ในพระปรมาภิไธย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สังวาลย์

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ให้ไว้ ณ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2503

เป็นปีที่ 15 ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เพื่อช่วยเหลือเจ้าของสวนยางปรับปรุงสวนยาง ให้ดีขึ้น

พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503”

มาตรา 2 (1)พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

“มาตรา 3(2) ในพระราชบัญญัตินี้

“ต้นยาง” หมายความว่า ต้นยางพารา (Hevea SPP.)

“ยางพันธุ์ดี” หมายความว่า ต้นยางพันธุ์ที่ให้ผลดีตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยคำแนะนำของกรมกสิกรรม

“สวนยาง” หมายความว่า ที่ดินปลูกต้นยางมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่าสองไร่แต่ละไร่มีต้นยางปลูกไม่น้อยกว่าสิบต้น และโดยส่วนเฉลี่ยไม่น้อยกว่าไร่ละยี่สิบห้าต้น

“สวนขนาดเล็ก” หมายความว่า สวนยางที่มีเนื้อที่ไม่เกินห้าสิบไร่

“สวนขนาดกลาง” หมายความว่า สวนยางที่มีเนื้อที่เกินห้าสิบไร่แต่ไม่ถึงสองร้อยห้าสิบไร่

“สวนขนาดใหญ่” หมายความว่า สวนยางที่มีเนื้อที่ตั้งแต่สองร้อยห้าสิบไร่ขึ้นไป

“เจ้าของสวนยาง” หมายความว่า ผู้ทำสวนยาง และมีสิทธิได้รับผลิตผลจากต้นยางในสวนยางที่ทำนั้น

“ยาง” หมายความว่า น้ำยาง ยางแผ่น ยางเครพ ยางก้อน เศษยาง หรือยางในลักษณะอื่นใดอันผลิตขึ้นหรือได้มาจากส่วนใด ๆ ของต้นยาง แต่ไม่รวมถึงวัตถุประดิษฐ์จากยาง

“การปลูกแทน”* หมายความว่า การปลูกยางพันธุ์ดี หรือไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามที่คณะกรรมการกำหนด แทนต้นยางเก่าหรือไม้ยืนต้นเก่าทั้งหมดหรือบางส่วน

“ปีสงเคราะห์” หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของปีหนึ่งถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป และให้ใช้ ปี พ.ศ.ที่ถัดไปเป็นชื่อสำหรับปีสงเคราะห์นั้น

“เจ้าพนักงานสงเคราะห์” หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานสงเคราะห์

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้”

“มาตรา 4(1) ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง ประกอบด้วยเงินสงเคราะห์ ซึ่งส่งสมทบตามพระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง” เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการทำสวนยางที่ได้ผลน้อยให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการสงเคราะห์การทำสวนยางตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ ที่จำเป็นหรือเป็นอุปกรณ์แก่วัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นได้ รวมทั้งการทำสวนยางและสวนไม้ยืนต้น ตลอดจนกิจการที่เกี่ยวข้องเป็นการสาธิตและส่งเสริม เพื่อประโยชน์ในการสงเคราะห์ กับให้รวมตลอดถึงการดำเนินการส่งเสริมหรือสงเคราะห์การปลูกแทนไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลมอบหมาย

ให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมีสำนักงานแห่งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เรียกว่า “สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง”

“มาตรา 4 ทวิ(2) ในการดำเนินการส่งเสริมหรือสงเคราะห์การปลูกแทนไม้ยืนต้นชนิดอื่นตามมาตรา 4 ให้ใช้เงินทุนค่าใช้จ่ายจากรัฐบาล หรือจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร”

“มาตรา 5(3) บุคคลใดส่งยางออกนอกราชอาณาจักรต้องเสียเงินสงเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราเงินสงเคราะห์ที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาสำหรับการกำหนดอัตราเงินสงเคราะห์จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน

ในการกำหนดอัตราเงินสงเคราะห์ตามวรรคหนึ่ง ให้นำจำนวนเงินสงเคราะห์ที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางต้องจ่ายเพื่อการสงเคราะห์ในแต่ละปีและอัตราอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรที่เรียกเก็บจากการส่งยางออกนอกราชอาณาจักรมาเป็นหลักในการพิจารณาด้วย โดยถืออัตราต่อน้ำหนักยางหนึ่งกิโลกรัม เป็นเกณฑ์

การคำนวณจำนวนเงินสงเคราะห์ที่บุคคลตามวรรคหนึ่งต้องเสีย ถ้าเศษของน้ำหนักยางเกินครึ่งกิโลกรัม ให้คิดเงินสงเคราะห์เท่ากับน้ำหนักยางหนึ่งกิโลกรัม ถ้าเศษของน้ำหนักยางไม่ถึงครึ่งกิโลกรัมให้ถือเป็นน้ำหนักที่ไม่ต้องนำมาคำนวณ

สำหรับยางที่ส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อเป็นตัวอย่างซึ่งมีน้ำหนักไม่เกินห้ากิโลกรัม หรือยางที่กระทรวง ทบวง กรม เป็นผู้ส่งออกเพื่อประโยชน์ใด ๆ อันมิใช่เพื่อการค้า ไม่ว่าจะมีน้ำหนักเท่าใด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินสงเคราะห์”

มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้งดการเรียกเก็บเงินสงเคราะห์จากบุคคลผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักรซึ่งต้องเสียตามมาตรา 5 ได้โดยกำหนดระยะเวลาตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ จะงดเว้นการเรียกเก็บสำหรับยางทุกชนิดหรือเฉพาะบางชนิดก็ได้

มาตรา 7 เงินสงเคราะห์ที่เก็บได้ตามมาตรา 5 ให้ส่งสมทบกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และให้ใช้จ่ายในกิจการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้โดยเฉพาะ

มาตรา 8 ผู้จะได้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องเป็นเจ้าของสวนยางที่มีต้นยางอายุกว่ายี่สิบห้าปีขึ้นไป หรือต้นยางทรุดโทรมเสียหาย หรือต้นยางที่ได้ผลน้อย

การสงเคราะห์ต้องจัดทำด้วยการปลูกแทน และจะสงเคราะห์ประการอื่นเพื่อประโยชน์ในการปลูกแทน โดยจ่ายให้แก่เจ้าของสวนยางซึ่งยางพันธุ์ดี พันธุ์ไม้ยืนต้น พันธุ์พืช ปุ๋ย เครื่องมือเครื่องใช้ จัดบริการอย่างอื่นช่วยเหลือ หรือจ่ายเงินให้ก็ได้ ทั้งนี้ จะจัดให้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้

มาตรา 9(1) ให้มีคณะกรรมการเพื่อดำเนินกิจการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางคณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า “ก.ส.ย.” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมศุลกากร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เป็นกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกินหกคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากเจ้าของสวนยางสี่คนและบุคคลอื่นซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยางสองคน

ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา 10(2) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

ในกรณีที่กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

มาตรา 11(3) นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 10กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก

(4) เป็นบุคคลล้มละลาย

(5) เป็นคนไร้ความสามาร ถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(7) พ้นจากการเป็นเจ้าของสวนยางหรือเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการยาง

มาตรา 12(1) การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

มาตรา 13(2) ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และโดยเฉพาะให้มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ คือ

(1) ดำเนินกิจการสงเคราะห์การทำสวนยาง

(2) วางข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานหรือการเงินเพื่อดำเนินการสงเคราะห์การทำสวนยาง

(3) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน การเลื่อนขั้นเงินเดือน การตัดเงินเดือน การลดขั้นเงินเดือน วินัยของพนักงาน ตลอดจนกำหนดอัตรา ตำแหน่ง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าบ้านหรือที่พัก ค่าทดแทน และเงินที่ควรจะจ่ายอย่างอื่น

(4) วางข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบพนักงาน

คณะกรรมการจะมอบอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างให้ผู้อำนวยการดำเนินการก็ได้ โดยกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือระเบียบตาม (2)

“มาตรา 14(3) ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”

มาตรา 15(4) ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้ง ถอดถอน และกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้อำนวยการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ให้ผู้อำนวยการได้รับประโยชน์ตอบแทนอื่นที่พนักงานของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพึงได้รับด้วย

มาตรา 16 ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง

ในเมื่อผู้อำนวยการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้รักษาการแทน

ให้ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการมีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกับผู้อำนวยการเว้นแต่อำนาจและหน้าที่ของ ผู้อำนวยการในฐานะกรรมการ

มาตรา 17 ในกิจการเกี่ยวแก่บุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และเพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติการบางอย่างแทนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการก็ได้

มาตรา 18(5) ทุก ๆ ปีสงเคราะห์ ให้คณะกรรมการจัดสรรเงินสงเคราะห์ที่เก็บได้ตามมาตรา 5 ดังต่อไปนี้

(1) จำนวนไม่เกินร้อยละห้า เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับกิจการยางในอันที่จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของสวนยางโดยเฉพาะมอบไว้แก่กรมวิชาการเกษตรเป็นงวด ๆ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด เงินที่กรมวิชาการเกษตรได้รับนี้มิให้ถือว่าเป็นรายรับตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

(2) จำนวนไม่เกินร้อยละสิบ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานการสงเคราะห์การทำสวนยางของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หากเงินจำนวนที่ตั้งไว้นี้ไม่พอจ่ายในงานต่าง ๆ ดังกล่าวให้รัฐบาลตั้งรายจ่ายเพิ่มเติมในงบประมาณประจำปีตามความจำเป็น

(3) จำนวนเงินนอกจาก (1) และ (2) เป็นเงินที่จัดสรรไว้เพื่อสงเคราะห์เจ้าของสวนยางตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งสิ้นและจะจ่ายเพื่อการอื่นใดมิได้

เงินอันเป็นดอกผลของเงินสงเคราะห์ที่เก็บได้ตามมาตรา 5 ถ้าหากมี ให้คณะกรรมการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานการสงเคราะห์การทำสวนยางเพิ่มขึ้นจากที่จัดสรรไว้ตาม (2) เท่าจำนวนที่เห็นว่าจำเป็น ส่วนจำนวนเงินที่เหลือถ้าหากมี ให้จ่ายสมทบเงินที่จัดสรรไว้เพื่อสงเคราะห์เจ้าของสวนยางในปีสงเคราะห์ถัดไป

เงินที่จัดสรรไว้เพื่อการสงเคราะห์เจ้าของสวนยางตาม (3) หากมีเหลือจ่ายในปีสงเคราะห์ใด ให้นำเงินที่เหลือจ่ายไปสมทบเงินที่จัดสรรไว้เพื่อสงเคราะห์เจ้าของสวนยางตาม (3) ในปีสงเคราะห์ถัดไป

มาตรา 19 เงินสงเคราะห์ที่ได้จัดสรรไว้เพื่อสงเคราะห์เจ้าของสวนยางตามมาตรา 18 (3) นั้น แต่ละปี ให้แบ่งส่วนสงเคราะห์เจ้าของสวนยางตามประเภทของสวนยางดังต่อไปนี้

ประเภทสวนขนาดใหญ่ ร้อยละสิบ

ประเภทสวนขนาดกลาง ร้อยละยี่สิบ

ประเภทสวนขนาดเล็ก ร้อยละเจ็ดสิบ

แต่ถ้าสวนประเภทใดประเภทหนึ่ง มีผู้ได้รับการสงเคราะห์น้อยกว่าส่วนที่กำหนด ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณานำส่วนที่เหลือไปเพิ่มให้แก่สวนประเภทอื่นได้ ในกรณีเช่นว่านี้ มิให้นำอัตราส่วนเงินสงเคราะห์ที่กำหนดไว้ข้างต้นมาใช้บังคับ

เจ้าของสวนยางประเภทเดียวกันอาจได้รับการสงเคราะห์มากน้อยกว่ากัน หรืออาจได้รับการสงเคราะห์ก่อนหลังกัน หรืออาจไม่ได้รับการสงเคราะห์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการจัดสรรตามกำลังเงินสงเคราะห์ที่จัดสรรไว้ และโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะพึงได้จากการเพิ่มปริมาณผลจากต้นยางเป็นส่วนรวม

การที่เจ้าของสวนยางรายใดไม่ได้รับการสงเคราะห์ตามวรรคก่อนย่อมไม่เป็นเหตุให้เสียสิทธิในการที่จะได้รับการสงเคราะห์ในปีต่อ ๆ ไป

มาตรา 20 เจ้าของสวนยางผู้ใดประสงค์จะขอรับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอรับการสงเคราะห์ต่อเจ้าพนักงานสงเคราะห์ประจำท้องที่ที่สวนยางนั้นตั้งอยู่ ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่ผู้ขอรับการสงเคราะห์เป็นผู้ทำสวนยางในที่ดินที่ตนเช่าหรืออาศัยบุคคลอื่น ผู้ขอรับการสงเคราะห์ต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานสงเคราะห์ให้เป็นที่พอใจด้วยว่า ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้อาศัยได้ให้ความยินยอมในการที่ตนขอรับการสงเคราะห์ด้วยแล้ว

เพื่อประโยชน์ในการสำรวจตรวจสอบของคณะกรรมการในการพิจารณาให้การสงเคราะห์ ผู้รับการสงเคราะห์ ต้องอำนวยความสะดวกและปฏิบัติการตามคำสั่งของคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความจำเป็น

มาตรา 21(1) เจ้าของสวนยางซึ่งมีสวนยางแปลงเดียวมีเนื้อที่ไม่เกินสิบห้าไร่ หรือหลายแปลงมีเนื้อที่รวมกันไม่เกินสิบห้าไร่ จะขอรับการสงเคราะห์ด้วยการสร้างสวนยางพันธุ์ดีในที่ดินแปลงใหม่ซึ่งที่ดินแปลงนั้นมีเนื้อที่ตั้งแต่สิบห้าไร่ขึ้นไปแทนการปลูกแทนในที่ดินสวนยางเดิมก็ได้ แต่จะได้รับการสงเคราะห์เพียงเท่าที่จะพึงได้รับสำหรับสวนยางที่มีอยู่เดิมเท่านั้น

มาตรา 21 ทวิ(1) เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้มีการทำสวนยางพันธุ์ดีเพิ่มขึ้น ในกรณีที่ผู้ซึ่งไม่มีสวนยางมาก่อนและมีที่ดินเป็นของตนเองไม่น้อยกว่าสองไร่ มีความประสงค์จะขอรับการสงเคราะห์ในการทำสวนยาง ให้ยื่นคำขอรับการสงเคราะห์ต่อสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในการดำเนินการสงเคราะห์ตามวรรคหนึ่งให้ใช้เงินอุดหนุนหรือเงินจากงบประมาณประจำปีหรือเงินกู้ที่รัฐบาล จัดให้

ให้คณะกรรมการมีอำนาจจัดสรรเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้ขอรับการสงเคราะห์ตามวรรคหนึ่งได้รายละไม่เกินสิบห้าไร่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจา-

นุเบกษา

ให้นำความในมาตรา 22 และมาตรา 23 มาใช้บังคับแก่ผู้ได้รับการสงเคราะห์ตามมาตรานี้โดยอนุโลม

ในกรณีที่ผู้ขอรับการสงเคราะห์ตามวรรคหนึ่งไม่ได้รับการสงเคราะห์ย่อมไม่เป็นเหตุให้เสียสิทธิในการที่จะได้รับการสงเคราะห์ในปีต่อ ๆ ไป

มาตรา 22 เจ้าของสวนยางผู้ได้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืนกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ระงับการสงเคราะห์เสียได้

มาตรา 23 เงินสงเคราะห์ที่เจ้าของสวนยางได้รับสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมใด ๆ

มาตรา 24 เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ เจ้าพนักงานสงเคราะห์ และบุคคลที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากคณะกรรมการ มีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) เข้าไปในสวนยางที่เจ้าของสวนยางขอรับการสงเคราะห์ และที่ดินต่อเนื่องกับสวนยางนั้น เพื่อทำการสำรวจตรวจสอบและรังวัด

(2) มีหนังสือเรียกเจ้าของสวนยางผู้ขอรับการสงเคราะห์ และบุคคลใด ๆ ที่มีเหตุควรเชื่อว่าอาจให้ข้อเท็จจริงใด ๆ เกี่ยวแก่การที่จะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ มาให้ถ้อยคำ

(3) มีหนังสือเรียกให้บุคคลดังกล่าวใน (2) ส่งหรือแสดงเอกสารใด ๆ อันมีเหตุควรเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 25(2) ภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีสงเคราะห์ทุกปี ให้คณะกรรมการจัดทำงบดุลแสดงฐานะการเงิน โดยมีคำรับรองการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อรัฐมนตรี

ให้รัฐมนตรีจัดให้มีการประกาศงบดุลและรายงานดังกล่าวในวรรคก่อนในราชกิจจานุเบกษาโดยมิชักช้า

มาตรา 26 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่เสียเงินสงเคราะห์ตามมาตรา 5 หรือเพื่อเสียเงินสงเคราะห์น้อยกว่าที่ควรเสีย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสิบเท่าของเงินสงเคราะห์ที่ยังต้องชำระ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เงินค่าปรับตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นเงินสงเคราะห์ที่เก็บได้ตามมาตรา 5 และให้นำส่งสมทบกองทุนสงเคราะห์ การทำสวนยาง

มาตรา 27 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่กรรมการ เจ้าพนักงานสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการในการปฏิบัติการตามมาตรา 24 (1) หรือไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกซึ่งบุคคลดังกล่าวได้เรียกตามมาตรา 24 (2) หรือ (3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 28 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานสงเคราะห์และออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ส. ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สวนยางในประเทศไทยส่วนมากเป็นสวนเก่า และเป็นยางที่มิใช่ยางพันธุ์ดี เป็นเหตุให้การผลิตยางไม่ได้ผลตามที่ควรจะได้ และโดยที่การแก้ไขสภาพที่เป็นอยู่ดังกล่าวให้ดีขึ้น ต้องกระทำด้วยการปลูกยางพันธุ์ดีแทนยางเก่าจึงสมควรให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนขึ้นเพื่อใช้จ่ายในการนี้

(1) รก.2503/73/688/6 กันยายน 2503

(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2505 และนิยามคำว่า “ปลูกแทน” แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2518

(1) (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2518

(3) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2530

(1) – (3) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2530

(1) – (5) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2530

(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2505

(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2530

(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2505