ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2507

เป็นปีที่ 19 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกักพืช

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507”

มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. 2495

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“พืช” หมายความว่า พรรณพืชทุกชนิดและส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช เช่น ต้น ตอ หน่อ กิ่ง ใบ ราก หัว ดอก ลูก เมล็ดไม่ว่าที่ยังใช้ทำพันธุ์ได้หรือตายแล้ว

“ศัตรูพืช” หมายความว่า สิ่งซึ่งเป็นอันตรายแก่พืช เช่น แมลงสัตว์หรือพืชที่อาจก่อความเสียหายแก่พืชและเชื้อโรคพืช

“พาหะ” หมายความว่า เครื่องปลูก ดิน ทราย ภาชนะ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ห่อหุ้มมาพร้อมกับพืช ปุ๋ยอินทรีย์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเป็นสื่อนำศัตรูพืช

“สิ่งต้องห้าม” หมายความว่า พืช ศัตรูพืชและพาหนะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

“สิ่งกำกัด” หมายความว่า พืช ศัตรูพืชและพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

“สิ่งไม่ต้องห้าม” หมายความว่า พืชอย่างอื่นที่ไม่เป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด

“เจ้าของ” หมายความรวมถึง ตัวแทนเจ้าของ ผู้ครอบครองสิ่งของและผู้ควบคุมยานพาหนะขนส่งสิ่งของนั้นด้วย

“นำเข้า” หมายความว่า การนำเข้ามาหรือสั่งให้ส่งเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ

“นำผ่าน” หมายความว่า การนำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรโดยมีการขนลงหรือขนถ่ายยานพาหนะ

“ด่านตรวจพืช” หมายความว่า ด่านสำหรับตรวจสิ่งต้องห้ามและสิ่งกำกัดที่ที่จะนำเข้าหรือนำผ่าน ซึ่งรัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

“สถานกักพืช” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่สำหรับกักพืชและสิ่งต้องห้ามเพื่อสังเกตและวิจัย

“เขตควบคุมศัตรูพืช” หมายความว่า ท้องที่ที่อธิบดีประกาศกำหนดให้เป็นเขตป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า อธิบดีและผู้ซึ่งรัฐมนตรีประกาศแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมกสิกรรม

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการปฏิบัติตามความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ

มาตรา 6 เมื่อมีกรณีจำเป็นจะต้องป้องกันศัตรูพืชอย่างหนึ่งอย่างใดมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะชนิดใดเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี และในประกาศนั้น จะระบุกำหนดชื่อพืช ศัตรูพืชหรือพาหะชนิดใดจากแหล่งใด หรือจะกำหนดข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้

สิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดดังกล่าวในวรรคหนึ่ง เมื่อหมดความจำเป็นแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพิกถอนเสีย

มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือสถานที่แห่งใดอันมีเขตกำหนดเป็นด่านตรวจพืชหรือเป็นสถานที่กักพืช แล้วแต่กรณี

มาตรา 8 ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี และมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชของเจ้าหน้าที่ของประเทศที่ส่งสิ่งต้องห้ามนั้น หรือหนังสือสำคัญอย่างอื่นอันเป็นที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศที่ไม่มีการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับมาด้วย และในกรณีนำเข้านี้ อธิบดีจะอนุญาตได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทดลองหรือการวิจัยเท่านั้น

มาตรา 9 ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งกำกัดเว้นแต่จะมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชของเจ้าหน้าที่ของประเทศซึ่งส่งสิ่งกำกัดนั้นออก หรือหนังสือสำคัญอย่างอื่นอันเป็นที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศที่ไม่มีการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับมาด้วย

มาตรา 10 การนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดนั้นจะต้องนำเข้าหรือนำผ่านทางด่านตรวจพืชเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 11 ผู้ใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งไม่ต้องห้าม ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 12 พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้นคลังสินค้า ยานพาหนะ หีบห่อ ตลอดจนตัวบุคคลภายในเขตด่านตรวจพืช หรือเขตควบคุมศัตรูพืชได้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่านำเข้าหรือนำผ่านซึ่งพืช สิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 13 เพื่อป้องกันศัตรูพืชมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักรให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจปฏิบัติการกับพืช สิ่ง ต้องห้าม สิ่งกำกัดที่นำเข้าหรือนำผ่าน ดังต่อไปนี้

(1) รมยา พ่นยา หรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่เห็นจำเป็นโดยเจ้าของเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

(2) ยึดหรือกักไว้ ณ สถานกักพืชหรือ ณ ที่ใด ๆ ตามกำหนดเวลาที่เห็นจำเป็น

(3) ทำลายเท่าที่เห็นจำเป็น ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีศัตรูพืช

มาตรา 14 ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัดออกไปจากด่านตรวจพืช สถานกักพืช หรือยานพาหนะในกรณีนำผ่านราชอาณาจักรหรือจากที่ใดซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สั่งยึดหรือกักไว้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 15 บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองซึ่งแสดงว่าพืชหรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกนอกราชอาณาจักรนั้นปลอดศัตรูพืช ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ค่าใช้จ่ายในการกำจัดศัตรูพืชและค่าบรรจุหีบห่อเท่าที่จำเป็น และใช้จ่าย ไปจริง

มาตรา 16 บุคคลใดประสงค์ จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ในวันหยุดราชการหรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง

มาตรา 17 เมื่อมีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงปรากฏขึ้นในท้องที่ใด หรือมีเหตุอันสมควรควบคุมศัตรูพืชในท้องที่ใด ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชและประกาศระบุชื่อชนิดของพืช ศัตรูพืชและพาหะที่ควบคุม และให้กำหนดสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่นขึ้นเท่าที่จำเป็น ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการของกำนันและที่ทำการของผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้น

มาตรา 18 เมื่อได้ประกาศกำหนดเขตควบคุมศัตรูพืชตามมาตรา 17 แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช ศัตรูพืชหรือพาหะออกไปนอก หรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืช ตามที่ประกาศระบุไว้ เว้นแต่จะได้ผ่านการตรวจและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 19 บทบัญญัติในมาตรา 12 และมาตรา 13 ให้ใช้บังคับในกรณีพืช ศัตรูพืชและพาหะตามที่ระบุไว้ในมาตรา 17 ภายในเขตควบคุมพืชหรือที่จะนำออกไปนอกหรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืชโดยอนุโลม

ในกรณีที่มีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงมาก ซึ่งหากไม่รีบทำลายเสียอาจระบาดลุกลามทำความเสียหายได้มาก พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้เจ้าของทำลายพืช ศัตรูพืชและพาหะนั้นเสียหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะจัดการทำลายเสียเองก็ได้

มาตรา 20 เมื่ออธิบดีเห็นว่าศัตรูพืชที่ได้ประกาศตามมาตรา 17 ถูกทำลายหมดสิ้นแล้ว หรือเห็นว่าหมดความจำเป็นแล้ว ให้อธิบดีประกาศเพิกถอนประกาศตามมาตรา 17 นั้นเสีย

มาตรา 21 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10มาตรา 14 หรือมาตรา 18 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 11 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท

มาตรา 23 ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา 12 หรือมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 24 ผู้ใดขัดคำสั่งหรือขัดขวางการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 19 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 25 การกระทำความผิดตามมาตรา 11 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้

มาตรา 26 บรรดาพืช ศัตรูพืชหรือพาหะภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ที่มิได้นำเข้ามาทางด่านตรวจพืชก็ดี หรือนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้ด้วยประการใด ๆ ก็ดี หรือพืช ศัตรูพืชหรือพาหะ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดเกี่ยวกับเขตควบคุมศัตรูพืชตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 14 หรือมาตรา 18 ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

มาตรา 27 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ถนอม กิตติขจร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :-เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ.2495 ได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการควบคุมและกักพืชได้ต่อเมื่อพืชที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นศัตรูพืชตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอาจจะทำให้โรคพืชต่าง ๆ ระบาดแพร่หลายได้ในระหว่างนำพืชนั้นเข้ามาในราชอาณา-จักรก่อนที่จะมีการควบคุมและกักพืชไว้ ไม่บังเกิดผลสมความมุ่งหมายที่จะป้องกันโรคและศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพตามข้อตกลงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกร่วมอยู่ในอนุสัญญาระหว่างประเทศสมควรที่จะขยายการควบคุมและกักพืชให้กว้างขวางออกไปอีกทั้งการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรไม่ว่าทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ เพื่อให้การป้องกันโรคและศัตรูพืชได้ผลสมตามเจตนา ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ.2495 และตราพระราชบัญญัติกักพืชขึ้นใหม่ใช้บังคับแทน

(1) รก.2507/27/1พ./21 มีนาคม 2507