) รับผิดชอบงานธุรการของกองทุน

(2) ติดต่อประสานงานระหว่างคณะกรรมการและผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม

(3) ติดตามดูแลการปฏิบัติงานของผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมเพื่อรายงานให้คณะกรรมการทราบตามที่คณะกรรมการกำหนด

(4) ควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติของพนักงานและลูกจ้างของกองทุนให้เป็นไปตามข้อบังคับ

(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือประธานกรรมการมอบหมาย หรือตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง

มาตรา 22 ผู้จัดการต้องเป็นผู้ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารและการจัดการทั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย

(2) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์

(3) สามารถปฏิบัติงานให้แก่กองทุนได้เต็มเวลา

(4) ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(5) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(6) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(7) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของกระทรวง ทบวงกรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

(8) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษากรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง

(9) ไม่เป็นผู้จัดการหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือองค์กร อื่นใด

(10) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับกองทุน หรือในกิจการที่กระทำให้แก่กองทุนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

(11) ไม่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับการจ้างเป็นผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมตามมาตรา 37 หรือในบริษัทอื่นใดที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว

สัญญาจ้างผู้จัดการให้กำหนดคราวละสี่ปี แต่คณะกรรมการจะต่ออายุสัญญาจ้างอีกก็ได้

ให้ผู้จัดการได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทนหรือเงินอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 23 วิธีการคัดเลือกผู้จัดการ และสัญญาจ้างผู้จัดการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

ในสัญญาจ้างให้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และเงื่อนไขในการทดลองปฏิบัติงานหรือการทำงานของผู้จัดการไว้ด้วย

มาตรา 24 นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามสัญญาจ้าง ผู้จัดการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 22

(4) คณะกรรมการมีมติให้เลิกจ้าง

มาตรา 25 ในการดำเนินการตามมาตรา 21 ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้ตัวแทน หรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 26 เมื่อตำแหน่งผู้จัดการว่างลงและยังไม่มีการจ้างผู้จัดการคนใหม่ หรือในกรณีที่ผู้จัดการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นการชั่วคราวให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานของกองทุนคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้จัดการ

ให้ผู้รักษาการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้จัดการ

มาตรา 27 เพื่อจัดระบบควบคุมเงินของกองทุน ให้กองทุนจัดให้มีบัญชี ดังต่อไปนี้

(1) บัญชีรับ เพื่อรับเงินทั้งปวงของกองทุน

(2) บัญชีจ่ายที่หนึ่ง เพื่อจ่ายเงินกู้ยืมแก่นักเรียนหรือนักศึกษาในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัด ควบคุม หรือกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ หรือโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัด ควบคุม หรือกำกับดูแลของกระทรวงหรือส่วนราชการอื่นที่ไม่ใช่ทบวงมหาวิทยาลัย

(3) บัญชีจ่ายที่สอง เพื่อจ่ายเงินกู้ยืมแก่นักเรียนหรือนักศึกษาในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัด ควบคุม หรือกำกับดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย

(4) บัญชีจ่ายบริหารกองทุน เพื่อจ่ายเงินที่ใช้ในการดำเนินการของกองทุน

มาตรา 28 บรรดาเงินทั้งปวงที่กองทุนได้รับ ให้ส่งเข้าบัญชีรับตามกำหนดเวลา และตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยไม่หักไว้เพื่อการใด ๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 29 การสั่งจ่ายเงินจากบัญชีรับให้เป็นอำนาจของประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการซึ่งประธานกรรมการมอบหมาย และให้กระทำได้แต่เฉพาะเพื่อโอนเข้าบัญชีจ่ายที่หนึ่ง บัญชีจ่ายที่สอง บัญชีจ่ายบริหารกองทุนและบัญชีจ่ายตามมาตรา 34

มาตรา 30 ให้มีคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานอนุกรรมการ อธิบดีกรมสามัญศึกษา อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาเอกชน เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้จัดการเลขานุการคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สองและบุคคลอื่นซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน เป็นอนุกรรมการ

ให้ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายคนหนึ่ง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ในกรณีจำเป็น ประธานอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่งจะแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งก็ได้

มาตรา 31 ให้คณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่งมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 18

(2) กำกับดูแลการให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาในโรงเรียนสถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัด ควบคุม หรือกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ หรือโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาในสังกัด ควบคุมหรือกำกับดูแลของกระทรวง หรือส่วนราชการอื่นที่ไม่ใช่ทบวงมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามนโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

(3) กำกับดูแลและติดตามการปฏิบัติงานของผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับบัญชีจ่ายที่หนึ่ง

(4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา 32 ให้มีคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สอง ประกอบด้วยปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนจากโรงเรียน สถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัยแต่งตั้งจำนวนสี่คน ผู้แทนกรมบัญชีกลางผู้จัดการ เลขานุการคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง และบุคคลอื่นซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน เป็นอนุกรรมการ

ให้ผู้ช่วยปลัดทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งปลัดทบวงมหาวิทยาลัยมอบหมายคนหนึ่ง เป็นอนุกรรมการและ

เลขานุการ และผู้อำนวยการกองบริการการศึกษาสำนักงานปลัดทบวง ทบวงมหาวิทยาลัย เป็นอนุกรรมการและ

ผู้ช่วยเลขานุการ

ในกรณีจำเป็น ประธานอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สองจะแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งก็ได้

มาตรา 33 ให้คณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สองมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 18

(2) กำกับดูแลการให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาในโรงเรียนสถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาที่อยู่

ในสังกัด ควบคุม หรือกำกับดูแลของทบวงมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการ

(3) กำกับดูแลและติดตามการปฏิบัติงานของผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับบัญชีจ่ายที่สอง

(4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา 34 ในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการอาจกำหนดให้มีบัญชีจ่าย เพื่อจ่ายเงินกู้ยืมแก่นักเรียนหรือนักศึกษาเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ได้

เมื่อคณะกรรมการกำหนดให้มีบัญชีจ่ายตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับบัญชีจ่ายดังกล่าวโดยให้นำมาตรา 31 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามวรรคสอง ให้คำนึงถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องทำนองเดียวกับที่กำหนดไว้ใน มาตรา 30

มาตรา 35 การประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่งคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สองหรือคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายตามมาตรา 34 ให้นำมาตรา 20 วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้นำมาตรา 15 และมาตรา 16 มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา 30 และมาตรา 32 และอนุกรรมการซึ่งมิใช่อนุกรรมการโดยตำแหน่งหรือผู้แทนโดยตำแหน่งตามมาตรา 34 โดยอนุโลม

มาตรา 36 ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการ ประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการของคณะอนุกรรมการซึ่งแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

หมวด 3

การจัดการเงินให้กู้ยืม

มาตรา 37 ให้คณะกรรมการจ้างบุคคลเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม

หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการคัดเลือก รวมตลอดทั้งคุณสมบัติของผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 38 นอกจากหน้าที่และความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแล้ว ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้

(1) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงนโยบาย ระเบียบวิธีการในการกู้ยืมเงิน

(2) แนะนำ และอำนวยความสะดวกแก่นักเรียนหรือนักศึกษา และสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ

กู้ยืมเงิน

(3) เบิกจ่ายเงินกู้และดำเนินการจัดส่งเงินให้แก่ผู้กู้ยืม รวมตลอดทั้งเก็บรักษาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

(4) แจ้งจำนวนหนี้และสถานะของหนี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ

(5) รับชำระหนี้เงินกู้ ติดตามทวงถาม และดำเนินคดีเพื่อบังคับชำระหนี้เงินกู้

(6) จัดทำรายงานการดำเนินการให้กู้ยืมเงินเสนอต่อคณะกรรมการ

(7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา 39 สัญญาจ้างผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม ให้มีอายุการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง แต่ต้องไม่เกินคราวละสิบปี

ในกรณีที่ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมประสงค์จะต่ออายุสัญญาจ้างต้องแจ้งล่วงหน้า และทำความตกลงกับคณะกรรมการไม่น้อยกว่าสามปีก่อนสัญญาสิ้นอายุ เว้นแต่คณะกรรมการจะผ่อนผันให้แจ้งหลังจากนั้น

การต่ออายุสัญญาจ้างอาจทำได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง

มาตรา 40 ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมต้องปฏิบัติหน้าที่และตรวจสอบดูแลการให้กู้ยืมเงินให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ ข้อบังคับ มติ และคำแนะนำของคณะกรรมการ

มาตรา 41 ในกรณีที่ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมบริหาร หรือจัดการกองทุน หรือปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เสียหายแก่กองทุน คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ ตามมาตรา 30 มาตรา 32 หรือมาตรา 34 แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแก้ไข หรือระงับการกระทำที่อาจเป็นการเสียหายนั้นได้ และผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมต้องดำเนินการตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมไม่ได้ดำเนินการแก้ไขหรือดำเนินการตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรคณะกรรมการมีอำนาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ไม่ว่าสัญญาจ้างจะกำหนดไว้เป็นประการอื่นหรือไม่ก็ตาม

มาตรา 42 ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมอาจบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนดอายุสัญญาจ้างได้ แต่ไม่ว่ากรณีใดต้องแจ้งเป็นหนังสือล่วงหน้าต่อประธานกรรมการไม่น้อยกว่าสามปี เว้นแต่คณะกรรมการจะผ่อนผันให้แจ้งหลังจากนั้น

มาตรา 43 ในกรณีที่คณะกรรมการไม่ต่อสัญญาจ้างหรือมีการบอกเลิกสัญญาจ้าง ตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 หรือมีกรณีจำเป็นอื่นใดคณะกรรมการอาจคัดเลือกและทำสัญญาจ้างบุคคลใดเป็นการชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมได้

หมวด 4

การให้กู้ยืมเงินและการชำระหนี้

มาตรา 44 ก่อนสิ้นปีการศึกษาของแต่ละปี ให้คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีประกาศกำหนดขอบเขตการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษารวมตลอดทั้งประเภทวิชา และโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบัน

การศึกษาระดับชั้น การศึกษาและหลักสูตรที่จะให้นักเรียนหรือนักศึกษากู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา

ประกาศตามวรรคหนึ่งให้เผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วไปและให้ส่งให้โรงเรียน สถานศึกษา และสถาบันการศึกษาที่นักเรียนหรือนักศึกษามีสิทธิขอกู้ยืมเงิน พร้อมทั้งระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องด้วย

ให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียน สถานศึกษา และสถาบันการศึกษาที่ได้รับประกาศตามวรรคสองปิดประกาศและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องไว้ในที่ที่เห็นได้ทั่วไปในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาดังกล่าว

มาตรา 45 นักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งมีสิทธิขอกู้ยืมเงินจากกองทุน ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้มีสัญชาติไทย

(2) เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

(3) มีคุณสมบัติอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

การกำหนดตาม (2) และ (3) ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับ

มาตรา 46 นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ใดประสงค์จะกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ให้ยื่นคำขอตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดต่อผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ณ โรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาที่ตนกำลังศึกษาอยู่หรือที่ประสงค์จะเข้าศึกษา แล้วแต่กรณี

การยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งให้ยื่นได้ทุกวันในเวลาทำการของโรงเรียนสถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษานั้น ๆ

มาตรา 47 คณะกรรมการจะมอบอำนาจให้บุคคลซึ่งรับผิดชอบหรือเป็นผู้แทนโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาเป็นผู้อนุมัติการให้กู้ยืมเงินและลงนามในสัญญากู้ยืมเงินแทนคณะกรรมการก็ได้

การมอบอำนาจดังกล่าวจะทำเป็นประกาศเป็นการทั่วไปหรือทำใบมอบอำนาจเป็นการเฉพาะรายก็ได้ และคณะกรรมการจะเพิกถอนการมอบอำนาจนั้นเมื่อใดก็ได้ แต่การเพิกถอนดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อคำอนุมัติหรือสัญญาที่ผู้รับมอบอำนาจได้ทำไปแล้ว เว้นแต่เป็นกรณีที่กระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ

มาตรา 48 สัญญากู้ยืมเงินให้ทำเป็นรายปีหรือระยะเวลาที่สั้นหรือยาวกว่านั้นตามที่คณะกรรมการกำหนด

ในการทำสัญญากู้ยืมเงิน คณะกรรมการจะกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดจนเป็นอุปสรรคต่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในอันที่จะกู้ยืมเงินไม่ได้

มาตรา 49 บรรดาเงินที่กู้ยืมเพื่อจ่ายให้แก่โรงเรียน สถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษา ให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมเบิกจ่ายให้แก่โรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษานั้นโดยตรง และให้ถือว่าเงินที่จ่ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเงินกู้ยืมเงินที่ผู้กู้ยืมเงินต้องชำระคืน

มาตรา 50 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดจากเงินที่กู้ยืมในระหว่างที่ผู้กู้ยืมเงินยังศึกษาอยู่

มาตรา 51 ให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียน สถานศึกษา และสถาบันการศึกษาที่ผู้กู้ยืมเงินศึกษาอยู่แจ้งผลการศึกษาให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมทราบทุกสิ้นปีการศึกษา และเมื่อผู้กู้ยืมเงินพ้นสภาพการเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้แจ้งให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นสภาพดังกล่าว

ผู้กู้ยืมเงินต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่หรือการย้ายโรงเรียนสถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษา และการจบการศึกษาให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เปลี่ยนแปลงหรือจบการศึกษา

ในกรณีที่การย้ายโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษามีผลให้ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเพิ่มขึ้นหรือลดลง คณะกรรมการจะอนุมัติหรือสั่งให้เพิ่มหรือลดเงินกู้ยืมตามที่เห็นสมควรก็ได้

หมวด 5

การนำเงินส่งกองทุน

มาตรา 52 เมื่อผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วเป็นเวลาสองปี ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมคืนให้กับกองทุนตามจำนวนระยะเวลาและวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบของคณะกรรมการ

คณะกรรมการจะกำหนดไว้ในระเบียบให้เริ่มคิดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดนับแต่เวลาใดภายหลังที่จบการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วก็ได้แต่อัตราดอกเบี้ย หรือประโยชน์อื่นใดที่คิดต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำหนึ่งปีของธนาคารออมสิน และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น

ในกรณีจำเป็นที่เห็นสมควร คณะกรรมการจะผ่อนผันให้ผู้กู้ยืมเงินชำระหนี้ตามระยะเวลาที่แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง หรือชะลอการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวหรือลดหย่อนหนี้ให้ตามที่ผู้กู้ยืมเงินร้องขอเป็นราย ๆ หรือเป็นการทั่วไปก็ได้

ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้คืนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่งและไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผันตามวรรคสาม คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อเดือนก็ได้

มาตรา 53 เมื่อผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาและเข้าทำงานในสถานที่ใด ผู้กู้ยืมเงินต้องแจ้งที่อยู่และสถานที่ทำงานนั้นพร้อมทั้งจำนวนเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมทราบภายในเวลาสามสิบวันนับแต่วันเริ่มทำงาน

ให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมที่จะติดตามและประสานกับผู้กู้ยืมเงินเพื่อการชำระเงินที่กู้ยืมคืน ในการนี้จะขอความร่วมมือจากนายจ้างให้ช่วยหักเงินเดือนหรือค่าจ้างและนำส่งผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมด้วยก็ได้

ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนงานหรือสถานที่ทำงาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเงินเดือนหรือ ค่าจ้าง ผู้กู้ยืมเงินต้องแจ้งให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมทราบภายในสามสิบวัน

มาตรา 54 ผู้กู้ยืมเงินจะชำระเงินที่กู้ยืมคืนก่อนกำหนดเวลาตามมาตรา 52 หรือบอกเลิกสัญญากู้ยืมเงินเมื่อใดก็ได้ โดยแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมทราบ และในกรณีบอกเลิกสัญญากู้ยืมเงินให้ส่งเงินกู้ยืมที่ได้รับไปแล้วคืนภายในสามสิบวัน หรือภายในกำหนดเวลาที่ทำความตกลงกับผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 55 ในกรณีดังต่อไปนี้ กองทุนอาจบอกเลิกสัญญากู้ยืมเงินและเรียกเงินกู้ยืมที่ผู้กู้ยืมเงินได้รับไปแล้วคืนทั้งหมดได้

(1) เมื่อปรากฏในภายหลังว่าผู้กู้ยืมเงินไม่มีสิทธิกู้ยืมเงิน หรือได้มีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ

(2) ผู้กู้ยืมเงินไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ให้ไว้กับกองทุน

มาตรา 56 ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินถึงแก่ความตาย ให้หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นอันระงับไป

ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินพิการหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบการงานได้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาระงับการเรียกให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินได้

หมวด 6

การเงินและการบัญชี

มาตรา 57 ให้กองทุนยื่นรายงานแสดงผลการดำเนินการต่อรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาสภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสิ้นสุดแต่ละไตรมาส

มาตรา 58 ให้กองทุนจัดทำงบการเงิน ส่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี

ปีบัญชีของกองทุนให้ถือตามปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อรัฐมนตรี

ให้กองทุนโฆษณารายงานประจำปีที่สิ้นไป โดยแสดงงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว รวมทั้งรายงานสรุปผลงานในปีที่ล่วงมาในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 59 ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของกองทุน

บทเฉพาะกาล

มาตรา 60 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ให้โอนเงินงบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2539 ไปเป็นของกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน หลีกภัย

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ : – เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อสนองตอบความจำเป็นดังกล่าว จึงสมควรเร่งรัดพัฒนาทางการศึกษา โดยการหาทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในสังคมด้วยการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย อันจะมีส่วนสำคัญในการช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และด้วยการสนับสนุนการพัฒนาระบบการศึกษาทางด้านอุปสงค์ โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของประชาชน เพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาขึ้นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

(1) รก.2541/15ก/16/24 มีนาคม 2541