ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2499

เป็นปีที่ 11 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ประเทศไทยเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้บาดเจ็บ และป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 และแห่งอนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้สังกัดในกองทัพ ขณะอยู่ในทะเลซึ่งบาดเจ็บ ป่วยไข้ และเรือต้องอับปาง มีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492

และโดยที่เป็นการสมควร ที่จะตรากฎหมายเพื่ออนุวัตตามบทแห่งอนุสัญญาดังกล่าว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร

ดั่งต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกาชาด พ.ศ. 2499”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป(1)

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกาชาด พุทธศักราช 2481 พระราชบัญญัติกาชาด (ฉบับที่ 2)

พุทธศักราช 2485 บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้ว ในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัด

หรือแย้ง กับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับ

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“อนุสัญญา” หมายความว่า “อนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมีสภาวะดีขึ้น

ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492” และ “อนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้สังกัดในกองทัพขณะอยู่ในทะเล ซึ่งบาดเจ็บ ป่วยไข้ และเรือต้องอับปาง มีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492” แล้วแต่กรณี

“เครื่องหมายกาชาด” หมายความว่า กากะบาดสีแดงบนพื้นสีขาว

“นามกาชาด” หมายความถึงคำ “กาชาด” หรือคำ “กาเจนีวา”

มาตรา 5 ให้ใช้เครื่องหมายกาชาด เป็นเครื่องหมายของบริการทางการแพทย์ในกองทัพไทย

ให้แสดงเครื่องหมายกาชาดไว้บนธงผ้าพันแขน และบนบรรดาเครื่องมือที่ใช้ในบริการทางการแพทย์ ตามที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทางทหารจะสั่ง

มาตรา 6 ให้สภากาชาดไทยใช้เครื่องหมายกาชาดได้ในยามสงบศึกตามกฎหมายว่าด้วยสภากาชาดไทย

มาตรา 7 การใช้เครื่องหมายกาชาด ในยามสงบศึกเพื่อแสดงให้รู้ว่าเป็นยานพาหนะที่ใช้เป็นรถพยาบาล และเพื่อหมายที่ตั้งสถานีบรรเทาทุกข์ ซึ่งใช้เฉพาะการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บหรือป่วยไข้โดยไม่คิดมูลค่านั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตพิเศษจากสภากาชาดไทยตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

มาตรา 8 ให้สภากาชาดไทย อยู่ในความควบคุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เว้นแต่ในเรื่องธรรมดาธุรกิจอันจะต้องดำเนินไปตามกฎ และข้อบังคับแห่งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และสันนิบาตสภากาชาด

มาตรา 9 ผู้ใดใช้เครื่องหมายกาชาดหรือนามกาชาดโดยไม่มีสิทธิตามอนุสัญญา หรือตามพระราชบัญญัตินี้ มี ความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 ผู้ใดใช้เครื่องหมายหรือถ้อยคำใด ๆ เลียนแบบเครื่องหมายกาชาดหรือนามกาชาด หรือคล้ายคลึงเครื่องหมายหรือนามเช่นว่านั้น จนอนุมานได้ว่าทำเพื่อหลอกลวงประชาชน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 11 ผู้ใดกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ด้วยความมุ่งหมายทางการเงินหรือทางการพาณิชย์ใด ๆ ประทับเครื่องหมายกาชาด หรือนามกาชาดบนสินค้าเพื่อขาย เป็นต้นว่า ฉลาก หรือเครื่องหมายการค้า มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 12 ให้นำมาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 มาใช้บังคับแก่เครื่องหมายซีกวงเดือนแดงบนพื้นสีขาว หรือสิงโตแดงและดวงอาทิตย์บนพื้นสีขาวและแก่นาม “ซีกวงเดือนแดง” หรือ “สิงโตแดง และดวงอาทิตย์” โดยอนุโลม

มาตรา 13 ผู้ใ ดใช้เครื่องหมายตราแผ่นดินของสหพันธ์สวิส หรือใช้เครื่องหมายใด ๆ เทียมหรือเลียนหรือคล้ายคลึงตราแผ่นดินของสหพันธ์สวิส โดยมิชอบด้วยอนุสัญญา มีความผิดต้องระวางโทษตามที่ระบุไว้ในมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 12 แล้วแต่กรณี

มาตรา 14 บรรดาเครื่องหมายหรือนาม อันมิชอบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 หรือมาตรา 13 เงินที่เรี่ยไรได้ตลอดจนสินค้าหรือสังหาริมทรัพย์อื่น ภาชนะหรือหีบห่อ บรรดาที่มีเครื่องหมาย หรือนามเช่นว่านั้นประทับไว้ ศาลจะริบเสียก็ได้

มาตรา 15 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 และแห่งอนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้สังกัดในกองทัพขณะอยู่ในทะเลซึ่งบาดเจ็บป่วยไข้และเรือต้องอับปาง มีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2492

และโดยที่เป็นการสมควรที่จะตรากฎหมายเพื่ออนุวัตตามบทแห่งอนุสัญญาดังกล่าว

(1) รก.2499/63/924/14 สิงหาคม 2499