ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร

ให้ไว้ ณ วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2537

เป็นปีที่ 49 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเคหะแห่งชาติ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการเคหะ

แห่งชาติ พ.ศ. 2537

มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515

(2) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 พ.ศ. 2517

(3) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

เคหะ หมายความว่า อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างและหรือที่ดิน ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่อาศัย หรือเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย

คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ

กรรมการ หมายความว่า กรรมการการเคหะแห่งชาติ

ผู้ว่าการ หมายความว่า ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ

พนักงาน หมายความว่า พนักงานของการเคหะแห่งชาติ รวมทั้งผู้ว่าการ

ลูกจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างของการเคหะแห่งชาติ

ผู้ปฏิบัติงาน หมายความว่า ผู้ว่าการ พนักงาน และลูกจ้าง

รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด 1

การจัดตั้ง ทุน และทุนสำรอง

มาตรา 6 ให้จัดตั้งการเคหะขึ้น เรียกว่า การเคหะแห่งชาติเรียกโดยย่อว่า กคช. และให้เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีเคหะเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย

(2) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนผู้ประสงค์จะมีเคหะของตนเองหรือแก่บุคคลผู้ประสงค์จะร่วมดำเนินกิจการกับ กคช. ในการจัดให้มีเคหะขึ้นเพื่อให้ประชาชนเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อ

(3) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือจัดหาที่ดิน

(4) ปรับปรุง รื้อ หรือย้ายแหล่งเสื่อมโทรมเพื่อให้มีสภาพการอยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมดีขึ้น

(5) ประกอบกิจการอื่นที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น

มาตรา 7 ให้ กคช.มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่นตามความเหมาะสมและจะตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดก็ได้

มาตรา 8 ทุนของ กคช. ประกอบด้วย

(1) ทุนประเดิมของ กคช.ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(2) เงินที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน

(3) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากรัฐบาลหรือบุคคลอื่น

(4) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศหรือต่างประเทศหรือจากองค์การระหว่างประเทศ

(5) รายได้ตามมาตรา 33

มาตรา 9 ให้ กคช.มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 อำนาจเช่นว่านี้ให้ รวมถึง

(1) สร้าง ซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนอง ว่าจ้าง รับจ้าง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิอื่นหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน

(2) ให้กู้ยืมเงินหรือจัดหาแหล่งเงินกู้หรือค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ประชาชนผู้ประสงค์จะมีเคหะเป็นของตนเอง

(3) ให้กู้ยืมเงินหรือจัดหาแหล่งเงินกู้หรือค้ำประกันเงินกู้ให้แก่บุคคลผู้ประสงค์จะร่วมดำเนินกิจการกับ กคช. ในการจัดให้มีเคหะเพื่อให้ประชาชน เช่า เช่าซื้อ หรือซื้อตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

(4) จัดหาที่ดินและวัสดุก่อสร้างสำหรับการก่อสร้างเคหะ

(5) จัดให้มีหรือพัฒนาสาธารณูปโภคหรือบริการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้สภาพการอยู่อาศัยดีขึ้น

(6) กู้ยืมเงินในประเทศหรือต่างประเทศ หรือจากองค์การระหว่างประเทศ

(7) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

(8) เข้าร่วมดำเนินกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์ของกิจการ กคช.

มาตรา 10 เงินสำรองของ กคช.ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดา ซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ เงินสำรองเพื่อขยายกิจการและเงินสำรองอื่นเพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

เงินสำรองตามวรรคหนึ่งจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยมติของคณะกรรมการ

หมวด 2

คณะกรรมการและผู้ว่าการ

มาตรา 11 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเก้าคน ในจำนวนนี้ให้มีผู้แทนกระทรวงมหาดไทยหนึ่งคนและผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน และให้ผู้ว่าการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 12 ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการ และผู้ว่าการ ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และต้องมีความรู้ ความสามารถ ความจัดเจนเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ การบริหารรัฐกิจ การผังเมือง การสาธารณูปโภค สถาปัตยกรรม วิศวกรรม การเศรษฐกิจ การเงิน หรือกฎหมาย

มาตรา 13 ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ

(1) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจที่กระทำกับ กคช. หรือในธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของ กคช. ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดในกิจการเช่นว่านั้นก่อนวันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการ หรือเป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ กคช. เป็นผู้ถือหุ้น

(2) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างนอกจากผู้ว่าการ

มาตรา 14 ให้ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี

ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการซี่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

มาตรา 15 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 14 ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) คณะรัฐมนตรีให้ออก

(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12 หรือ มาตรา 13

มาตรา 16 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของ กคช.อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(1) ออกข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา 6 และมาตรา 9

(2) ออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ

(3) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานและการบริหารงานต่าง ๆ ของ กคช.

(4) ออกข้อบังคับกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง บำเหน็จของผู้ปฏิบัติงาน

(5) ออกข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานของผู้ว่าการ และการมอบอำนาจให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการ

(6) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้น การตัดหรือการลดขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษและการอุทธรณ์ การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง

(7) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินของ กคช.

(8) ออกข้อบังคับว่าด้วยการร้องทุกข์ของผู้ปฏิบัติงาน

(9) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

(10) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของ กคช. ตาม (5) หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินของ กคช. ตาม (7) ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจของผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใดให้ประกาศข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 17 ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 18 ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้ว่าการและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ว่าการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 19 ผู้ว่าการต้อง

(1) มีความรู้ความสามารถที่จะบริหารกิจการของ กคช.

(2) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13 (1)

มาตรา 20 ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) คณะกรรมการให้ออกด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12 หรือมาตรา 19

มาตรา 21 ผู้ว่าการมีหน้าที่บริหารกิจการของ กคช.ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของ กคช.

มาตรา 22 ผู้ว่าการมีอำนาจ

(1) ปกครองบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง

(2) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนขั้น ตัดหรือลดขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่งตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างชั้นรองผู้ว่าการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายผู้อำนวยการกอง หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เทียบเท่าตำแหน่งดังกล่าวขึ้นไปต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

(3) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ กคช.โดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 23 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้แทนของ กคช. และในการนี้ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้บุคคลใด ๆ กระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

นิติกรรมที่ผู้ว่าการกระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 16 วรรคสอง ย่อมไม่ผูกพัน กคช. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

มาตรา 24 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองผู้ว่าการ ให้รองผู้ว่าการรักษาการแทนผู้ว่าการถ้ามีรองผู้ว่าการหลายคน ให้รองผู้ว่าการซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าการเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการ ถ้าผู้ว่าการมิได้มอบหมาย ให้คณะกรรมการแต่งตั้งรองผู้ว่าการคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการ ถ้าไม่มีรองผู้ว่าการ หรือรองผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งคนใดเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการ ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้ผู้รักษาการแทนผู้ว่าการมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้ว่าการ

มาตรา 25 ประธานกรรมการ กรรมการ และพนักงานอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หมวด 3

การร้องทุกข์และการสงเคราะห์

มาตรา 26 ให้ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 27 ให้ กคช.จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานใน กคช. และครอบครัวของผู้ปฏิบัติงานในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ตาย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์ ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด 4

การกำกับและควบคุม

มาตรา 28 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กคช. เพื่อการนี้อาจสั่งให้ กคช. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการ

ในกรณีที่ กคช.จะต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี ให้คณะกรรมการนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี

มาตรา 29 ในการดำเนินกิจการของ กคช. ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน

ในการนี้ให้ถือว่า วัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 (1) หรือ (4) เป็นวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

เมื่อ กคช. มีความจำเป็นจะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการตามมาตรา 6 (1) หรือ (4) ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

มาตรา 30 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการตามมาตรา 6 (1) จะกระทำได้แต่เฉพาะในกรณีจัดทำทางเข้าออกเพื่อเป็นทางสาธารณะเท่านั้น

การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา 6 (4) จะต้องเป็นการเวนคืนเพื่อการผังเมือง การสาธารณสุข การป้องกันมลภาวะ การใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือการจัดเคหะให้แก่ประชาชนที่ต้องย้ายออกไปจากแหล่งเสื่อมโทรมเป็นสำคัญ

มาตรา 31 กคช.ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการดังต่อไปนี้ได้

(1) กู้ยืมเงินเป็นจำนวนเกินครั้งละห้าสิบล้านบาท

(2) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

หมวด 5

การเงิน การบัญชี และการตรวจสอบ

มาตรา 32 ให้ กคช.จัดทำงบประมาณประจำปีโดยจำแนกเงินที่จะได้รับ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการใน ปีหนึ่ง ๆ

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการให้แยกเป็นงบลงทุนและงบทำการงบลงทุนนั้นให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

มาตรา 33 รายได้ที่ กคช.ได้รับจากการดำเนินงานให้ตกเป็นของ กคช. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อหักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงานและค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสมรวมตลอดถึงค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา เงินสำรองตามมาตรา 10 ประโยชน์ตอบแทนตามมาตรา 17 โบนัสตามมาตรา 25 เงินสบทบกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นตามมาตรา 27 และเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือเท่าใดให้จัดเป็นทุนของ กคช.

ถ้ารายได้มีไม่เพียงพอสำหรับรายจ่ายตามวรรคหนึ่ง นอกจากเงินสำรองตามมาตรา 10 และ กคช.ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้รัฐอาจจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ กคช.ได้เท่าที่จำเป็น

มาตรา 34 ให้ กคช.เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี

มาตรา 35 ให้ กคช.วางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีสมุดบัญชีลงรายการรายรับและรายจ่ายเงินสินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามที่ควรตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ

มาตรา 36 ให้ กคช. จัดทำงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

มาตรา 37 ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี ทำการตรวจสอบ รับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของ กคช.ทุกปี

มาตรา 38 ให้ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานของ กคช.เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการผู้ว่าการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของ กคช.

มาตรา 39 ให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานผลการสอบบัญชีและการเงินเสนอต่อคณะกรรมการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี

มาตรา 40 ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรีรายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงแล้วของ กคช. และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการโครงการและแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า

ให้ กคช. โฆษณารายงานประจำปีที่สิ้นไป โดยแสดงงบดุลบัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว รวมทั้งรายงานสรุปผลงานในปีที่ล่วงมา ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของ กคช.

บทเฉพาะกาล

มาตรา 41 ให้ประธานกรรมการและกรรมการการเคหะแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นประธานกรรมการ และกรรมการการเคหะแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปตามวาระที่เหลืออยู่ และให้ถือว่าวาระดังกล่าวเป็นวาระการดำรงตำแหน่งวาระแรกตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 42 ให้ผู้ว่าการซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นผู้ว่าการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 43 ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ทุน ความรับผิดงบประมาณ พนักงานและลูกจ้างของการเคหะแห่งชาติที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเป็นของ กคช.ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 44 บรรดาประกาศ คำสั่ง ข้อบังคับ และระเบียบของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการแก้ไขหรือยกเลิก

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน หลีกภัย

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 ใช้บังคับเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และเพิ่มบทบัญญัติให้การเคหะแห่งชาติสามารถเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นทางสาธารณะได้ รวมทั้งขยายวงเงินในการกู้ยืมที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้สมควรแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการเคหะแห่งชาติให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

(1) รก.2537/40ก./20/20 กันยายน 2537