ค้นในที่รโหฐานเมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้า

ก่อนค้นบ้านที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แก่เจ้าของบ้านซึ่งเป็นมารดาของจำเลย และได้รับความยินยอมแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ขู่เข็ญหรือหลอกลวง ให้เจ้าของบ้านให้ความยินยอมในการค้นแต่ประการใด แม้การค้นดังกล่าวจะทำโดยไม่มีหมายค้นที่ออกโดยศาล ก็หาได้เป็นการค้นที่มิชอบแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับก่อนทำการค้น เจ้าพนักงานตำรวจเห็นจำเลยโยนสิ่งของออกไปนอกหน้าต่าง เมื่อตรวจสอบดูพบว่าเป็นเมทแอมเฟตามีน จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง อันเป็นความผิดซึ่งหน้าและได้กระทำลงในที่รโหฐาน เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้ โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1), 92 (2) (ฎ 1164/2546) Average:

ที่แจ้งความเพื่อให้ได้เงินคืน ไม่ต้องการให้จำเลยรับโทษทางอาญา

เจ้าอาวาสเจ้าของโรงเรียนมอบอำนาจให้ผู้มีชื่อไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทุจริตยักยอกเงินของโรงเรียน เป็นการร้องทุกข์โดยถูกต้องแล้ว เจ้าอาวาสเบิกความต่อศาลว่า ที่ให้ไปแจ้งความก็เพื่อให้ได้เงินคืน ไม่ต้องการให้จำเลยรับโทษทางอาญา ไม่ทำให้การแจ้งความร้องทุกข์ที่ได้กระทำไว้แล้วโดยชอบเสียไป และไม่ใช่ถอนคำร้องทุกข์ด้วย (ฎ 3091-3092/2523)

เจ้าหน้าที่ศาลปิดหมายโดยศาลไม่ได้สั่ง

ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดหมาย การที่เจ้าหน้าที่ของศาลนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปส่งให้จำเลยและทนายจำเลยโดยวิธีปิดหมายจึงไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยและทนายจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปในวันนัดจึงถือไม่ได้ว่าได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังโดยชอบ ศาลฎีกาเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เฉพาะในส่วนที่อ่านให้จำเลยฟัง และให้ศาลชั้นต้นนัดจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใหม่ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 (ฎ 154/2550)

กู้เงินแล้วมอบสมุดธนาคารไว้เป็นประกัน ต่อมาไปแจ้งความว่าหาย

จำเลยแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจอันเป็นเจ้าพนักงานว่าจำเลยทำสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์ และบัตร เอ.ที.เอ็ม ที่ธนาคารออกให้แก่จำเลยสูญหายไป ก็เพื่อประสงค์จะให้เจ้าพนักงานออกหลักฐานเพื่อจะนำไปเป็นหลักฐานขอสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์ และบัตร เอ.ที.เอ็ม.ใหม่จากธนาคารเท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง แม้ความจริงจำเลยมิได้ทำสูญหาย หากแต่จำเลยได้มอบสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม.ดังกล่าวให้ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินก็ตาม และการแจ้งความดังกล่าวจำเลยมิได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะบังคับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมจากสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตรเอ.ที.เอ็ม.ดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 (ฎ 6858/2541)

อุทธรณ์คำสั่งกำหนดวันอ่านคำพิพากษา

การที่ศาลจะพิพากษาคดี หรืออ่านคำพิพากษาเมื่อใดเป็นดุลพินิจของศาลภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 เมื่อศาลสั่งนัดอ่านคำพิพากษาวันเวลาใด คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน โจทก์จะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนั้นโดยมิได้อุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาอันเป็นประเด็นสำคัญด้วยหาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 (ฎ 2379/2522)

ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของเดิม

มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯบัญญัติว่า การเช่านาย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์นาที่เช่า ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านา บทบัญญัติดังกล่าวและในมาตราอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่มีการยกเว้นไว้ว่า การรับโอนในกรณีใดที่จะให้การโอนเป็นผลให้การเช่านาตามพระราชบัญญัตินี้ระงับไป การที่โจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยซื้อได้จากการขายทอดตลาด ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นที่จะไม่ต้องรับภาระผูกพันที่มีเหนือทรัพย์นั้น กรณีต้องถือว่าโจทก์รับโอนที่พิพาทมาจากเจ้าของเดิมที่เป็นผู้ให้จำเลยทั้งสองเช่า โจทก์จึงต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของเดิม ขณะโจทก์ฟ้องสิทธิการเช่าของจำเลยทั้งสองยังไม่สิ้นสุด โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง (ฎ 6275/2534)

แม้ศาลยกฟ้องคดีอาญา ศาลก็สั่งให้จำเลยคืนทรัพย์ได้

ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ กับขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายด้วยนั้น แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา แต่เมื่อคำขอส่วนแพ่งเป็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้อำนาจของพนักงานอัยการที่จะว่ากล่าวเกี่ยวกับคำขอส่วนแพ่งยังคงมีต่อไป ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายได้ (ฎ 1039/2516 ป.)

ลูกจ้างยักยอกเงินของตัวแทนบริษัท

แม้หนังสือแต่งตั้งตัวแทนจะมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัท ส. ก็ตาม ก็เป็นเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์และบริษัท ส. เท่านั้น ซึ่งบริษัท ส. ไม่เคยโต้แย้งปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่ตัวแทนของตนแต่อย่างใด ทั้งยังยอมรับการกระทำของโจทก์โดยออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามที่โจทก์แจ้งต่อบริษัท ส. โจทก์จึงเป็นตัวแทนโดยชอบของบริษัท ส. เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวไว้จากผู้เอาประกันภัย จึงมิใช่เป็นการรับไว้ในฐานะตัวแทนของผู้เอาประกันภัย หากแต่เป็นการรับไว้แทนโจทก์ เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ การที่จำเลยเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเองอันแสดงถึงเจตนาทุจริต ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบริษัท ส. โดยอาจจะต้องถูกบังคับให้ชดใช้จากหลักประกันที่โจทก์วางไว้ต่อบริษัท ส. โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลย ย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 28(2) (ฎ 8201/2544)

คำสั่งจำหน่ายคดีอาญาชั่วคราว เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รอการไต่สวนมูลฟ้องไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลที่สุดของคดีแพ่งของศาลชั้นต้น และให้จำหน่ายคดีชั่วคราว โดยได้สั่งไว้ด้วยว่าเมื่อคดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้วให้โจทก์แถลงต่อศาลเพื่อยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปภายใน 1 เดือน นับแต่คดีถึงที่สุด คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่เป็นคำสั่งจำหน่ายคดีโดยเด็ดขาด เพียงแต่เป็นคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เป็นคำสั่งที่ไม่ทำให้ประเด็นแห่งคดีเสร็จไปแต่อย่างใด จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างการพิจารณาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 (ฎ 2213/2550)