ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2541”
มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“สถาบัน” หมายความว่า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในสังกัดกรมศิลปากรกระทรวงศึกษาธิการ
“คณะกรรมการสถาบัน” หมายความว่า คณะกรรมการสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด 1
บททั่วไป
———

มาตรา 5 ให้สถาบันมีอำนาจจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ทั้งไทยและสากล และศิลปวัฒนธรรม
มาตรา 6 การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกสำนักงานอธิการคณะหรือภาควิชา หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา ให้ทำเป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการ
การจัดระบบบริหารงานในสำนักงานอธิการ คณะหรือภาควิชา หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน
มาตรา 7 ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรเงินงบประมาณให้แก่กรมศิลปากรตามที่เห็นสมควรเพื่อดำเนินกิจการของสถาบันนอกจากเงินงบประมาณตามวรรคหนึ่ง สถาบันหรือกรมศิลปากรอาจมีรายได้และทรัพย์สิน ดังนี้
(1) เงินผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่สถาบันได้รับจากการดำเนินกิจการของสถาบัน
(2) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้ที่ราชพัสดุที่กรมศิลปากรปกครอง ดูแล หรือใช้ประโยชน์เพื่อการดำเนินกิจการของสถาบัน

(3) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สถาบันหรือกรมศิลปากรเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของสถาบัน
(4) เงินอุดหนุนจากราชการส่วนท้องถิ่น หรือเงินอุดหนุนอื่นที่สถาบันหรือกรมศิลปากรได้รับเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของสถาบัน
(5) รายได้หรือผลประโยชน์อื่นให้กรมศิลปากรมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกรมศิลปากรที่มีไว้เพื่อการดำเนินกิจการของสถาบัน ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ และที่เป็นทรัพย์สินอื่นของสถาบัน
รายได้รวมทั้งเบี้ยปรับที่กรมศิลปากรได้รับจากการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เว้นแต่เบี้ยปรับที่เกิดจากการผิดสัญญาลาศึกษาและเบี้ยปรับที่เกิดจากการผิดสัญญาซื้อทรัพย์สินหรือสัญญาจ้างทำของที่ดำเนินการโดยใช้เงินงบประมาณ
มาตรา 8 บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่กรมศิลปากรได้มาโดยมีผู้ยกให้แก่กรมศิลปากรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสถาบัน หรือได้มาโดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่กรมศิลปากรเพื่อประโยชน์
ในการดำเนินกิจการของสถาบันตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ และให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมศิลปากร
มาตรา 9 บรรดารายได้และทรัพย์สินที่สถาบันหรือกรมศิลปากรได้มาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสถาบัน หรือได้มาเนื่องจากการดำเนินกิจการของสถาบัน สถาบันหรือกรมศิลปากรจะต้องจัดสรรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสถาบัน
การจัดสรรรายได้และทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้อยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของสถาบันและเงื่อนไขที่ผู้อุทิศให้กำหนดไว้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน
มาตรา 10 การจัดการรายได้และทรัพย์สินที่สถาบันได้รับจัดสรรตามมาตรา 9 ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันและตามเงื่อนไขที่ผู้อุทิศให้กำหนดไว้

หมวด 2
การดำเนินกิจการ
——–

มาตรา 11 ให้มีคณะกรรมการสถาบัน ประกอบด้วย
(1) ประธานกรรมการสถาบัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้ง
(2) รองประธานกรรมการสถาบัน ได้แก่ อธิบดีกรมศิลปากร
(3) กรรมการสถาบันโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู และผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัย
(4) กรรมการสถาบันจำนวนสามคน ซึ่งเลือกจากรองอธิการคณบดี และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
(5) กรรมการสถาบันจำนวนสามคน ซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำของสถาบัน
(6) กรรมการสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกให้คณะกรรมการสถาบันแต่งตั้งรองอธิการคนหนึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสถาบันโดยคำแนะนำของอธิการคุณสมบัติของผู้รับเลือกตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการสถาบันตาม (4) และ (5) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาและคุณสมบัติของประธานกรรมการสถาบันและกรรมการสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน
มาตรา 12 กรรมการสถาบันตามมาตรา 11 (4) และ (5) มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี และอาจได้รับเลือกใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
ประธานกรรมการสถาบันและกรรมการสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้
มาตรา 13 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 12 ประธานกรรมการสถาบันและกรรมการสถาบันพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติของการเป็นประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบันในประเภทนั้น ๆ
ในกรณีที่ประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบันพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และได้แต่งตั้งหรือได้มีการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้วให้ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งหรือผู้ซึ่งได้รับเลือกนั้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่ประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบันพ้นจากตำแหน่งตามวาระแต่ยังมิได้แต่งตั้งหรือยังมิได้เลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทน ให้ประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบันซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบันหรือได้มีการเลือกกรรมการสถาบันขึ้นใหม่
ในกรณีที่ประธานกรรมการสถาบันหรือกรรมการสถาบันพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระไม่เกินเก้าสิบวัน สถาบันจะไม่ดำเนินการแต่งตั้งประธานกรรมการสถาบัน หรือไม่ดำเนินการแต่งตั้งหรือเลือกกรรมการสถาบันขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้
มาตรา 14 คณะกรรมการสถาบันมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(1) วางนโยบายและกำกับแผนพัฒนาของสถาบันเกี่ยวกับการศึกษาการวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
(2) วางระเบียบและออกข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสถาบัน
(3) พิจารณาการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกสำนักงานอธิการคณะ หรือภาควิชา หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา
(4) พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาของสถาบัน
(5) อนุมัติการให้ปริญญา อนุปริญญา และประกาศนียบัตร
(6) พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการแต่งตั้งและการถอดถอนอธิการ ศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ
(7) พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการ คณบดี รองคณบดีหัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงาน หรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา รองศาสตราจารย์พิเศษ และผู้ช่วย
ศาสตราจารย์พิเศษ
(8) พิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณของสถาบันเพื่อเสนอต่อกรมศิลปากร รวมทั้งวางระเบียบและออกข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณการเงิน และทรัพย์สินของสถาบัน
(9) พิจารณากำหนดเครื่องหมายของสถาบัน
(10) พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมปัญหาทางการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมและด้านอื่นตามที่กระทรวงศึกษาธิการหารือ
(11) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสถาบัน
(12) อำนาจหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของสถาบันที่มิได้ระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ
มาตรา 15 การประชุมของคณะกรรมการสถาบัน ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน
มาตรา 16 ให้มีอธิการคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของสถาบัน และจะให้มีรองอธิการหรือผู้ช่วยอธิการ หรือมีทั้งรองอธิการและผู้ช่วยอธิการตามจำนวนที่คณะกรรมการสถาบันกำหนดเพื่อทำหน้าที่
และรับผิดชอบตามที่อธิการมอบหมายก็ได้
อธิการนั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถาบันจากบุคคล

ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 17 อธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และจะได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
รองอธิการและผู้ช่วยอธิการนั้น ให้คณะกรรมการสถาบันแต่งตั้งโดยคำแนะนำของอธิการจากคณาจารย์ประจำของสถาบันผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 17 เมื่ออธิการพ้นจากตำแหน่ง ให้รองอธิการและผู้ช่วยอธิการพ้นจาก
ตำแหน่งด้วย
มาตรา 17 อธิการ รองอธิการและผู้ช่วยอธิการต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(1) ได้รับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษาที่สถาบันรับรองและได้ทำการสอนในสถาบันหรือสถานศึกษาอื่นในสังกัดกรมศิลปากร หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สถาบันรับรอง หรือมีประสบการณ์ในด้านการบริหารมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี หรือเคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสถาบันหรือในสภาสถาบันอุดมศึกษาอื่นมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี หรือ
(2) ได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากสถาบันหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สถาบันรับรอง และได้ทำการสอนในสถาบันหรือสถานศึกษาอื่นในสังกัดกรมศิลปากรหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สถาบันรับรอง หรือมีประสบการณ์ในด้านการบริหารมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปี หรือเคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสถาบันหรือในสภาสถาบันอุดมศึกษาอื่นมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปี
มาตรา 18 อธิการมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(1) บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับของทางราชการและของสถาบัน รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของสถาบัน
(2) ควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ และข้อบังคับของสถาบัน
(3) เป็นผู้แทนของสถาบันในกิจการทั่วไป
(4) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการของสถาบันเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสถาบัน
(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบและข้อบังคับของสถาบัน หรือตามที่คณะกรรมการสถาบันมอบหมาย
มาตรา 19 ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองอธิการเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองอธิการหลายคน ให้รองอธิการที่อธิการมอบหมายเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าอธิการมิได้มอบหมาย ให้รองอธิการ
ที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้รักษาราชการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการ หรือไม่มีผู้รักษาราชการแทนอธิการตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานกรรมการสถาบันแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 17 เป็นผู้รักษาราชการแทน
ให้ผู้รักษาราชการแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอธิการ และในกรณีที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่
อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนนั้นทำหน้าที่กรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอธิการในระหว่างที่รักษาราชการแทนด้วย
มาตรา 20 ในคณะหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้มีคณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของคณะหรือหน่วยงานนั้น และจะให้มี
รองคณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะคนหนึ่งหรือหลายคนตามจำนวนที่คณะกรรมการสถาบันกำหนดเพื่อช่วยปฏิบัติงานตามที่คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะมอบหมายก็ได้
ในกรณีที่มีการแบ่งภาควิชาในคณะ หรือแบ่งหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา ให้มีหัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของภาควิชาหรือหน่วยงานนั้น และจะให้มีรองหัวหน้าภาควิชาหรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาคนหนึ่งหรือหลายคนตามจำนวนที่คณะกรรมการสถาบันกำหนดเพื่อช่วยปฏิบัติงานตามที่หัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชามอบหมายก็ได้
คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา รองหัวหน้าภาควิชา หัวหน้าหน่วยงานและรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา ให้คณะกรรมการสถาบันแต่งตั้งจากคณาจารย์ประจำของสถาบันโดย
คำแนะนำของอธิการ
มาตรา 21 คณบดี หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาให้มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
เมื่อคณบดี หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาพ้นจากตำแหน่ง ให้รองคณบดี รองหัวหน้าภาควิชาหรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา

พ้นจากตำแหน่งด้วย
มาตรา 22 คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าและรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาต้องได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากสถาบันหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สถาบันรับรอง และได้ทำการสอนหรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารในสถาบันหรือสถานศึกษาอื่นในสังกัดกรมศิลปากรหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สถาบันรับรอง มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี
มาตรา 23 วิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นอธิการ คณบดีหัวหน้าภาควิชา และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา 24 ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการ รองอธิการ ผู้ช่วยอธิการคณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา รองหัวหน้าภาควิชา หัวหน้าและรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาจะดำรงตำแหน่ง
ดังกล่าวเกินหนึ่งตำแหน่งในขณะเดียวกันมิได้
ผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งอยู่หนึ่งตำแหน่งแล้ว จะรักษาราชการแทนตำแหน่งอื่นอีกหนึ่งตำแหน่งก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือน

หมวด 3
คณาจารย์
——–

มาตรา 25 คณาจารย์ประจำซึ่งสอนระดับปริญญาตรีในสถาบันมีตำแหน่งทางวิชาการดังนี้
(1) ศาสตราจารย์
(2) รองศาสตราจารย์
(3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์
(4) อาจารย์
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้ง และถอดถอนคณาจารย์ประจำตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู
มาตรา 26 ศาสตราจารย์พิเศษนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นอาจารย์พิเศษในสาขาวิชาที่ผู้นั้นมีความชำนาญเป็นพิเศษ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถาบัน
คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน
มาตรา 27 คณะกรรมการสถาบันอาจแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม และมิได้เป็นคณาจารย์ประจำของสถาบันเป็นรองศาตราจารย์พิเศษผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษได้
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งรองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน
มาตรา 28 ศาสตราจารย์ซึ่งมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ และพ้นจากตำแหน่งไปโดยไม่มีความผิด คณะกรรมการสถาบันอาจแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในสาขาวิชาที่ศาสตราจารย์นั้นมีความเชี่ยวชาญได้
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน มาตรา 29 ให้ผู้เป็นศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ มีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าว เป็น

คำนำหน้านามเพื่อแสดงวิทยฐานะได้ตลอดไป
การใช้คำนำหน้านามตามความในวรรคหนึ่ง ให้ใช้อักษรย่อดังนี้
ศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ ศ.
ศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ศ. (พิเศษ)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ใช้อักษรย่อ ศ. (เกียรติคุณ)
รองศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ รศ.
รองศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ รศ. (พิเศษ)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ ผศ.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ผศ. (พิเศษ)

หมวด 4
ปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ
——–

มาตรา 30 สถาบันมีอำนาจให้ปริญญาตรีในสาขาวิชาที่มีการสอนในสถาบันได้

ปริญญาในสาขาวิชาใดจะเรียกชื่ออย่างไร และจะใช้อักษรย่อสำหรับสาขาวิชานั้นอย่างไร ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 31 คณะกรรมการสถาบันอาจออกข้อบังคับให้ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งหรือปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสองได้
มาตรา 32 คณะกรรมการสถาบันอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรอย่างหนึ่งอย่างใดในสาขาวิชาที่มีการสอนในสถาบันได้ดังนี้
(1) อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขาวิชาหนึ่งสาขาวิชาใดก่อนถึงขั้นได้รับปริญญาตรี
(2) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะวิชา
มาตรา 33 สถาบันมีอำนาจให้ปริญญาตรีกิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งคณะกรรมการสถาบันเห็นว่าทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญานั้น แต่จะให้ปริญญาดังกล่าวแก่คณาจารย์ประจำของสถาบัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในสถาบัน
หรือคณะกรรมการสถาบันในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้นมิได้
สาขาของปริญญาและหลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน
มาตรา 34 คณะกรรมการสถาบันอาจกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะหรือเข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้รับปริญญา อนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรและอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่งกรรมการสถาบัน ครุยประจำตำแหน่งผู้บริหาร หรือครุยประจำตำแหน่งคณาจารย์ของสถาบันได้
การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะเข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง จะใช้ในโอกาสใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใดให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน
มาตรา 35 คณะกรรมการสถาบันอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีเครื่องหมายของสถาบัน เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายของนักศึกษาได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด 5
บทกำหนดโทษ
——–

มาตรา 36 ผู้ใดใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องหมายของสถาบัน เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายของนักศึกษา โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีตำแหน่ง
ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรของสถาบัน โดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้ หรือมีตำแหน่ง หรือมีวิทยฐานะเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล
——–

มาตรา 37 ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันตามมาตรา 11 ให้คณะกรรมการสถาบันประกอบด้วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการสถาบัน อธิบดีกรมศิลปากรเป็นรองประธานกรรมการสถาบัน
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการ

ข้าราชการครู ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัยผู้อำนวยการสถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันศิลปกรรมเป็นกรรมการสถาบัน และรองอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสถาบันผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปและผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลปเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการสถาบัน ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

———————————————————-
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นสมควรส่งเสริมการศึกษาวิชาการ วิชาชีพและวิชาชีพพิเศษ ด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ดุริยางคศิลป์ทั้งไทยและสากลและศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมการผลิตบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็นช่างศิลปกรรม ศิลปินอาชีพ ครูศิลปะ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์ พัฒนา สืบทอด และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ในการนี้สมควรให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

(1) รก.2541/79ก/13/2 พฤศจิกายน 2541