ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2528

เป็นปีที่ 40 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528

มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2507

(2) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511

(3) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2518

(4) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2519

(5) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2523

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย

กรรมการ หมายความว่า กรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย

ผู้ว่าการ หมายความว่า ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย

รองผู้ว่าการ หมายความว่า รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย

พนักงาน หมายความว่า พนักงานของการกีฬาแห่งประเทศไทย และหมายความรวมถึงผู้ว่าการและรองผู้ว่าการด้วย

ลูกจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างของการกีฬาแห่งประเทศไทย

มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด 1

การจัดตั้ง ทุน และทุนสำรอง

––––––––––

มาตรา 6 ให้จัดตั้งองค์การขึ้นเรียกว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า กกท. และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า SPORTS AUTHORITY OF THAILAND เรียกโดยย่อว่า SAT และให้มีตราเครื่องหมายของ กกท.

รูปลักษณะตราเครื่องหมายตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง

มาตรา 7 ให้ กกท. เป็นนิติบุคคล มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง และจะจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่การตั้งสำนักงานสาขาภายนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

มาตรา 8 กกท. มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) ส่งเสริมการกีฬา

(2) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานเกี่ยวกับการกีฬา

(3) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำโครงการ แผนงาน และสถิติเกี่ยวกับการส่งเสริมการกีฬา รวมทั้งประเมินผล

(4) จัด ช่วยเหลือ แนะนำ และร่วมมือในการจัดและดำเนินการการกีฬา

(5) สำรวจ จัดสร้าง และบูรณะสถานที่สำหรับการกีฬา

(6) ติดต่อร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกราชอาณาจักร

(7) สอดส่องและควบคุมการดำเนินกิจการการกีฬา

(8) ประกอบกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬา

มาตรา 9 ให้ กกท. มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 8 และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(1) ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง ทำการแลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(2) กู้หรือยืมเงิน ภายในและภายนอกราชอาณาจักร

(3) ให้กู้หรือให้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ กกท.

มาตรา 10 ทุนของ กกท. ประกอบด้วย

(1) เงินและทรัพย์สินที่โอนมาตามมาตรา 66 เมื่อได้หักหนี้สินออกแล้ว

(2) เงินที่ได้จากงบประมาณแผ่นดินให้เป็นทุนหรือเพื่อดำเนินงาน

(3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(4) เงินรายได้ตามมาตรา 37

มาตรา 11 กกท. อาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(1) รายได้จากทรัพย์สินของ กกท.

(2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

(3) รายได้จากการจัดการแข่งขันกีฬา

(4) รายได้อื่น

มาตรา 12 เงินสำรองของ กกท. ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อการไถ่ถอนหนี้ และเงินสำรองอื่น ๆ ตามความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

เงินสำรองธรรมดาจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยมติของคณะกรรมการ

มาตรา 13 ทรัพย์สินของ กกท. ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

หมวด 2
คณะกรรมการและผู้ว่าการ

––––––––

มาตรา 14 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้แทน อธิบดีกรมพลศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณหรือผู้แทน ผู้แทนคณะกรรมการกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย และบุคคลอื่นอีกไม่เกินสิบคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และผู้ว่าการเป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา 15 กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจด้วย

มาตรา 16 กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

ในกรณีที่กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

มาตรา 17 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 16 กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) คณะรัฐมนตรีให้ออก

(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(5) ขาดการประชุมคณะกรรมการเกินสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(6) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตาม มาตรา 15

มาตรา 18 เพื่อประโยชน์แห่งกิจการของ กกท. ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดของ กกท. แล้วรายงานต่อคณะกรรมการ

มาตรา 19 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กกท. อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(1) ออกข้อบังคับหรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา 8 และมาตรา 9

(2) ออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ

(3) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานของ กกท. และออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานต่าง ๆ ของ กกท.

(4) ออกข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานของผู้ว่าการ และการมอบให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการ

(5) ออกข้อบังคับกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่น ๆ ของพนักงานและลูกจ้าง

(6) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง การถอดถอน ระเบียบวินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์การลงโทษพนักงานและลูกจ้าง

(7) ออกระเบียบว่าด้วยการร้องทุกข์ของพนักงานและลูกจ้าง

(8) ออกข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างและครอบครัว โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

(9) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยงเดินทางค่าเช่าที่พัก ค่าทำงานล่วงเวลา เบี้ยประชุม และการจ่ายเงินอื่น ๆ

(10) ออกระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานและลูกจ้าง

มาตรา 20 ในข้อบังคับหรือระเบียบตามมาตรา 19 ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจของผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้ประกาศข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 21 ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ว่าการและรองผู้ว่าการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 22 ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการต้อง

(1) ไม่มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับ กกท. ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

(2) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

มาตรา 23 ผู้ว่าการหรือรองผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) คณะกรรมการให้ออก

(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(5) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 22

มติของคณะกรรมการให้ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการออกจากตำแหน่งตาม (3) ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่งนอกจากผู้ว่าการ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะ

รัฐมนตรี

มาตรา 24 ผู้ว่าการมีหน้าที่บริหารกิจการของ กกท. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของ กกท. และตามนโยบาย ข้อบังคับ และระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดกับมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง

ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของ กกท.

มาตรา 25 ผู้ว่าการมีอำนาจ

(1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้างลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่งตามข้อบังคับหรือระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างชั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

(2) กำหนดเงื่อนไขในการทำงานของพนักงานและลูกจ้าง และออกระเบียบการปฏิบัติงานของ กกท. โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 26 ให้รองผู้ว่าการมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่งรองจากผู้ว่าการ และมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของ กกท. ตามที่ผู้ว่าการมอบหมาย

มาตรา 27 ในกรณีที่ผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการว่างลงและยังมิได้แต่งตั้งผู้ว่าการ ให้รองผู้ว่าการรักษาการแทนผู้ว่าการ ถ้าไม่มีรองผู้ว่าการหรือรองผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการ

ในการปฏิบัติหน้าที่ของรองผู้ว่าการหรือรักษาการแทนผู้ว่าการตามวรรคหนึ่ง ให้รองผู้ว่าการหรือผู้รักษาการแทนผู้ว่าการมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ว่าการ เว้นแต่อำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าการในฐานะกรรมการ

มาตรา 28 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้แทนของ กกท. และเพื่อการนี้ ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

นิติกรรมที่ผู้ว่าการกระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบตามมาตรา 20 ย่อมไม่ผูกพัน กกท. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

มาตรา 29 ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หมวด 3

คณะกรรมการกีฬาจังหวัด

–––––––

มาตรา 30 ในแต่ละจังหวัด ให้มีคณะกรรมการกีฬาจังหวัดเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือกิจการของ กกท.

มาตรา 31 คณะกรรมการกีฬาจังหวัดประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนกรมพลศึกษา ผู้แทน กกท. และบุคคลอื่นซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งอีกไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคนเป็นกรรมการ ศึกษาธิการจังหวัดเป็นกรรมการและเลขา

นุการ และผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินห้าคนเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการกีฬาจังหวัดได้

มาตรา 32 คณะกรรมการกีฬาจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ส่งเสริมกีฬาในจังหวัด

(2) เสนอแนะโครงการส่งเสริมการกีฬาในจังหวัดต่อ กกท.

(3) ร่วมมือกับ กกท. ในการดำเนินการจัดแข่งขันกีฬา

(4) ปฏิบัติการอื่นตามที่ กกท. มอบหมาย

(5) ออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

มาตรา 33 กรรมการซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และให้นำมาตรา 16 และมาตรา 17 มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการกีฬาจังหวัดโดยอนุโลม

หมวด 4

การร้องทุกข์ และการสงเคราะห์

––––––––––

มาตรา 34 พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 35 ให้ กกท. จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างและครอบครัวในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ตาย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์

การจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นตามวรรคหนึ่ง การออกเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ การกำหนดประเภทของผู้ซึ่งพึงได้รับการสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ การจ่ายเงินสงเคราะห์ และการจัดการกองทุนสงเคราะห์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด 5
การเงิน การบัญชี และการตรวจสอบ

–––––––

มาตรา 36 กกท. ต้องทำงบประมาณประจำปี โดยให้แยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

มาตรา 37 รายได้ที่ กกท. ได้รับจากการดำเนินงานในปีหนึ่ง ๆ ให้ตกเป็นของ กกท. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงานค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา เงินสำรองตามมาตรา 12 และเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นตามมาตรา 35 แล้ว เหลือเท่าใดให้สะสมไว้เป็นเงินสำหรับใช้จ่ายต่อไป

มาตรา 38 กกท. ต้องเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธนาคารอื่นตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด

มาตรา 39 กกท. ต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีสมุดบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงินสินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร ตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ และให้มีผู้สอบบัญชีภายใน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการทำการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำทุกเดือน

มาตรา 40 กกท. ต้องจัดทำงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนส่งผู้สอบบัญชี ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

มาตรา 41 ทุกปีให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของ กกท.

มาตรา 42 ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชี และเอกสารหลักฐานของ กกท. เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของ กกท.

มาตรา 43 ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลการสอบบัญชีและการเงินเสนอต่อคณะกรรมการภายในหนึ่งร้อยหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีเพื่อคณะกรรมการเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

มาตรา 44 ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของ กกท. ในปีที่ล่วงมา พร้อมทั้งคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการ และแผนงานที่จะจัดทำในปีถัดไป

ให้ กกท. โฆษณารายงานประจำปีที่สิ้นไป โดยแสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว รวมทั้งรายงานสรุปผลงานในปีที่ล่วงมา ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของ กกท.

หมวด 6
การกำกับและควบคุม

–––––––––

มาตรา 45 ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กกท. เพื่อการนี้จะสั่งให้ กกท. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำของ กกท.ที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการได้

มาตรา 46 ในกรณีที่ กกท. ต้องเสนอเรื่องใด ๆ ไปยังคณะรัฐมนตรี ให้ กกท.นำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีหรือ

รัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี

มาตรา 47 กกท. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการดังต่อไปนี้ได้

(1) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินมีจำนวนเกินคราวละห้าล้านบาท

(2) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อันมีราคาเกินหนึ่งล้านบาท

(3) จำหน่ายทรัพย์สินอันมีราคาเกินหนึ่งล้านบาทจากบัญชีเป็นสูญ

หมวด 7
การส่งเสริมการกีฬา

––––––

มาตรา 48 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการกีฬา คณะกรรมการมีอำนาจให้ทุนหรือทรัพย์สินช่วยเหลือแก่คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬา หรือนิติบุคคลอื่นเพื่อใช้ในการส่งเสริมกิจการการกีฬาของคณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬา หรือนิติบุคคลนั้นได้ ในการนี้คณะกรรมการจะกำหนดเงื่อนไขในการให้ไว้ด้วยก็ได้

กรณีเห็นเป็นการสมควร คณะกรรมการอาจจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของ

นักกีฬา บุคคลในวงการกีฬาก็ได้หลักเกณฑ์การพิจารณา การกำหนดประเภทของผู้ซึ่งพึงได้รับการสงเคราะห์ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 49 สมาคมกีฬาใดประสงค์จะรับทุนหรือทรัพย์สินช่วยเหลือตามมาตรา 48 ให้ยื่นคำขอต่อ กกท. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่คณะกรรมการกำหนด พร้อมด้วยโครงการการกีฬาที่ขอรับการช่วยเหลือ

มาตรา 50 ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรให้ทุนหรือทรัพย์สินช่วยเหลือแก่สมาคมกีฬาใดแล้ว คณะกรรมการจะกำหนดเงื่อนไขให้สมาคมกีฬานั้นต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

มาตรา 51 นอกจากการให้ทุนหรือทรัพย์สินช่วยเหลือแก่สมาคมกีฬาแล้ว คณะกรรมการอาจให้สมาคมกีฬาได้รับสิทธิหรือประโยชน์เกี่ยวกับการส่งเสริมการกีฬาอย่างใดด้วยก็ได้

มาตรา 52 ในกรณีที่สมาคมกีฬาที่ได้รับทุนหรือทรัพย์สินช่วยเหลือ หรือได้รับสิทธิหรือประโยชน์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 50 ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนการช่วยเหลือ รวมทั้งสิทธิหรือประโยชน์ที่ได้ให้แก่สมาคมกีฬานั้นทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้

ถ้าคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า การที่สมาคมกีฬาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนั้น มิได้เป็นการกระทำโดยจงใจ คณะกรรมการจะเตือนเป็นหนังสือให้สมาคมกีฬานั้นแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องเสียภายในเวลาที่กำหนดให้ก็ได้ และเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สมาคมกีฬานั้นมิได้แก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องก็ให้คณะกรรมการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

หมวด 8
การควบคุมการกีฬา

–––––––

มาตรา 53 สมาคมใดซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการกีฬาหรือการส่งเสริมการกีฬาโดยตรง ต้องได้รับอนุญาตจาก กกท. จึงจะดำเนินการจัดตั้งตามกฎหมายได้

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 54 สมาคมที่ได้รับอนุญาตจาก กกท. ตามมาตรา 53 ต้องอยู่ในความควบคุมของ กกท. และต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่ กกท. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

มาตรา 55 ให้ กกท. มีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตที่ให้ไว้แก่สมาคมตามมาตรา 53 ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อสมาคมนั้นปฏิบัติการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 59

(2) เมื่อสมาคมนั้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่ กกท. กำหนดตามมาตรา 54 หรือการกระทำของสมาคมผิดต่อกฎหมาย

(3) เมื่อสมาคมนั้นให้หรือยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการ ดำเนินกิจการในหน้าที่ของกรรมการ หรือให้หรือยอมให้บุคคลซึ่งขาดคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการตามมาตรา 56 มาตรา 57 หรือมาตรา 58 เป็นกรรมการ

สมาคมที่ถูกเพิกถอนการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องเลิกและหยุดดำเนินการทันที

มาตรา 56 ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งกรรมการของสมาคมที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 53 เกินกว่าสองแห่งมิได้ สำหรับตำแหน่งนายกสมาคมหรือเลขาธิการสมาคม หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่านายกสมาคมหรือเลขาธิการสมาคม ให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินหนึ่งแห่ง

มาตรา 57(1) กรรมการของสมาคมที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 53 ให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

การดำรงตำแหน่งกรรมการของสมาคมเกินสองวาระติดต่อกันจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกรรมการผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการของสมาคมต่อไปด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม แต่ทั้งนี้กรรมการผู้นั้นจะดำรงตำแหน่งกรรมการของสมาคมติดต่อกันเกินสี่วาระมิได้

ความในวรรคสองมิให้ใช้บังคับสำหรับกรณีที่กรรมการของสมาคมดำรงตำแหน่งในสมาคมหรือองค์กรกีฬาระหว่างประเทศที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้ตราบเท่าที่ยังดำรงตำแหน่งในสมาคมหรือองค์กรกีฬาระหว่างประเทศดังกล่าว

มาตรา 58 กรรมการของสมาคมที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 53 ไม่ว่าข้อบังคับจะกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามประการอื่นไว้อีกหรือไม่ก็ตาม ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) มีคุณวุฒิหรือประสบการณ์เหมาะสมกับการดำเนินกิจการเกี่ยวกับกีฬาหรือการส่งเสริมกีฬาภายในขอบวัตถุประสงค์ของสมาคมนั้น

(2) ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(3) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(4) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

มาตรา 59 ห้ามมิให้คณะบุคคลหรือบุคคลใดใช้คำว่า แห่งประเทศไทย หรือมีอักษรหรือเครื่องหมายใด แสดงว่าเป็นสมาคม สโมสร หรือคณะบุคคล ซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬาในนามของชาติหรือประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กกท.

ห้ามมิให้คณะบุคคลหรือบุคคลใดเข้าร่วมการแข่งขันหรือส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา หรือจัดหรือร่วมในการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาโดยแสดงว่าเป็นการแข่งขันกีฬาหรือจัดการแข่งขันกีฬาในนามของชาติหรือประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กกท.

การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 60 ในกรณีที่ กกท. มีคำสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 59 คณะบุคคลหรือบุคคลดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ กกท.มีคำสั่ง

หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นอุทธรณ์ และวิธีพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

หมวด 9
บทกำหนดโทษ

––––––––

มาตรา 61 ผู้ใดโฆษณา ชี้ชวน หรือจัดการให้คณะบุคคลหรือบุคคลใดเข้าเป็นสมาชิก หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการดำรงอยู่ของสมาคมใดซึ่งยังมิได้รับอนุญาตจาก กกท. ตามมาตรา 53 หรือซึ่ง กกท.ได้เพิกถอนการอนุญาตที่ให้ไว้ตามมาตรา 53 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 62 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 59 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 63 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

บทเฉพาะกาล

––––––––––

มาตรา 64 สมาคมใดซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการกีฬาหรือการส่งเสริมการกีฬาโดยตรง ที่ตั้งและดำรงอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ขอรับอนุญาตให้ถูกต้องตามมาตรา 53 ภายในเก้าสิบวัน

นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 65 คณะบุคคลหรือบุคคลใดซึ่งใช้คำว่า แห่งประเทศไทย หรือมีอักษรหรือเครื่องหมายใด แสดงว่าเป็นสมาคม สโมสรหรือคณะบุคคล ซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬาในนามของชาติหรือประเทศไทยอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ขอรับอนุญาตให้ถูกต้องตามมาตรา 59 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้

ใช้บังคับ

มาตรา 66 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ตลอดจนงบประมาณขององค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2507 ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเป็นของ กกท.

มาตรา 67 ให้ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และบรรดาพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2507 ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ และพนักงาน หรือลูกจ้างของ กกท. แล้วแต่กรณี โดยให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิมกับให้ถือว่าเวลาการทำงานของบุคคลดังกล่าวในองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นเวลาทำงานใน กกท. นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 68 ให้คณะกรรมการองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2507 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งอย่างช้าต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 69 บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งขององค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่

พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร

รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อจัดตั้งการกีฬาแห่งประเทศไทยขึ้นแทนองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย และให้การกีฬาแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการกีฬาและควบคุมการดำเนินกิจการกีฬาได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สมควรยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยและตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นใช้บังคับแทน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 บัญญัติให้กรรมการสมาคมกีฬามีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน ทำให้ผู้มีความรู้ความชำนาญงานในด้านการกีฬาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้ต่อเนื่องติดต่อกันได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาในอันที่จะให้เกิดประโยชน์แก่สมาคมกีฬา สมควรแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการของสมาคมกีฬาเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

[รก.2534/144/3พ/16 สิงหาคม 2534]

(1) รก.2528/149/1/17 ตุลาคม 2528

(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534